วัดราชโอรสาราม ตั้งอยู่ ณ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดจอมทอง” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะมีพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหาร เรียกว่า พระอู่ทอง เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เดือน ๑๑ ปีมะโรง (เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๖๓) โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ เนื่องจากมีข่าวว่าพม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีไทย พระองค์ทรงคุมพลหนึ่งหมื่น เสด็จยาตราทัพออกจากกรุงเทพฯ ทางเรือ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง โดยเส้นทางยาตราทัพในวันแรกได้ผ่านคลองบางกอกใหญ่เข้าคลองด่าน  เมื่อมาถึงวัดจอมทองซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองด่าน ได้เสด็จหยุดทัพประทับแรมที่ หน้าวัดจอมทองและทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม กับได้ทรงอธิษฐานให้ไปราชการสงครามประสบผลสำเร็จและเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ  จนเมื่อย่างเข้าหน้าฝนในพ.ศ. ๒๓๖๔ ไม่ปรากฏว่าพม่าจะยกทัพมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เลิกทัพกลับสู่พระนคร ครั้นเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว จึงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นเหมือนสร้างวัดใหม่ เหตุผลอีกประการหนึ่งในการปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง คงเนื่องมาจากเพราะบริเวณบางขุนเทียนนั้น เดิมเป็นนิวาสถานข้างพระญาติฝ่ายพระบรมราชชนนี (เจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระศรีสุลาลัย) ตลอดเวลาที่มีการปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง พระองค์ได้เสด็จมาประทับทรงคุมงาน และตรวจการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เมื่อการปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงถวายวัดจอมทองเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดราชโอรสาราม” หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา

          โบราณวัตถุสถานสำคัญ
          วัดราชโอรสาราม แบ่งเขตของวัดเป็นเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส โดยเขตพุทธาวาสอยู่ตรงกลางมีเขตสังฆาวาสขนาบทั้งด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลัง ด้านหน้าของวัดหันสู่ทิศตะวันออก คือหันออกสู่ริมคลองด่าน ทิศเหนือติดกับคลองบางหว้า (ซึ่งเชื่อมคลองด่านกับคลองภาษีเจริญ) ด้านทิศใต้เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ของวัด  ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ดินของประชาชน
          ๑. พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้นับได้ว่าเป็นต้นแบบศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้องวางผังในแนวตรงตัดกับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งตั้งขวางอยู่แต่พระอุโบสถมีขนาดย่อมกว่า ทุกด้านมีพาไลล้อมรับด้วยเสาเพื่อเป็นระเบียงรอบ มีมุขหน้า-หลังและทางเข้า หลังคาโครงสร้างเครื่องไม้ซ้อน ๒ ซ้อน และแต่ละซ้อนมี ๒ ตับ และตับที่ ๓ เป็นปีกนก หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดเคลือบสี เครื่องประดับหลังคาเป็นลวดลายกระบวนจีน ใต้มุมหน้าบันและมุมแผงแรคอสองประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบรูปปลามังกรทั้ง ๔ มุม หน้าบันพระอุโบสถเป็นงานก่ออิฐถือปูน ลวดลายบนหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบทั้งใบ และการนำเศษกระเบื้องเคลือบทุบแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำมาประดับตามคติจีน คือ ลวดลายตอนบนเป็นเครื่องตั้งบูชา ตรงกลางเป็นแจกัน ประดับด้วยดอกเบญจมาศ ด้านข้างทั้งสองเป็นรูปมังกรและหงส์หันหน้าเข้าหาแจกัน มีหงส์ข้างละ ๑ คู่ หันหน้าเข้าหาแจกันเช่นกัน ที่ส่วนบนของหน้าบันมีรูปกระเช้าดอกไม้ห้อยย้อยลงมา ในกระเช้ามีผลไม้มงคล เช่น ผลท้อ ทับทิม ส้มมือ น้ำเต้า กระบี่ ม้วนหนังสือ และผีเสื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ แทรกรูปก้อนเมฆและดอกไม้ในช่องว่าง ลวดลายหน้าบันตอนล่าง (แผงแรคอสอง) เป็นภาพทิวทัศน์ เช่น ภูเขา ลำธาร ต้นไม้ บ้านเรือน ไก่ นก วัว ควาย กิเลน กวาง และรูปบุคคลในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น คนขี่ควายและกิเลน นอกจากนี้ยังมีภาพสิงโตคู่หันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเป็นรูปบ้านเรือนและผู้คน มีการประดับด้วยแจกัน กระถางต้นไม้ และดอกไม้ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๓.๑๐ เมตร สูง ๔.๕๐ เมตร และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร” พร้อมกับทรงโปรดเกล้าให้นำพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาบรรจุไว้บริเวณผ้าทิพย์บริเวณฐานชุกชีลงรักปิดทองประดับกระจกมีแผ่นโลหะรูปปราสาทซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๓ ประดับอยู่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณระหว่างช่องประตูและหน้าต่างเป็นจิตรกรรมเขียนสี แสดงภาพอาคารแบบจีน ภายในเป็นเครื่องบูชาแบบจีน รวมทั้งหมด ๑๔ ห้อง ส่วนฝาผนังตอนบนตั้งแต่เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไป เป็นภาพจิตรกรรมเขียนสีรูปเครื่องตั้งแบบต่างๆ ของจีน มีการผูกลายบรรจุไว้ภายในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดไม่เท่ากัน จัดเรียงลำดับต่อเนื่องกันไปอย่างมีระเบียบตลอดฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งหมด ๒๒๔ ช่อง
          


รูปพระอุโบสถ

          ๒. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ ภายในเขตกำแพงแก้วเดียวกัน แต่ตัวพระวิหารมีพระระเบียงคดล้อมรอบเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะการวางผังเป็นไปตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ โดยมีลักษณะตั้งฉากกับพระอุโบสถ พระวิหารมีขนาด ๙ ห้อง มีพาไลล้อมรอบ หลังคาพระวิหารเป็นโครงไม้ หลังคาซ้อน ๒ ซ้อน แต่ละซ้อนมี ๔ ตับ มีจั่วหรือหน้าบันที่ตับที่ ๑ และตับที่ ๒ ส่วนตับที่ ๓ และ ๔ เป็นปีกนกโดยรอบอาคาร หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดเคลือบสี หน้าบันเป็นงานก่ออิฐถือปูน ลวดลายตามคติความเชื่อแบบจีน โดยใช้เทคนิคปูนปั้นเขียนสี ประดับกระเบื้องเคลือบ ภายในพระวิหารมีเสารับน้ำหนักด้านสกัดด้านละ ๔ ต้น ด้านแปด้านละ ๘ ต้น  ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้น และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ถวายพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร” พระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่กลางพระวิหาร วัดความยาวจากพระบาทถึงเปลวพระรัศมีได้ ๒๐ เมตร สูง ๖ เมตร หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ประดิษฐานบนฐานชุกชี ซึ่งชั้นบนเป็นปูนปั้นลายบัวรวนกลีบยาว ประดับกระจกสี ส่วนงานจิตรกรรมที่ใช้ตกแต่งภายในพระวิหาร เพดานและคาน เขียนลายลงรักปิดทอง ดอกพุดตานแบบกระบวนจีน ประกอบลายด้วยผีเสื้อ นกและผลไม้ต่างๆ เช่น ทับทิม อันเป็นรูปสัตว์และ ผลไม้ตามคติของจีน ซึ่งแต่เดิมที่ผนังและที่เสาภายในพระวิหารมีงานจิตรกรรมตกแต่งเป็นลายดอกไม้แบบกระบวนจีน
          ๓. พระวิหารพระยืน พระวิหารพระยืนตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ เดิมคงเป็นพระอุโบสถเก่าของวัดก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์และสถาปนา บางท่านเสนอว่าอาคารอื่นๆ นอกกำแพงแก้ว เช่น ศาลาการเปรียญ พระวิหารพระยืนอาจจะได้รับการซ่อมแซมจนเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ก็เป็นอาคารในสมัยต่อมา อย่างไรก็ตาม พระวิหารพระยืนน่าจะเป็นอาคารที่มีมาแต่แรกเริ่มในการปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดราชโอรสาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔ พระวิหารพระยืน เป็นพระวิหารขนาดย่อม มีขนาด ๗ ห้อง มีแผนผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสัดส่วนและพื้นที่ของอาคารใกล้เคียงกับพระอุโบสถ
          ๔. พระวิหารพระนั่ง (ศาลาการเปรียญเดิม) พระวิหารพระนั่ง เดิมคือ ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ มีแผนผังพื้น สัดส่วนและรูปแบบการก่อสร้างเช่นเดียวกับพระวิหารพระยืน
          นอกจากนี้ ภายในวัดยังสิ่งสำคัญอันควรชม ได้แก่ พระระเบียงคดซึ่งมีจารึกตำรายา พระวิหารคด หอพระ หอระฆัง หอไตร ศาลาท่าน้ำ และเครื่องประดับศิลาจีน  

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 
          ๑. กำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒
          ๒. ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๒๐๐ ง วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗

 

(จำนวนผู้เข้าชม 23 ครั้ง)