ตำหนักแพ
เรื่องตำหนักแพ เป็นคำใหม่ไม่ใช่คำโบราณ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่าคำที่เรียกตำหนักแพ คือ ท่าที่ประทับเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหาอุปราช แต่ก่อนมีชื่อว่าพระฉนวนน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงหรือพระราชวังบวรฯ
ทรงกล่าวถึงพระฉนวนน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงว่ามีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีก็มีการสร้างพระฉนวนน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงที่เหนือปากคลองบางกอกใหญ่ เรียกกันว่า ตำหนักน้ำ
ครั้นเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระฉนวนน้ำพระราชวังหลวงให้เจ้าพนักงานทำแพลอยหนุนไม้ไผ่ ราษฎร เรียกกันว่า ตำหนักแพ ทรงเล่าว่าครั้งหนึ่งกรมพระราชวังในรัชกาลที่ 1 เสด็จลงมาประทับที่พระตำหนักแพลอย พร้อมด้วยพระสนมข้างใน เพื่อทอดพระเนตรกระบวนกฐินเรือในพระราชวังหลวง ครั้งนั้นเกิดลมพายุใหญ่พัดมาต้องพระตำหนักแพลอยเสาหัก ขณะนั้นพระสนมชื่อชู ทรงครรภ์ครบถ้วนทศมาสเฝ้าอยู่ในพระตำหนักแพลอยด้วย ได้ประสูตรพระกุมารองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าเพชรหึง ภายหลังรับสั่งให้เลิกถอนพระตำหนักแพลอย ก่อสร้างเป็นพระตำหนักน้ำแทน แต่ราษฎรยังคงเรียกขานกันว่า ตำหนักแพ
(จำนวนผู้เข้าชม 1116 ครั้ง)