แม่ข่า : ลำน้ำ – คู(เมือง) – คลอง และการจัดการน้ำเมืองเชียงใหม่
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
เรื่อง แม่ข่า : ลำน้ำ – คู(เมือง) – คลอง และการจัดการน้ำเมืองเชียงใหม่
เรียบเรียงโดย : นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
แม่ข่า ลำน้ำสายนี้เป็นที่รู้จักในฐานะลำน้ำที่ไหลเลาะเลียบกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก (กำแพงดิน) อดีตที่ผ่านมาน้ำแม่ข่าทรุดโทรมจากการใช้ประโยชน์ จนยากจะเชื่อว่าปัจจุบันลำน้ำสายนี้กำลังได้รับการพัฒนาจนดีขึ้นทั้งคุณภาพน้ำและพื้นที่ริมน้ำ ตัวตนของแม่ข่าถูกเข้าใจไปในหลายทาง บางคนบอกว่า แม่ข่าเป็นลำน้ำ บ้างบอกว่าเป็นคูเมือง อีกไม่น้อยบอกว่าเป็นคลอง แล้วแม่ข่าที่เรารู้จัก คืออะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาย้อนอดีตและทำความเข้าใจตัวตน ที่มาที่ไปของแม่ข่าและความหมายคุณค่าที่ลึกซึ้งที่มีต่อเมืองเชียงใหม่
เมื่อพิจารณากายภาพของลำน้ำสายนี้ พบว่าแม่ข่า เกิดจากน้ำสาขาที่ไหลจากดอยสุเทพ โดยไหลมาทั้งจากน้ำแม่สา ห้วยชะเยือง-ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่จอกหลวง-ห้วยแม่หยวก ห้วยช่างเคี่ยน-ห้วยแก้ว ไหลรวมเป็นลำน้ำแม่ข่า ไหลลงมาทางทิศใต้อ้อมเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเลาะตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอกและวกลงทางทิศใต้ไปบรรจบกับน้ำอีกสายคือ ลำคูไหว ที่ไหลเลาะตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอกที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ (สำหรับท่านที่ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่หรือไม่คุ้นเคยในกายภาพเมืองให้พยายามดูภาพแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ประกอบเพื่อความเข้าใจ) จากนั้นจึงไหลลงทางใต้ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงทางใต้ของเวียงกุมกาม (เมืองที่พญามังรายสร้างก่อนการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่)
ถ้าดูจากต้นทางที่แม่ข่าไหลมาก่อนเลาะเลียบริมกำแพงเมืองชั้นนอก แม่ข่าน่าจะเป็นลำน้ำ แต่ถ้าดูจากการที่แม่ข่าไหลเลาะเลียบกำแพงเมืองชั้นนอก แม่ข่าคือคูเมืองชั้นนอก (การสร้างกำแพงเมือง คูน้ำและคันดินกำแพงเมืองเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีคู่กัน เมื่อขุดคูเป็นแนวเขต ดินที่ได้จากการขุดจะถูกนำมากองเป็นคันยาวไปตามแนวคู) และความเข้าใจในปัจจุบัน แม่ข่าส่วนที่ผ่านเมือง ถูกใช้ประโยชน์เป็นคลอง ที่หลายส่วนมีการดาดคอนกรีต
เพื่อความเข้าใจ เราจะย้อนไปดูที่เอกสารประวัติศาสตร์กันก่อน
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีเนื้อความกล่าวถึง แม่ข่า 2 ตอนสำคัญ
ในสมัยพญามังราย ก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีเนื้อหากล่าวถึงชัยมงคล 7 ประการ ในการสร้างเมืองเชียงใหม่ และแม่ข่าก็ปรากฏอยู่ใน ชัยมงคลที่ 5
กล่าวคือ มีลำน้ำที่ไหลจากดอยสุเทพ โดยไหลขึ้นทางทิศเหนือ แล้ววกไปทางตะวันออก แล้วไหลลงใต้ จากนั้นจึงไหลไปทางตะวันออกเกี้ยวเวียงกุมกาม
จากเนื้อความนี้ แสดงให้เห็นว่า แม่ข่ามีสถานะเป็นลำน้ำตลอดทั้งสายตั้งแต่ต้นน้ำจากดอยสุเทพจนไหลอ้อมมาทางตะวันออก และไหลลงทางใต้และไหลไปทางตะวันตกเล็กน้อยอ้อมเวียงกุมกาม
และการกล่าวถึงแม่ข่าอีกครั้งหนึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้เราทราบว่า ลำน้ำสายนี้ นอกจากรู้จักกันในนามแม่ข่าแล้ว ยังถูกเรียกขานอีกชื่อว่า “แม่โท”
เนื้อความกล่าวถึง นางจีมคำ อัครมเหสีของพญากือนา ไปเวียงกุมกาม โดยการจะไปถึงเวียง กุมกามนั้นต้องข้ามน้ำแม่โท เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าลำน้ำแม่โทนั้นก็คือสายน้ำเดียวกับลำน้ำแม่ข่าที่ไหลลงมาทางใต้เมืองเชียงใหม่และไหลผ่านเวียงกุมกามทางตะวันตก ดังนั้นจึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่และหลังจากสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในระยะแรก น้ำแม่ข่า หรือแม่โทนี้ มีสถานะเป็นลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิง และไหลเป็นคู่ขนานกันไป
ทั้งนี้หลักฐานที่ช่วยคลี่ให้เห็นพัฒนาการของลำน้ำแม่ข่านี้ชัดเจนขึ้น คือ แผนที่ผังเมืองเชียงใหม่ และภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ ที่ถ่ายใน พ.ศ.2497
แผนที่ผังเมืองเชียงใหม่ ที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 แสดงให้เห็นแนวเส้นเชื่อมต่อระหว่างเวียงสวนดอกกับลำคูไหวทางตะวันตก และยังเห็นแนวเส้นอีกแนวที่เฉียงออกไปจากมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดสวนดอก เมื่อเรานำภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ พ.ศ.2497 มาพิจารณาเพิ่ม ก็จะเห็นภาพกว้างและพบบริบทที่มีนัยยะสำคัญมากขึ้น คือ แนวเส้นนั้นไปเชื่อมต่อกับแนวเส้นที่วางตัวในแนวเหนือใต้ที่อยู่เฉียงขึ้นไปอีก ที่สำคัญคือ แนวเส้นดังกล่าวนี้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคันดินรูปสี่เหลี่ยมที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คันดินที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันคือ คันดินที่สันนิษฐานว่าเป็นสันอ่างเก็บน้ำโบราณ ที่ตั้งอยู่ติดรั้วด้านทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเหลืออยู่สองจุด คือคันดินด้านตะวันตก ด้านหลังอาคารสนามกีฬาในร่ม และคันดินด้านตะวันออกที่อยู่ใกล้รั้วด้านตะวันออกของมหาวิทยาลัยโดยขนานไปกับแนวรั้ว อ่างเก็บน้ำโบราณนี้ทำหน้าที่เสมือนแก้มลิงที่รับน้ำที่หลากลงมาจากดอยสุเทพ อ่างเก็บน้ำนี้มีคันบังคับน้ำให้น้ำเลี่ยงออกไปทางทิศใต้ ไม่เข้าปะทะเมืองเชียงใหม่โดยตรง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ ที่ประกอบในแผนที่แสดงพระราชอาณาเขตสยามและหัวเมืองประเทศราช พ.ศ.2443 แสดงให้เห็นว่าคันดินนี้เชื่อมต่อกับคูเวียงสวนดอกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ดังนั้นทางน้ำที่ต่อเนื่องจากคูเวียงสวนดอกทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ไปที่ลำคูไหว ที่ปรากฏในแผนที่โบราณ จึงอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบการจัดการน้ำที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จากทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นดอยสุเทพ ถ่ายเทสู่พื้นที่แก้มลิงรับน้ำคืออ่างเก็บน้ำโบราณในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นจึงถ่ายเทน้ำ ออกไป 2 ส่วน โดยส่วนแรกเข้าคูเมืองสวนดอก และถ่ายลงสู่คูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันตก (ปัจจุบันคือลำคูไหว) และอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะถ่ายเทเบี่ยงออกจากเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ผ่านคูเวียงสวนดอก ระบบน้ำดังกล่าวทำให้เกิดการจัดการน้ำที่หลากจากดอยสุเทพมาชะลอและกักเก็บ และเลี่ยงการที่น้ำจะหลากเข้าปะทะเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมรอบเมืองโดยตรง
คำถามต่อมาคือ ระบบการจัดการน้ำนี้ควรเกิดขึ้นเมื่อใด คำตอบที่พอจะวิเคราะห์ได้ในเบื้องต้น คือ ระบบการจัดการน้ำเหล่านี้ควรเกิดขึ้นหลังการสร้างเวียงและวัดสวนดอก ในสมัยพญากือนา ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เนื่องจากระบบการจัดการน้ำเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนที่มาเชื่อมต่อกับคูเวียงสวนดอก ผลจากการขุดศึกษาบริเวณป้อมหายยาที่ตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองชั้นนอกด้านตะวันตกเฉียงใต้ในปี 2546 พบว่าใต้ชั้นคันดินกำแพงเมืองชั้นนอกเป็นชั้นดินที่พบภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ จากแหล่งเตาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 จากข้อมูลนี้สรุปได้ว่าพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองชั้นนอก เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 มาก่อนจากนั้นจึงมีการสร้างคูและกำแพงเมืองชั้นนอกขึ้นภายหลัง จึงแปลความได้ว่า ลำคูไหวที่เกิดขึ้นทางทิศตะวันตก เป็นลำน้ำที่เกิดจากการขุดลอกพื้นที่ชุมชนชานเมืองทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นคูและกำแพงเมือง
ทั้งนี้ถ้าหากเจาะจงระยะเวลาลงไปอีกนิด ช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างมากคือ สมัยพระเมืองแก้ว ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เนื่องจากปรากฏหลักฐานกล่าวถึงการสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ในสมัยนี้ รวมถึงปรากฏเนื้อความในโคลงนิราศหริภุญชัยที่น่าจะแต่งขึ้นใน พ.ศ.2061 ที่เนื้อความกล่าวถึงการเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปเมืองลำพูนโดยผ่านกำแพงเมืองถึงสองชั้น
ย้อนกลับมาที่คำถามว่า หากกำแพงเมืองชั้นนอกและการปรับเปลี่ยนลำน้ำแม่ข่าให้เป็นคูเมืองชั้นนอกรวมถึงการขุดคูเมืองชั้นนอกทางทิศใต้และทิศตะวันตก(ลำคูไหว) ในห้วงเวลาดังกล่าว อะไรคือเหตุผลของการสร้าง
เมื่อพิจารณากำแพงเมืองชั้นนอกนี้มิได้โอบรอบกำแพงเมืองชั้นในครบทุกด้าน และถ้าพิจารณาลักษณะทางจากกายภาพจะพบว่า กำแพงเมืองชั้นนอกมีจุดเริ่มต้นที่มุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือโดยบรรจบกับแจ่งศรีภูมิ และโอบรอบเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยววกมาทางใต้บรรจบกับมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากายภาพของกำแพงเมืองชั้นนอกมีการวางตัวที่สอดรับกับความโค้งของลำน้ำปิงที่ตวัดเข้ามาใกล้เมืองเชียงใหม่ จึงพอจะเห็นเค้าลางว่า คูและกำแพงเมืองชั้นนอกทางด้านตะวันออก คือคันกันน้ำที่เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่และระบบการถ่ายเทน้ำจากพื้นที่ด้านเหนือของเมือง
เมื่อประกอบร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของเมืองเชียงใหม่เข้าด้วยกัน จึงสรุปได้ว่า ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีการสร้างระบบการจัดการน้ำครั้งใหญ่ของเมือง ทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นคูคลองและคันดิน ระบบการจัดการน้ำนี้ดำเนินการโดยทำการประยุกต์ลำน้ำแม่ข่าที่เป็นทางน้ำธรรมชาติช่วงที่เลาะเลียบเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นคูเมืองชั้นนอกและกำแพงเมือง เพื่อจัดการน้ำด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และทำการขุดคูขึ้นใหม่และสร้างกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกและใต้รวมถึงแนวทางน้ำที่เชื่อมกับคูเวียงสวนดอกรวมถึงอ่างเก็บน้ำโบราณ(แก้มลิงโบราณ)และคันบังคับน้ำ เพื่อจัดการน้ำด้านทิศตะวันตกของเมือง คือ น้ำป่าจากดอยสุเทพ
จากร่องรอยหลักฐานที่ได้เรียบเรียงและนำมาบอกเล่าทุกท่านในวันนี้ คงพอจะทำให้ทุกท่านเข้าใจพัฒนาการของน้ำแม่ข่า ที่มิได้มีคุณค่าและความหมายเฉพาะเพียงสายน้ำนี้ แต่ยังยึดโยงไปถึงทางน้ำและระบบการจัดการน้ำในส่วนอื่นๆ รวมถึงมองเห็นภาพความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของธรรมชาติและการออกแบบสร้างสรรค์ของบรรพชนล้านนา กลายเป็นหลักฐานประจักษ์พยานที่ยิ่งใหญ่ที่บ่งบอกคุณค่าและความหมายทั้งการเป็นปัจจัยทางธรรมชาติอันเป็นมงคลเมือง การป้องกันยามศึกสงคราม และการบริหารจัดการน้ำ ที่ยากจะมีที่ใดเหมือน
เรื่อง แม่ข่า : ลำน้ำ – คู(เมือง) – คลอง และการจัดการน้ำเมืองเชียงใหม่
เรียบเรียงโดย : นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
แม่ข่า ลำน้ำสายนี้เป็นที่รู้จักในฐานะลำน้ำที่ไหลเลาะเลียบกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก (กำแพงดิน) อดีตที่ผ่านมาน้ำแม่ข่าทรุดโทรมจากการใช้ประโยชน์ จนยากจะเชื่อว่าปัจจุบันลำน้ำสายนี้กำลังได้รับการพัฒนาจนดีขึ้นทั้งคุณภาพน้ำและพื้นที่ริมน้ำ ตัวตนของแม่ข่าถูกเข้าใจไปในหลายทาง บางคนบอกว่า แม่ข่าเป็นลำน้ำ บ้างบอกว่าเป็นคูเมือง อีกไม่น้อยบอกว่าเป็นคลอง แล้วแม่ข่าที่เรารู้จัก คืออะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาย้อนอดีตและทำความเข้าใจตัวตน ที่มาที่ไปของแม่ข่าและความหมายคุณค่าที่ลึกซึ้งที่มีต่อเมืองเชียงใหม่
เมื่อพิจารณากายภาพของลำน้ำสายนี้ พบว่าแม่ข่า เกิดจากน้ำสาขาที่ไหลจากดอยสุเทพ โดยไหลมาทั้งจากน้ำแม่สา ห้วยชะเยือง-ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่จอกหลวง-ห้วยแม่หยวก ห้วยช่างเคี่ยน-ห้วยแก้ว ไหลรวมเป็นลำน้ำแม่ข่า ไหลลงมาทางทิศใต้อ้อมเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเลาะตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอกและวกลงทางทิศใต้ไปบรรจบกับน้ำอีกสายคือ ลำคูไหว ที่ไหลเลาะตามแนวกำแพงเมืองชั้นนอกที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ (สำหรับท่านที่ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่หรือไม่คุ้นเคยในกายภาพเมืองให้พยายามดูภาพแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ประกอบเพื่อความเข้าใจ) จากนั้นจึงไหลลงทางใต้ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงทางใต้ของเวียงกุมกาม (เมืองที่พญามังรายสร้างก่อนการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่)
ถ้าดูจากต้นทางที่แม่ข่าไหลมาก่อนเลาะเลียบริมกำแพงเมืองชั้นนอก แม่ข่าน่าจะเป็นลำน้ำ แต่ถ้าดูจากการที่แม่ข่าไหลเลาะเลียบกำแพงเมืองชั้นนอก แม่ข่าคือคูเมืองชั้นนอก (การสร้างกำแพงเมือง คูน้ำและคันดินกำแพงเมืองเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีคู่กัน เมื่อขุดคูเป็นแนวเขต ดินที่ได้จากการขุดจะถูกนำมากองเป็นคันยาวไปตามแนวคู) และความเข้าใจในปัจจุบัน แม่ข่าส่วนที่ผ่านเมือง ถูกใช้ประโยชน์เป็นคลอง ที่หลายส่วนมีการดาดคอนกรีต
เพื่อความเข้าใจ เราจะย้อนไปดูที่เอกสารประวัติศาสตร์กันก่อน
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีเนื้อความกล่าวถึง แม่ข่า 2 ตอนสำคัญ
ในสมัยพญามังราย ก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีเนื้อหากล่าวถึงชัยมงคล 7 ประการ ในการสร้างเมืองเชียงใหม่ และแม่ข่าก็ปรากฏอยู่ใน ชัยมงคลที่ 5
กล่าวคือ มีลำน้ำที่ไหลจากดอยสุเทพ โดยไหลขึ้นทางทิศเหนือ แล้ววกไปทางตะวันออก แล้วไหลลงใต้ จากนั้นจึงไหลไปทางตะวันออกเกี้ยวเวียงกุมกาม
จากเนื้อความนี้ แสดงให้เห็นว่า แม่ข่ามีสถานะเป็นลำน้ำตลอดทั้งสายตั้งแต่ต้นน้ำจากดอยสุเทพจนไหลอ้อมมาทางตะวันออก และไหลลงทางใต้และไหลไปทางตะวันตกเล็กน้อยอ้อมเวียงกุมกาม
และการกล่าวถึงแม่ข่าอีกครั้งหนึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้เราทราบว่า ลำน้ำสายนี้ นอกจากรู้จักกันในนามแม่ข่าแล้ว ยังถูกเรียกขานอีกชื่อว่า “แม่โท”
เนื้อความกล่าวถึง นางจีมคำ อัครมเหสีของพญากือนา ไปเวียงกุมกาม โดยการจะไปถึงเวียง กุมกามนั้นต้องข้ามน้ำแม่โท เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าลำน้ำแม่โทนั้นก็คือสายน้ำเดียวกับลำน้ำแม่ข่าที่ไหลลงมาทางใต้เมืองเชียงใหม่และไหลผ่านเวียงกุมกามทางตะวันตก ดังนั้นจึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่และหลังจากสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในระยะแรก น้ำแม่ข่า หรือแม่โทนี้ มีสถานะเป็นลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำปิง และไหลเป็นคู่ขนานกันไป
ทั้งนี้หลักฐานที่ช่วยคลี่ให้เห็นพัฒนาการของลำน้ำแม่ข่านี้ชัดเจนขึ้น คือ แผนที่ผังเมืองเชียงใหม่ และภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ ที่ถ่ายใน พ.ศ.2497
แผนที่ผังเมืองเชียงใหม่ ที่จัดทำขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 แสดงให้เห็นแนวเส้นเชื่อมต่อระหว่างเวียงสวนดอกกับลำคูไหวทางตะวันตก และยังเห็นแนวเส้นอีกแนวที่เฉียงออกไปจากมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดสวนดอก เมื่อเรานำภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ พ.ศ.2497 มาพิจารณาเพิ่ม ก็จะเห็นภาพกว้างและพบบริบทที่มีนัยยะสำคัญมากขึ้น คือ แนวเส้นนั้นไปเชื่อมต่อกับแนวเส้นที่วางตัวในแนวเหนือใต้ที่อยู่เฉียงขึ้นไปอีก ที่สำคัญคือ แนวเส้นดังกล่าวนี้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของคันดินรูปสี่เหลี่ยมที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คันดินที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันคือ คันดินที่สันนิษฐานว่าเป็นสันอ่างเก็บน้ำโบราณ ที่ตั้งอยู่ติดรั้วด้านทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเหลืออยู่สองจุด คือคันดินด้านตะวันตก ด้านหลังอาคารสนามกีฬาในร่ม และคันดินด้านตะวันออกที่อยู่ใกล้รั้วด้านตะวันออกของมหาวิทยาลัยโดยขนานไปกับแนวรั้ว อ่างเก็บน้ำโบราณนี้ทำหน้าที่เสมือนแก้มลิงที่รับน้ำที่หลากลงมาจากดอยสุเทพ อ่างเก็บน้ำนี้มีคันบังคับน้ำให้น้ำเลี่ยงออกไปทางทิศใต้ ไม่เข้าปะทะเมืองเชียงใหม่โดยตรง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ ที่ประกอบในแผนที่แสดงพระราชอาณาเขตสยามและหัวเมืองประเทศราช พ.ศ.2443 แสดงให้เห็นว่าคันดินนี้เชื่อมต่อกับคูเวียงสวนดอกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ดังนั้นทางน้ำที่ต่อเนื่องจากคูเวียงสวนดอกทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ไปที่ลำคูไหว ที่ปรากฏในแผนที่โบราณ จึงอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบการจัดการน้ำที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จากทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นดอยสุเทพ ถ่ายเทสู่พื้นที่แก้มลิงรับน้ำคืออ่างเก็บน้ำโบราณในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นจึงถ่ายเทน้ำ ออกไป 2 ส่วน โดยส่วนแรกเข้าคูเมืองสวนดอก และถ่ายลงสู่คูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันตก (ปัจจุบันคือลำคูไหว) และอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะถ่ายเทเบี่ยงออกจากเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ผ่านคูเวียงสวนดอก ระบบน้ำดังกล่าวทำให้เกิดการจัดการน้ำที่หลากจากดอยสุเทพมาชะลอและกักเก็บ และเลี่ยงการที่น้ำจะหลากเข้าปะทะเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมรอบเมืองโดยตรง
คำถามต่อมาคือ ระบบการจัดการน้ำนี้ควรเกิดขึ้นเมื่อใด คำตอบที่พอจะวิเคราะห์ได้ในเบื้องต้น คือ ระบบการจัดการน้ำเหล่านี้ควรเกิดขึ้นหลังการสร้างเวียงและวัดสวนดอก ในสมัยพญากือนา ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เนื่องจากระบบการจัดการน้ำเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนที่มาเชื่อมต่อกับคูเวียงสวนดอก ผลจากการขุดศึกษาบริเวณป้อมหายยาที่ตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองชั้นนอกด้านตะวันตกเฉียงใต้ในปี 2546 พบว่าใต้ชั้นคันดินกำแพงเมืองชั้นนอกเป็นชั้นดินที่พบภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ จากแหล่งเตาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 จากข้อมูลนี้สรุปได้ว่าพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองชั้นนอก เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 มาก่อนจากนั้นจึงมีการสร้างคูและกำแพงเมืองชั้นนอกขึ้นภายหลัง จึงแปลความได้ว่า ลำคูไหวที่เกิดขึ้นทางทิศตะวันตก เป็นลำน้ำที่เกิดจากการขุดลอกพื้นที่ชุมชนชานเมืองทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นคูและกำแพงเมือง
ทั้งนี้ถ้าหากเจาะจงระยะเวลาลงไปอีกนิด ช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างมากคือ สมัยพระเมืองแก้ว ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เนื่องจากปรากฏหลักฐานกล่าวถึงการสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ในสมัยนี้ รวมถึงปรากฏเนื้อความในโคลงนิราศหริภุญชัยที่น่าจะแต่งขึ้นใน พ.ศ.2061 ที่เนื้อความกล่าวถึงการเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปเมืองลำพูนโดยผ่านกำแพงเมืองถึงสองชั้น
ย้อนกลับมาที่คำถามว่า หากกำแพงเมืองชั้นนอกและการปรับเปลี่ยนลำน้ำแม่ข่าให้เป็นคูเมืองชั้นนอกรวมถึงการขุดคูเมืองชั้นนอกทางทิศใต้และทิศตะวันตก(ลำคูไหว) ในห้วงเวลาดังกล่าว อะไรคือเหตุผลของการสร้าง
เมื่อพิจารณากำแพงเมืองชั้นนอกนี้มิได้โอบรอบกำแพงเมืองชั้นในครบทุกด้าน และถ้าพิจารณาลักษณะทางจากกายภาพจะพบว่า กำแพงเมืองชั้นนอกมีจุดเริ่มต้นที่มุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือโดยบรรจบกับแจ่งศรีภูมิ และโอบรอบเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยววกมาทางใต้บรรจบกับมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากายภาพของกำแพงเมืองชั้นนอกมีการวางตัวที่สอดรับกับความโค้งของลำน้ำปิงที่ตวัดเข้ามาใกล้เมืองเชียงใหม่ จึงพอจะเห็นเค้าลางว่า คูและกำแพงเมืองชั้นนอกทางด้านตะวันออก คือคันกันน้ำที่เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่และระบบการถ่ายเทน้ำจากพื้นที่ด้านเหนือของเมือง
เมื่อประกอบร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของเมืองเชียงใหม่เข้าด้วยกัน จึงสรุปได้ว่า ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 น่าจะมีการสร้างระบบการจัดการน้ำครั้งใหญ่ของเมือง ทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นคูคลองและคันดิน ระบบการจัดการน้ำนี้ดำเนินการโดยทำการประยุกต์ลำน้ำแม่ข่าที่เป็นทางน้ำธรรมชาติช่วงที่เลาะเลียบเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นคูเมืองชั้นนอกและกำแพงเมือง เพื่อจัดการน้ำด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และทำการขุดคูขึ้นใหม่และสร้างกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกและใต้รวมถึงแนวทางน้ำที่เชื่อมกับคูเวียงสวนดอกรวมถึงอ่างเก็บน้ำโบราณ(แก้มลิงโบราณ)และคันบังคับน้ำ เพื่อจัดการน้ำด้านทิศตะวันตกของเมือง คือ น้ำป่าจากดอยสุเทพ
จากร่องรอยหลักฐานที่ได้เรียบเรียงและนำมาบอกเล่าทุกท่านในวันนี้ คงพอจะทำให้ทุกท่านเข้าใจพัฒนาการของน้ำแม่ข่า ที่มิได้มีคุณค่าและความหมายเฉพาะเพียงสายน้ำนี้ แต่ยังยึดโยงไปถึงทางน้ำและระบบการจัดการน้ำในส่วนอื่นๆ รวมถึงมองเห็นภาพความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของธรรมชาติและการออกแบบสร้างสรรค์ของบรรพชนล้านนา กลายเป็นหลักฐานประจักษ์พยานที่ยิ่งใหญ่ที่บ่งบอกคุณค่าและความหมายทั้งการเป็นปัจจัยทางธรรมชาติอันเป็นมงคลเมือง การป้องกันยามศึกสงคราม และการบริหารจัดการน้ำ ที่ยากจะมีที่ใดเหมือน
(จำนวนผู้เข้าชม 1102 ครั้ง)