ห้องแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน
ในประเทศไทยพบหลักฐานการผลิตภาชนะดินเผาขึ้นใช้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีทั้งที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อประกอบพิธีกรรม

แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน

          เครื่องปั้นดินเผา แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของเนื้อดินคือ

๑.เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อดิน หรือ เอิร์ทเทนแวร์ (Earthenware) เผาด้วยไฟในอุณหภูมิ ๘๐๐ –๑๑๕๐ องศาเซลเซียส

๒.เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อหิน หรือ สโตนแวร์ (Stoneware) เผาด้วยไฟในอุณหภูมิ ๑๑๙๐ –๑๓๙๐ องศาเซลเซียส

๓.เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อกระเบื้อง หรือ พอร์สเลน (Porcelain ware) เผาด้วยไฟในอุณหภูมิ ๑๒๕๐ องศาเซลเซียสเป็นต้นไป

          ในประเทศไทยพบหลักฐานการผลิตภาชนะดินเผาขึ้นใช้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีทั้งที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่อประกอบพิธีกรรม มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งาน อาทิ ชาม หม้อ กระปุก ไห เป็นต้น โดยมีขนาดและรูปทรงรวมทั้งมีการประดับตกแต่งหลายรูปแบบ เช่น ทาน้ำดิน ลายขูดขีด ลายเชือกทาบ ลายเขียนสี ภาชนะสามขา เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับความนิยมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตของแต่ละท้องถิ่น และได้มีพัฒนาการต่อมาโดยลำดับ ภาชนะดินเผาที่พบมีทั้งที่ผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น และนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยภาชนะดินเผาแบบแรกสุดที่พบเป็นแบบเนื้อดิน หรือ เอิร์ทเทนแวร์ ส่วนแบบเคลือบนั้น มีการผลิตขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ เป็นต้นมา

          แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน เป็นแหล่งเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือราว ๗.๕ กิโลเมตร กระจายอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตกเป็นระยะทางยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ และบริเวณบ้านบางปูน บ้านโพธิ์พระยา ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

          จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบร่องรอยของเตาเผาที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาโบราณ โครงเตาเป็นเตากูบที่ก่อด้วยดินเหนียวสร้างซ้อนทับในแนวเดียวกัน จำนวน ๑๐ เตา เป็นเตาแบบระบายความร้อนขึ้น ( Crossdraft Kiln) ขนาดโดยเฉลี่ยของเตายาว ๕-๘ เมตร   กว้าง ๒-๓ เมตร ผนังด้านข้างหนาราว ๒๐ เซนติเมตร แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ห้องบรรจุเชื้อเพลิงสำหรับใส่ฟืนด้านหน้า พื้นลาดเอียงประมาณ ๑๐-๑๕ องศา, ห้องวางภาชนะ เป็นส่วนที่มีพื้นที่มากเนื่องจากต้องนำภาชนะที่ต้องการจะเผามาวาง พื้นเตาส่วนนี้ยกสูงขึ้นจากห้องบรรจุเชื้อเพลิงราว ๖๐ เซนติเมตร, ด้านในสุด เป็นปล่องสำหรับระบายควันไฟออก

          จากการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานทางด้านโบราณคดีสามารถกำหนดอายุของแหล่งเตาเผาแห่งนี้มีอายุในช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ หรือประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว    ศิลปะของลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะได้รับอิทธิพลของศิลปะทวารวดีและศิลปะลพบุรีซึ่งแหล่งผลิตภาชนะดินเผาแห่งนี้ยังคงได้ผลิตภาชนะต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

          ภาชนะที่พบที่แหล่งเตาเผาบ้านบางปูนมีทั้งประเภทเนื้อดิน แบบที่เรียกว่า เอิทเทนแวร์(Earthenware) และประเภทเนื้อหิน แบบที่เรียกว่า สโตนแวร์ (Stoneware)  โดยภาชนะประเภทเนื้อดินที่พบมีทั้งชาม, อ่าง และหม้อหรือไหก้นกลม ซึ่งมีการเคลือบน้ำดินสีแดงและเขียนลวดลายเป็นแนวเส้นขนาน  ส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งส่วนใหญ่เป็นไห จะมีตกแต่งลายบริเวณส่วนปาก คอ ก้น ไหล่  ลวดลายที่พบเป็นลายกดประทับภายในแนวเส้นขนานซ้อนกันเป็นแถว คั่นด้วยแนวลายหวี บางทีมีการประดับลายปั้นติดเป็นลายพู่ หรือลายเทพนมในแนวลายคล้ายใบโพธิ์ หรือใบเสมา ส่วนไหใบสำคัญจะประดับด้วยภาพเล่าเรื่อง เช่นภาพบุคคลคล้องช้าง หรือกำลังฝึกช้าง การล่าสัตว์ ภาพบุคคลไถนา ภาพบุคคลขี่ม้ากวัดแกว่งดาย ภาพบุคคลกำลังรบกัน ภาพลายกดประทับเป็นลายช้างเดินเรียงต่อกันเป็นแถวเป็นต้น

(จำนวนผู้เข้าชม 2262 ครั้ง)