หลวงพ่อทวารวดี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองศรีมโหสถ
บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“หลวงพ่อทวารวดี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองศรีมโหสถ”
หลวงพ่อทวารวดีหรือพระพุทธรูปปางแสดงธรรม ขุดพบในนิคมโรคเรื้อน หรือ คามิลเลียน โซเชียล เซนเตอร์ปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองโบราณศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ใกล้กับโบราณสถานหมายเลข ๒๒๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยพบร่วมกับธรรมจักรหินทรายอีกหนึ่งชิ้นด้วย
ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๖๖ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓ หน้า ๓๗๒๙
ปัจจุบันเก็บรักษาและประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนสักการะที่วิหารด้านหน้าที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ
ลักษณะของหลวงพ่อทวารวดี
หลวงพ่อทวารวดีหรือพระพุทธรูปปางแสดงธรรม เป็นพระพุทธรูปหินทราย ขนาดสูง ๒ เมตร สลักติดเป็นชิ้นเดียวกับฐานดอกบัวรูปวงกลม พระบาทและข้อพระบาทสลักเป็นนูนสูงติดกับแผ่นหลัง พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าห้อยตกลงมาเป็นวงโค้ง ส่วนชายจีวรด้านหลังเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นสันต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรปลายชี้ขึ้น พระนาสิกโต พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ พระอุษณีษะนูนเล็กน้อย พระกรทั้งสองข้างตั้งแต่ข้อศอกลงมายื่นออกมาทางด้านหน้าในระดับพระอุระ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่งอเข้าหาพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) แตะลงที่ฝ่าพระหัตถ์
วิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ ลักษณะเฉพาะของศิลปะทวารวดี
พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์ (วิตรรกมุทรา) จัดเป็นปางที่เกิดขึ้นเฉพาะและแพร่หลายอย่างมากของพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พัฒนาสืบต่อมาจากพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียตอนใต้และศิลปะลังกาและได้ดัดแปลงลักษณะบางส่วนจนมีรูปแบบของอิทธิพลพื้นเมือง สามารถแยกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. วิตรรกมุทราแบบจีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นพระพุทธรูปแสดงมุทราโดยใช้ปลายพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) แตะกับปลายพระดัชนี (นิ้วชี้) จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวง ส่วนนิ้วพระหัตถ์อื่น ๆ ชี้ขึ้น ซึ่งพบมากในกลุ่มพระพุทธรูปยืนสำริด และพบเล็กน้อยในกลุ่มพระพุทธรูปยืนหินในรุ่นแรก ๆ ของศิลปะสมัยทวารวดีตอนกลาง
๒. วิตรรกมุทราแบบงอนิ้วพระหัตถ์ เป็นพระพุทธรูปที่แสดงวิตรรกมุทราอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่งอเข้าหาพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) แตะลงที่ฝ่าพระหัตถ์ อาจจะได้รับแรงบันดาลใจและมีต้นแบบมาจากการแสดงวิตรรกมุทรา-กฏกมุทรา ในศิลปะอมราวดีตอนปลายและศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ และอาจจะมีที่มาจากเงื่อนไขและข้อจำกัดในการใช้วัสดุของงานช่าง รวมทั้งอาจเกิดขึ้นจากความนิยมในความสมมาตรของช่างในสมัยทวารวดี
หลักฐานทางพระพุทธศาสนาในเมืองศรีมโหสถ
หลักฐานเนื่องในพุทธศาสนาพบทั้งภายในตัวเมืองและภายนอกตัวเมืองศรีมโหสถ โดยพบร่วมกับหลักฐานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู แต่จะพบหนาแน่นภายนอกเมือง โดยเฉพาะกลุ่มโบราณสถานสระมรกต ทางด้านทิศใต้ของเมืองศรีมโหสถ หลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏได้แก่ พระพุทธรูปปางแสดงธรรมและธรรมจักร ที่พบในนิคมโรคเรื้อนใกล้กับโบราณสถานหมายเลข ๒๒๓ พระพุทธรูปนาคปรก พบจากโบราณสถานหมายเลข ๕ พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภา พบจากโบราณสถานหมายเลข ๑๑ และกลุ่มโบราณสถานสระมรกตที่พบทั้งพระพุทธรูปปางสมาธิ รอยพระพุทธบาทคู่ และจารึกเนินสระบัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนากับลังกาอีกด้วย
การอนุรักษ์หลวงพ่อทวารวดี
เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ วิหารประดิษฐานหลวงพ่อทวารวดีเกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้พระพุทธรูปได้รับความเสียหาย และเนื่องจากความร้อน ผิวหน้าของหินจึงเกิดการขยายตัว และเมื่อถูกละอองน้ำจากการดับเพลิง ทำให้วัตถุเย็นตัวอย่างรวดเร็ว พระพุทธรูปจึงแตกกะเทาะที่แขนทั้งสองข้างจดถึงชายผ้า มีรอยร้าวที่พระเศียร พระพักตร์ เป็นทางยาว มีรอยร้าวเล็ก ๆ ที่พร้อมจะกะเทาะด้านหลัง รวมทั้งมีคราบเขม่าและฝุ่นจับหนาบนองค์พระพุทธรูป
ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดำเนินการอนุรักษ์หลวงพ่อทวารวดี ใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์จึงแล้วเสร็จ
วิธีการและขั้นตอนในการอนุรักษ์หลวงพ่อทวารวดีประกอบไปด้วย
- รวบรวมชิ้นส่วนที่แตกกะเทาะตกกระจัดกระจาย พร้อมทั้งนำมาทำความสะอาดคราบสิ่งสกปรกออก
- บริเวณที่รอยแตกร้าวเสริมความแข็งแรงด้วยการฉีดสารละลายพาราลอยด์ B72 ที่ละลายใน Acetone เข้มข้น 1%
- ประกอบชิ้นส่วนที่กะเทาะเข้าด้วยกันด้วยกาว ในกรณีที่เป็นชิ้นส่วนเล็กส่วนชิ้นขนาดใหญ่ น้ำหนักมากจำเป็นต้องใช้แกนสแตนเลสเจาะรูเพื่อช่วยในการรับน้ำหนัก แล้วยึดชิ้นส่วนให้แน่นด้วยเชือก เพื่อป้องกันการเลื่อนออกจากตำแหน่ง
- ในกรณีที่ชิ้นส่วนไม่ครบ เติมด้วยปูนพลาสเตอร์ผสมน้ำ ลงไปบริเวณที่หายไป ตกแต่งและขัดให้เรียบ
- เติมสีบนปูนพลาสเตอร์ให้ใกล้กับสีเดิมขององค์พระ
เอกสารอ้างอิง :
- กรมศิลปากร. รายงานการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, ๒๕๓๔.
- กรมศิลปากร. รายงานการอนุรักษ์พระพุทธรูปหิน. ๒๕๓๘. (เอกสารอัดสำเนา).
- กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ. กรุงเทพฯ : ทริปเปิล บีเพลส, ๒๕๔๘.
- เชษฐ์ ติงสัญชลี. การวิเคราะห์การแสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๔.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
ผู้เรียบเรียบ: นายเพิ่มพันธ์ นนตะศรี ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 3405 ครั้ง)