วัดโตนดหลาย โบราณสถานที่ปรากฎเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในย่านภาคกลาง
วัดโตนดหลาย โบราณสถานที่ปรากฎเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในย่านภาคกลาง
วัดโตนดหลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท แผนผังของวัดนั้นวางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ซึ่งวิหารของวัดโตนดหลาย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงแก้วของวัดโตนดหลาย ปรากฎศาสนสถานอันประกอบไปด้วย เจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์ราย และมณฑป
โบราณสถานแห่งนี้มีความเฉพาะพิเศษ คือ มีเจดีย์อันเป็นประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรืออีกชื่อคือทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย แม้จะมีรายละเอียดของรูปแบบงานศิลปกรรมที่ต่างไปจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่พบภายในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยอยู่บ้าง แต่ก็ยังแสดงถึงแรงบันดาลใจทางศิลปะที่ถ่ายทอดถึงกันอย่างชัดเจน
ส่วนยอดเดิมของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดโตนดหลายนั้นหักหายไป ต่อมาจึงมีการบูรณะต่อเติมตามหลักการอนุรักษ์เพื่อให้เจดีย์วัดโตนดหลายมีรูปแบบที่สมบูรณ์ให้มากที่สุด
จากการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดี ณ วัดโตนดหลาย แห่งนี้ ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานบอกเล่าถึงการใช้พื้นที่บริเวณโบราณสถานแห่งนี้ในอดีต ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ ทวารวดี เพราะได้พบโบราณวัตถุประเภทหม้อก้นกลม ปากผายออก เนื้อดินผสมกรวด ทราย แกลบข้าว ผิวภาชนะมีสีเหลืองนวล ขึ้นรูปภาชนะด้วยมือ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะที่ได้จากการเผากลางแจ้ง และยังพบภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสันก้นตื้น ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ลายเส้นขนาน และลายขูดขีด โดยภาชนะรูปแบบนี้ เป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ที่บ้านคู่เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี บ้านท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี บ้านจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
นอกจากนี้ในการขุดแต่งยังพบหม้อมีพวย ที่มีลักษณะคล้ายกับหม้อมีพวยที่พบในชุมชนและเมืองโบราณสมัยทวารวดีทั่วไปเช่นกัน
ในส่วนชั้นดินด้านบนที่อยู่เหนือชั้นดินในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นชั้นดินที่ร่วมสมัยกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ได้พบเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี กับเศษภาชนะดินเผาเคลือบเขียวจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย และเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่กำหนดอายุได้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงสันนิษฐานอายุของวัดโตนดหลายนี้ไว้ได้ว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และยังแสดงถึงแรงบันดาลใจในการก่อสร้างที่มาจากทางสุโขทัย อีกด้วย
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ ๒ ครั้ง โดยครั้งแรก ได้ขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงมีการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีอีกครั้งหนึ่ง
(จำนวนผู้เข้าชม 2472 ครั้ง)