วัดสองพี่น้อง
วัดสองพี่น้อง
ตั้งอยู่ที่ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ไม่ปรากฏข้อมูลที่ระบุช่วงเวลาการสร้างที่แน่ชัด แต่มีตำนานท้องถิ่น กล่าวว่าวัดนี้สร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุจากเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยาและเจ้าสามพระยา เป็นพี่น้องแย่งชิงราชสมบัติกัน เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ เจ้าสามพระยาจึงได้ครองเมือง และสร้างปรางค์ถวายแก่เจ้าอ้ายพระยา และสร้างเจดีย์ถวายเจ้ายี่พระยา ตำนานนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าพื้นบ้านสืบต่อกันมาเท่านั้น ไม่มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ยืนยันแต่อย่างใด
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบกำหนดอายุการสร้างวัดนี้ในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่วัด รวมทั้งการสร้างอาคารและส่วนประกอบอื่นๆ เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ วัดจึงถูกทิ้งร้างไป และมีการกลับมาใช้พื้นที่วัดใหม่อีกครั้งในสมัยปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับวัดนี้ไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี พ.ศ. ๒๔๔๔ ว่า
“...วัดสองพี่น้องนั้นเห็นจะไม่ใช่สองคนพี่น้องสร้าง เปนวัดสองวัดติดกัน และเห็นกำแพงเหลื่อมกันอยู่...”
และ “... วัดสองพี่น้องนั้นมีพระปรางค์เขมรยังดีอยู่ไม่ทลาย ในห้องปรางค์มีพระพุทธรูปซึ่งชำรุดตอนล่าง องค์หนึ่งตอนบนดี หน้าตาเปนพระชั้นนครไชยศรี บางทีจะชำรุดมาเก่าแล้วจึงเอาขึ้นไปซ่อนไว้เสียบนพระปรางค์ ตอนล่างก็เห็นจะก่อประกอบ ได้ให้ค้นดูหนักไม่พบๆ แต่พระชงฆ์ ๒ ข่างเปน พระแปลกดีมาก รูปนี้ไม่เคยเห็นใหญ่ถึงเท่านั้น ได้ให้ส่งไปกรุงเทพฯ อาการกิริยาที่สร้างวัดนี้เหมือนเมืองลพบุรีทุกอย่าง คือมีพระเจดีย์รูปต่างๆ รายรอบ ๒ รอบ แลพระปรางค์เฟืองตามมุม เป็นต้น วัดสองพี่น้องนั้นเห็นจะไม่ใช่สองพี่น้องสร้าง เปนวัดสองวัดติดกัน และกำแพงเหลื่อมกันอยู่ วัดเหล่านี้ไม่เก่าเหมือนวันพระมหาธาตุทั้งนั้น...”
ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ได้แก่ ปรางค์เป็นประธาน ซึ่งมีเรือนธาตุที่ประดับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นภายในซุ้ม มีระเบียบคดล้อมรอบปรางค์ และมีการประดิษฐานพระพุทธรูปตามแนวระเบียงคด ส่วนวิหารนั้นที่เหลือเพียงชั้นฐาน และยังมีเจดีย์ที่มีเรือนธาตุแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะเจดีย์ที่พบได้เมืองสรรคบุรี
จากรูปทรงขององค์ปรางค์ในวัดสองพี่น้องนี้แสดงถึงอิทธิพลปรางค์ที่พบในแถบเมืองลพบุรี ซึ่งส่งผ่านวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร และลวดลายปูนปั้นที่ประดับองค์ปรางค์ประธาน แสดงรูปแบบศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างอิทธิพลศิลปะสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น อันอาจกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดสองพี่น้องในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
โบราณวัตถุที่ได้จากงานขุดแต่งและบูรณะวัดสองพี่น้อง จะถูกคัดเลือกเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง โบราณวัตถุที่ได้จากงานโบราณคดีในเขตจังหวัดชัยนาท ณ พิพิภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เร็วๆ นี้ รอติดตามกันด้วยนะคะ
(จำนวนผู้เข้าชม 4690 ครั้ง)