โบราณสถานนอกเมืองโบราณสุโขทัยด้านใต้
ประตูนะโม
      เป็นประตูหลักของเมืองโบราณสุโขทัยทางด้านใต้ มีลักษณะทั่วไปเช่นเดียวกับประตูเมืองด้านอื่นๆ คือตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางกำแพง
ด้านใต้ และมีป้อมดินที่สร้างยื่นออกไปจากแนวกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยม หลักฐานเรื่องกำแพงเมืองสุโขทัยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลัก
ที่ ๑ ว่า "…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง… " และ… "รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา…"
      ลักษณะกำแพงเมืองสุโขทัยเป็นกำแพงสามชั้น สองชั้นนอกเป็นคันดินสลับกับคูน้ำ กำแพงชั้นในมีแกนเป็นคันดินบางส่วนก่อหุ้ม
ด้วยศิลาแลงและอิฐ ประโยชน์ของกำแพงเมืองคือใช้บอกขอบเขตของเมือง ป้องกันข้าศึก และคูน้ำใช้เป็นทางระบายน้ำไม่ให้
ท่วมเมือง เนื่องจากพื้นที่ลาดเอียงจึงเป็นทำเลที่ดีและมีการใช้เทคนิควิทยาการที่เหมาะสม คือใช้คันดินบังคับน้ำให้พ้นตัวเมือง
     การขุดค้นทางโบราณคดีระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๒๔ - ๒๕๒๕ พบว่าการสร้างกำแพงเมืองทั้งสามชั้นนั้น คงสร้างในระยะสมัยที่
แตกต่างกัน คือครั้งแรกมีกำแพงเมืองกับคูน้ำชั้นในเพียงชั้นเดียว



วัดก้อนแลง
     ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโดยห่างจากประตูนะโมประมาณ ๖๐ เมตร เป็นวัดเล็กๆ และไม่มีหลักฐานการสร้างวัด ลักษณะโบราณสถานเหลือฐานเจดีย์ประธานซึ่งเป็นฐานสูงแบบฐานเขียงของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม(ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) มีวิหารและเจดีย์
รายก่อด้วยอิฐ



วัดต้นจันทร์
     อยู่ห่างจากวัดก้อนแลงไปทางใต้ประมาณ ๒๐๐ เมตร วัดนี้แม้ไม่มีประวัติการสร้างวัดแต่ได้ค้นพบพระพิมพ์ดินเผาที่เรียกว่า
เสน่ห์จันทน์ ซึ่งเป็นพระพิมพ์(พระเครื่อง) ที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ มีคูหาหรือซุ้มประดิษฐาน
พระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ส่วนยอดเหลือแต่องค์ระฆังเท่านั้น ด้านตะวันออกของเจดีย์มีวิหารก่ออิฐ มีเสาศิลาแลงรองรับหลังคา
มุงกระเบื้อง



วัดเชตุพน
     วัดโบราณแห่งนี้ มีสิ่งสำคัญคือมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ องค์พระพุทธรูป
ปั้นด้วยปูนแกนอิฐโดยรอบ ผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา อันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมือง
พุกาม ทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุขนี้มี มณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็ก มีหลังคาก่อซ้อนกันเป็นเสาและใช้หินชนวนขนาดใหญ่
ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยแต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีลายเขียนสีดำ แสดงลักษณะ
แบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน เป็นลายพรรณพฤกษา
      วัดเชตุพนยังมีสิ่งที่น่าดูอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำแพงแก้วที่ล้อมมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการ
สกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้
      ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยใด ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ว่าเมื่อพระมหา
เถรธรรมไตรโลกฯ มีศักดิ์เป็นน้าของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสรศักดิ์ได้ร่วมชุมนุมกับ
พระวัดเชตุพนพิจารณาการสร้างเจดีย์ช้างรอบและศาสนสถานอื่นๆ ที่วัดสรศักดิ์ จากข้อความที่ระบุชื่อวัดเชตุพนในศิลาจารึกหลักนี้
ประกอบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของที่นี่แสดงให้เห็นว่าวัดเชตุพนคงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองในช่วงสุโขทัยตอนปลาย
      นอกจากนี้ยังได้พบศิลาจารึกที่วัดเชตุพน กล่าวถึงเจ้าธรรมรังษีซึ่งบวชได้ ๒๒ พรรษา มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้นใน
พุทธศักราช ๒๐๕๗


วัดเจดีย์สี่ห้อง
     ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน นอกจากวิหาร เจดีย์ประธานและเจดีย์รายต่างๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญของวัดคือ ที่ฐานเจดีย์
องค์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุคคล ทั้งบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ กัน ในมือถือ
ภาชนะมีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ภาชนะนี้เรียกว่าปูรณฆฎะ (หม้อน้ำแห่ง
ความอุดมสมบูรณ์) นอกนั้นก็มีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับ รูปบุคคลที่กล่าวนี้อาจหมายถึงมนุษยนาคซึ่งถือว่าเป็นเทพอยู่ในโลก
บาดาลตามแบบอย่างคติที่นิยมในลังกา
      องค์เจดีย์ประธานที่ได้รับการบูรณะมาแล้วหลายสมัย เป็นทรงระฆัง ส่วนยอดของเจดีย์หักพังลงคงปรากฏส่วนปล้องไฉนตกอย
ู่ที่ฐานเจดีย์






วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
      วัดนี้ชาวบ้านเรียกแต่เดิมว่าวัดตาเถรขึงหนัง ต่อมาได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้ปรากฏชื่อเรียกว่า วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างขึ้น
ในพุทธศักราช ๑๙๔๖ โดยพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงแม่ ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชา
ธิราชเจ้า(ที่ ๒) และเป็นพระราชมารดาของพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าที่ ๓ (ไสลือไท) เจ้าเมืองสุโขทัย ได้โปรดให้นิมนต์พระเถระ
ชั้นผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดแห่งนี้
      วัดแห่งนี้ ล้อมรอบด้วยคูน้ำเช่นเดียวกับวัดทั่วไปในสุโขทัย รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด ได้เปลี่ยน
แปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มีฐานเตี้ย แต่เจดีย์วัดศรีพิจิตรฯ ตั้งอยู่บนฐานสูง มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วย
ฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงส่วนเรือนธาตุที่เป็นทรงระฆัง ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบ "อัฒจันทร์" คือลายบนพื้นเป็นรูป
พระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา


วัดวิหารทอง
     อยู่ใกล้กับคลองยาง (ซึ่งไหลมาจากเขาหลวงผ่านถ้ำแม่ย่าลงมาที่ฝายโบราณสรีดภงส์ ๒ ที่บ้านมนต์คีรี) ที่ตั้งวัดห่างจากประตู
นะโมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) เป็นเจดีย์ประธาน แต่ปัจจุบันส่วน
เรือนธาตุถึงยอดเจดีย์ได้หักพังลงแล้ว จากตำแหน่งที่ตั้ง สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นวัดทักษิณารามตามปรากฏนามในศิลาจารึกวัด
อโสการาม ที่กล่าวว่า พระมหาเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระชายาพระมหาธรรมราชาธิราช ที่ ๒ ทรงสร้างถวายแก่พระมหาวันรัตนเถร
ในปีพุทธศักราช ๑๙๔๒




วัดอโสการาม
      ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดสลัดได อยู่นอกเมืองโบราณห่างจากประตูนะโมไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวัดที่พบศิลาจารึกกล่าวว่า
สร้างเมื่อ พุทธศักราช ๑๙๔๒ โดยพระมหาเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราช(ที่ ๒) ผู้เป็นโอรสของ
พระมหาธรรมราชา (ที่ ๑) ลิไท ในคราวเดียวกับที่ก่อสร้างวัดทักษิณาราม เมื่อสร้างวัดอโสการามเสร็จแล้วได้นิมนต์สรภังคเถร
ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัด รูปแบบของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) เช่นเดียวกัน ปัจจุบันส่วนยอดหักพังลงแล้ว
      นอกจากนี้ก็มี วิหาร มณฑป เจดีย์ราย สร้างอยู่ภายในบริเวณคูน้ำล้อมรอบตามที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกด้วย



 
วัดโพรงเม่น
     อยู่ตรงกับมุมกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้พอดี และอยู่ทางตะวันออกของวัดวิหารทอง วัดนี้ไม่มีประวัติการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังที่มีฐานแปดเหลี่ยม โดยเป็นฐานเขียงเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ อยู่ในผังแปดเหลี่ยม ส่วนเหนือองค์ระฆังกลมขึ้นไปชำรุดหมด





วัดมุมลังกา
      ตั้งอยู่ทางตะวันออกของถนนพระร่วง (ในปัจจุบันถนนพระร่วงช่วงนี้ถูกลาดยางทับบนแนวถนนเดิม) ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติ
การสร้าง เนื่องจากมีฐานเจดีย์ใหญ่ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเจดีย์ทรงระฆัง นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจเป็น วัดลังการาม ตามที่ปรากฏชื่อ
ในจารึกวัดอโสการาม ที่กล่าวว่าสร้างขึ้นประมาณ พุทธศักราช ๑๙๔๒
      เจดีย์ประธานเหลือแต่ฐาน มีวิหารอยู่ด้านตะวันออกของเจดีย์ และเจดีย์รายรอบบริเวณนั้น ที่น่าสังเกตคือมีอุโบสถตั้งอยู่ในทิศ
ตะวันตกขององค์เจดีย์ อันเป็นการวางผังที่พบในการสร้างวัดของกรุงศรีอยุธยา


(จำนวนผู้เข้าชม 1996 ครั้ง)