เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๓๐ น. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๓ กิจกรรมทำความสะอาดแหล่งเรียนรู้และอาคารสำนักงานของหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร ส่วนกลาง ณ กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในส่วนกลาง เป็นตัวแทนเข้ารับมอบอุปกรณ์ เพื่อนำไปความสะอาดพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นอาคารโบราณสถานและอาคารใหม่ รวมทั้งส่วนที่ให้บริการประชาชน เพื่อร่วมกันปกป้องและสงวนรักษาแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี โดยปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๓ กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรม เนื่องจากมีสถานการณ์โรคติดต่อไวรัสโควิด-๑๙ (COVID-19) และมีการควบคุมโรคตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๕๕๘ จึงจัดกิจกรรมทำความสะอาดแหล่งเรียนรู้และอาคารสำนักงานของหน่วยงานในสังกัด ทั่วประเทศ โดยตามวัตถุประสงค์เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างตลอดมา ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย รัฐบาลและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อเพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมของชาติ สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมภาคภูมิใจหวงแหน และอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบทอดถึงอนุชนรุ่นหลังสืบไป
เครดิต. เนื้อหา/ภาพ จากเพจเฟสบุ๊คกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 903 ครั้ง)