ห้องเพลงพื้นบ้านสุพรรณ
จัดแสดงโดยใช้หุ่นจำลองประกอบสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ จำลองการเล่นเพลงพื้นบ้าน ซึ่งนิยมเล่นกันในงานรื่นเริงหรือเทศกาลต่างๆ ได้แก่ เพลงอีแซว และเพลงเรือ

เพลงพื้นบ้าน
     จัดแสดงโดยใช้หุ่นจำลองประกอบสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ จำลองการเล่นเพลงพื้นบ้าน ซึ่งนิยมเล่นกันในงานรื่นเริงหรือเทศกาลต่างๆ ได้แก่ เพลงอีแซว และเพลงเรือ โดยมีเนื้อหาของเพลงมักเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวเกษตรกรรม

     จังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ในเขตที่ราบภาคกลาง เป็นท้องทุ่งนาผืนใหญ่ ริมลำน้ำสายใหญ่ คือ แม่น้ำสุพรรณบุรี ทั้งในหน้าน้ำและหน้าแล้งชาวสุพรรณนิยมเล่นเพลงพื้นบ้าน เพื่อหย่อนใจสร้างความบันเทิง ความสามัคคีในหมู่คณะระหว่างการประกอบอาชีพ มักเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับชาวจังหวัดอื่น ๆ ของภาคกลาง เนื้อหาเพลงจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน และวิถีชีวิตริมแม่น้ำ เพลงพื้นบ้านเหล่านี้มีหลากหลายจังหวะ ทำนอง ทั้งเพลงระบำบ้านไร่ เพลงเหย่ย เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงเรือ เป็นต้น

 

     ชาวสุพรรณเป็นนักเล่นเพลงพื้นบ้านตัวยง เมืองสุพรรณจึงเป็นศูนย์กลางในงานเทศกาลใหญ่ประจำปีสองครั้ง ที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นงานชุมนุมนักเล่นเพลงแห่งท้องทุ่งภาคกลาง คืองานไหว้พระ (หลวงพ่อโต) เดือนสิบสอง วัดป่าเลไลย์ ระหว่างวันขึ้น ๗-๙ ค่ำ และงานไหว้พระเดือนห้าวัดป่าเลไลย์ ในวันขึ้น ๗-๙ ค่ำ เช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีในเหล่านักเล่นเพลงทั่วภาคกลางเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้วว่า งานไหว้พระเดือนสิบสอง วัดป่เลไลย์นี้ เป็นเวทีใหญ่สำหรับการประชันเพลงแห่งท้องทุ่ง เมื่อถึงวันงานนักเล่นเพลงจากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยพายเรือมาด เรือพาย ผู้หญิงพาย ผู้ชายถือหิ้วตะเกียงอิ๊ดด้า แจวลัดทุ่งที่เจิ่งนองด้วยน้ำในฤดูน้ำนอง มาจอดเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดประตูสาร เมื่อบริเวณนี้เป็นที่ชุมนุมเรือจึงเป็นจุดแรกของการประชันเพลงประเดิมด้วยเพลงเรือกระทั่งดึกดื่นจึงขึ้นบกเดินเท้าไปวัดป่าเลไลย์ ไหว้หลวงพ่อโต จากนั้นนักเล่นเพลงจะมาชุมนุมกันใต้ต้นโพธิ์ บริเวณลานวัดหน้าวิหารหลวงพ่อโต แขวนตะเกียงอิ๊ดดาซึ่งเป็นตะเกียงเจ้าพายุชนิดหนึ่ง พ่อเพลงจะเริ่มด้วยการขยับฉิ่งว่าเพลงเกริ่นหาแม่เพลง เมื่อได้คู่จึงตั้งวงประชันโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางกองเชียร์ที่เลือกถือหางแต่ละฝ่าย จนรุ่งสางบ้างเดินทางกลับบ้านพักค้างคืน เพื่ออยู่เที่ยวหรือเล่นเพลงต่อตลอดงาน ๓ เพลงที่นิยมเล่นในงานนี้มีทั้งเพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ และที่สำคัญคือ เพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านที่กำเนิดในเมืองสุพรรณ

 


เพลงลูกทุ่ง


     จัดแสดงผลงานของศิลปินเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย ก้าน แก้วสุพรรณ สุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศรเพชร ศรสุพรรณ สายัณห์ สัญญา พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์เป็นตู้เพลง สำหรับกดฟังผลงานเพลงศิลปินท่านต่างๆ ประกอบป้ายคำบรรยาย


     

เพลงลูกทุ่งกับเมืองสุพรรณ
     เพลงลูกทุ่ง เกิดจากการผสมผสานของดนตรีตะวันตกกับเพลงพื้นบ้าน ลักษณะเด่นคือ มีเนื้อหาและท่วงทำนองตามแบบเพลงพื้นบ้านมีสำเนียงเสียงแบบภาษาถิ่นในภูมิภาคต่างๆ แต่มีจังหวะเร็วขึ้นใช้เครื่องดนตรีหลายชิ้นรวมเป็นวงเครื่องดนตรีไฟฟ้าแบบตะวันตกย่นระยะเวลาจากที่เคยเล่นทั้งคืนเหลือเพียง ๒-๓ ชั่วโมงเมืองสุพรรณ เป็นศูนย์กลางการเล่นเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญ นักเล่นเพลงพื้นบ้านชาวสุพรรณบุรีหลายคนจึงก้าวขึ้นมาร้องเพลงลูกทุ่งด้วยมีความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้านเป็นพื้นฐาน ส่งผลให้สุพรรณบุรีมีบรรยากาศเป็นเมืองเพลงลูกทุ่ง ที่หล่อหลอมเยาวชนชาวสุพรรณให้ เติบโตขึ้นเป็นนักร้องลูกทุ่งคนสำคัญในทุกยุคสมัยต่างๆ ของพัฒนาการเพลงลูกทุ่งไทย จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่าสุพรรณบุรีเป็นแหล่งกำเนิดนักร้องเพลงลูกทุ่งและเป็นที่มาของเอกลักษณ์สำคัญของเพลงลูกทุ่ง คือ สำเนียงการร้องแบบ เสียงเหน่อเสียงพูดพื้นถิ่นแถวภาคกลาง ภาคตะวันตก ๑๓นักร้องลูกทุ่งชื่อดังชาวสุพรรณบุรีขับร้องด้วยสำเนียงเสียงเหน่อ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นเสียงเหน่อแบบคนสุพรรณ และนิยมร้องตามแบบแม้นักร้องลูกทุ่งผู้นั้นมาจากภูมิภาคอื่น
นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณบุรีที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของประเทศมีจำนวนมาก ได้แก่ ก้าน แก้วสุพรรณ, ดำ แดนสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สังข์ทอง สีใส, ศรเพชร ศรสุพรรณ, เสรี รุ่งสว่าง, สายัณห์ สัญญา, พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นต้น


(จำนวนผู้เข้าชม 4381 ครั้ง)