อู่ตะเภา เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ชัยนาท
อู่ตะเภา เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ชัยนาท
..
เมืองโบราณอู่ตะเภา ตั้งอยู่ริมลำน้ำอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมืองโบราณแห่งนี้เป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการมากว่า 50 ปี โดยการสำรวจของ นายมานิตย์ วัลลิโภดม แห่งกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2506
..
เมืองโบราณอู่ตะเภา มีอายุสมัยอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ 11-16 เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พื้นที่โดยรอบเมืองเป็นที่ราบลุ่ม จึงเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแต่โบราณ สภาพเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบนั้นอาจเพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณของเมือง หรือเพื่อเป็นการป้องกันศัตรูจากภายนอก
หรือเพื่อป้องกันน้ำหลากเข้าท่วมเมือง หรือเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ก็เป็นได้
..
ภายในเมืองโบราณอู่ตะเภา ค้นพบโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี และพบโบราณวัตถุเก่าไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย แสดงให้เห็นว่าก่อนจะมีพัฒนาการมาเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น มีการใช้งานพื้นที่บริเวณนี้มาก่อนหน้านั้นแล้วคือในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
..
กิจกรรมของผู้คนในบริเวณเมืองโบราณอู่ตะเภานี้ มีการถลุงเหล็ก และประเพณีการฝังศพมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายแล้ว สันนิษฐานจากการพบหลักฐานประเภทเตาถลุงโลหะ และขี้แร่เหล็ก (Slag) ที่หลงเหลือจากการถลุงในบริเวณเมืองโบราณอู่ตะเภา และที่มีการพบหลุมศพที่มีโครงกระดูก ภายในเมืองโบราณแห่งนี้อีกด้วย ภายหลังเมื่อพื้นที่นี้เข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี จึงพบโบราณวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีทั้งในเมืองและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเมืองโบราณแห่งนี้ ได้แก่ ตะเกียงดินเผา เหรียญเงินมีตรารูปสังข์ ศรีวัตสะ และเศษชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา เสาแปดเหลี่ยมที่มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี
..
เมืองโบราณอู่ตะเภานั้น จึงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีที่ย่านภาคกลาง ณ เมืองชัยนาท
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการกองโบราณคดี, 2534.
(จำนวนผู้เข้าชม 4767 ครั้ง)