พระพิมพ์ปางมารวิชัยและปางนาคปรก ประทับสามองค์
พระพิมพ์ปางมารวิชัยและปางนาคปรก ประทับสามองค์
..
ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรในประเทศไทย) มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐ – ๙๐๐ ปีมาแล้ว เป็นพระพิมพ์ที่สร้างจากดินเผา มีขนาด กว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๗.๕ เซนติเมตร พระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เก็บรักษาไว้
..
พระพิมพ์องค์นี้ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ถึงแม้ว่าจะเห็นรายละเอียดเครื่องทรงของพระพุทธรูปไม่ชัดนักแต่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องคือ มีเครื่องประดับสวมรัดต้นแขนของพระพุทธรูป ซึ่งก็คือเครื่องประดับที่มีชื่อเรียกว่า “พาหุรัด” เป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่มักพบประดับอยู่บนพระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับบนฐานบัว ประดิษฐานภายในซุ้มเรือนแก้ว ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ส่วนพระพุทธรูปที่ประกอบอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของพระพุทธรูปองค์กลางนั้น เป็นพระพุทธรูปนาคปรก
..
สันนิษฐานว่าพระพิมพ์ดินเผานี้สร้างขึ้นตามคติเรื่องตรีกาย ของพุทธศาสนามหายาน ที่มีแนวความเชื่อว่า พระพุทธเจ้านั้นมี ๓ กาย อันได้แก่ ๑. ธรรมกาย คือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ๒. สัมโภคกาย คือ กายทิพย์หรือกายละเอียดของพระพุทธเจ้า และ ๓. นิรมาณกาย คือ กายที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนมนุษย์ทั่วไป ซึ่งบางทีเรียกว่า รูปกาย มีการพบพระพิมพ์ดินเผารูปแบบนี้ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น พบที่ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พบที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบที่วัดชุมนุมสงฆ์ (ร้าง)จังหวัดสุพรรณบุรี พบที่โบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย วัดมหาธาตุ วัดพระพายหลวง เป็นต้น
(จำนวนผู้เข้าชม 816 ครั้ง)