เวียงเจ็ดลิน
องค์ความรู้เรื่อง
เวียงเจ็ดลิน : จากหลักฐานการดำเนินงานทางโบราณคดี
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษา
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
ที่ตั้งและสภาพปัจจุบันของพื้นที่
เวียงเจ็ดลินตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเชิงเขาทางทิศตะวันออกของดอยสุเทพ พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ผังเวียงเป็นรูปวงกลม ปัจจุบันยังคงเหลือกำแพงเวียงคูเวียงบางส่วน บริเวณทางทิศเหนือในพื้นที่ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เรื่อยมาจนถึงทิศใต้ในพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว พื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองถูกถนนห้วยแก้วตัดผ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นกำแพงเวียงได้อย่างชัดเจน บริเวณเกือบกึ่งกลางเวียงค่อนมาทางทิศเหนือ มีร่องรอยทางน้ำเก่าผ่ากลางจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกของเวียง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเวียงเจ็ดลิน
ตำนานของล้านนาปรากฏเรื่องราวของพื้นที่เวียงเจ็ดลินว่าเป็นที่ตั้งชุมชนมาแต่ก่อนหน้าสมัยล้านนาแล้ว โดยในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดงสามารถกล่าวถึงพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกับเวียงเจ็ดลิน ว่าบริเวณนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เวียงเชฏฐบุรี เป็นเวียงที่สร้างขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวลัวะ ซึ่งได้กระจายตัวสร้างชุมชนลงไปตามแม่น้ำปิงและรับวัฒนธรรมจากภายนอก จนสามารถตั้งศูนย์กลางระดับแคว้นได้ คือเมืองหริภุญไชย และนับถือดอยสุเทพในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานชุมชนในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และควรเป็นช่วงก่อนที่พระญามังรายจะเสด็จมาถึงแอ่งที่ราบเชียงใหม่ แต่ก็ต้องเป็นระยะเวลานานพอกระทั่งพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่รกร้าง เป็นป่า เพราะการสำรวจบริเวณดอยสุเทพของพระญามังรายที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่นั้น ได้กล่าวถึงพื้นที่ว่าเป็นทุ่งและราวป่า ไม่มีการอาศัยของชุมชนหนาแน่นจนมีลักษณะเป็นหมู่บ้าน
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินขึ้นในสมัยล้านนา ตามรับสั่งของพระญาสามฝั่งแกนที่ให้สร้างเวียงขึ้นบริเวณที่ได้รับชัยชนะแก่ศัตรู เนื่องจากเมื่อพญาไสลือไทได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เคยได้สรงเกศยังผาลาดหลวงแล้วทำให้เกรงกลัวกองทัพของเชียงใหม่จนต้องยกทัพหนี ซึ่งเวียงเจ็ดลินได้ถูกสร้างแปงขึ้นในปี พ.ศ.1954 เป็นปีเดียวกับที่เจ้าสี่หมื่นเจ้าเมืองพะเยาได้ถวายหมู่บ้านและที่นากับพระสุวรรณมหาวิหาร สอดคล้องกับจารึกพระสุวรรณมหาวิหาร ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ยังกล่าวอีกว่าพระญาสามฝั่งแกนมาประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดลินเป็นปกติ จนมีการลอบวางเพลิงพื้นที่ประทับทั้งหมดในช่วงปลายรัชสมัย
ชื่อของเวียงเจ็ดลินปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา เมื่อเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาทรงนำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2088 พระมหาเทวีจิรประภาใช้ยุทธวิธีแต่งเครื่องบรรณาการไปถวาย และได้นำเสด็จพระไชยราชาไปสรงน้ำที่เจ็ดลิน ซึ่งน่าจะเป็นเวียงเจ็ดลินหรือดอยเจ็ดลิน ที่เป็นจุดเดียวกับที่พญาไสลือไทได้มาสรงเกศ
การดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน จำนวน ๓ ครั้ง ในปี พ.ศ.2541 พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2562 โดยในปี พ.ศ.2541 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่ทางทิศใต้ของเวียงหรือพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว ซึ่งพบหลักฐานการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22
ปี พ.ศ.2552 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 6 หลุม กระจายตามตำแหน่งต่างๆ ภายในเมือง ประกอบด้วย บริเวณกลางเวียง บริเวณทิศเหนือ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณทิศตะวันตก และบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการขุดค้นฯในครั้งนั้นทำให้ทราบถึงการเลือกใช้พื้นที่ของเวียงเจ็ดลิน โดยพบว่าบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้พบโบราณวัตถุกระจายตัวค่อนข้างหนาแน่น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กิจกรรมหลักของเวียงอยู่บริเวณทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีระดับความสูงมากกว่าพบหลักฐานเบาบางมาก ขณะที่พื้นที่กลางเวียงเป็นที่ลุ่มต่ำมาก มีสภาพชื้นแฉะ ชั้นดินเป็นโคลนเนื้อดินอัดกันแน่นพอสมควร และมีระดับน้ำใต้ดินที่สูงมาก ซึ่งบริเวณกลางเวียงนี้อาจเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดยสงวน โชติสุขรัตน์ ได้เขียนถึงเวียงเจ็ดลินไว้ในหนังสือนำเที่ยวเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อ พ.ศ.2514 ว่าภายในเวียงเจ็ดลินมีสระน้ำก่อด้วยศิลาแลงอย่างแข็งแรง ยังปรากฏอยู่ในบริเวณปศุสัตว์เลี้ยงโคนมของเยอรมัน น่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ปัจจุบันเป็นตาน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี ส่วนโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นฯ ซึ่งสามารถกำหนดอายุช่วงที่มีการใช้พื้นที่ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลงและสันกำแพง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 อย่างไรก็ตาม การขุดค้นทางทิศเหนือของเวียงพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งนักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นได้ระบุว่าเป็นหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วย จึงไม่จะสามารถระบุถึงช่วงอายุสมัยที่แน่ชัดของเครื่องมือหินดังกล่าวได้
ปี พ.ศ.2562 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 3 หลุม ภายในพื้นที่ทางทิศเหนือของเวียง บริเวณกำแพงเวียง/คันดินทิศเหนือ และพื้นที่กลางเวียงค่อนมาทางทิศตะวันออก ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ พบการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนาเช่นเดียวกัน ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 โดยแบ่งได้เป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเป็นช่วงของการก่อสร้างคูน้ำคันดินเวียงเจ็ดลินซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเรื่องราวที่พระญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ช่วงที่สองควรจะมีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภา
จากการดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีทั้ง 3 ครั้งแสดงให้เห็นการใช้พื้นที่เวียงเจ็ดลินในสมัยล้านนา โดยไม่พบการใช้พื้นที่ในสมัยหริภุญไชยหรือสมัยก่อนล้านนาแต่อย่างใด มีเพียงชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบแหล่งเตาที่ผลิตอย่างชัดเจน จึงยังไม่สามารถกำหนดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์นี้ได้เช่นเดียวกัน
โบราณสถานที่สัมพันธ์กับเวียงเจ็ดลิน
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบโบราณสถานใกล้กับเวียงเจ็ดลินในรัศมี 1 กิโลเมตร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วัดหมูบุ่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเวียงเจ็ดลิน และ วัดกู่ดินขาว ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเวียง/คันดินเวียงเจ็ดลินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 700 เมตร ปัจจุบันอยู่ภายในพื้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่
วัดกู่ดินขาว ได้รับการดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าวัดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ประธานมีขนาดเฉลี่ย 26 x 55 x 15 เซนติเมตร มีน้ำหนักร่วม 50 กิโลกรัม ถือเป็นอิฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานในเขตล้านนา โบราณสถานวัดกู่ดินขาว ประกอบด้วย เจดีย์ประธานซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สันนิษฐานจากการก่ออิฐโครงสร้างเป็นเอ็นยึดภายในเจดีย์ที่ก่อเป็นเส้นทะแยงมุมผสมช่องกากบาทตารางถมอัดดิน ทำสลับกันเป็นระยะๆในส่วนเรือนธาตุ วิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีการยกเก็จหน้าและหลัง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าทางทิศตะวันออกและทางทิศเหนือตอนหน้า มีฐานชุกชีวางตัวในแนวขนานกับวิหาร ด้านหน้ายกพื้นคล้ายเป็นที่สำหรับบูชา และมีพื้นที่ทางด้านหลัง จึงสามารถเดินประทักษิณได้ ต่างจากฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทั่วไปที่จะวางตัวขวางตัวแนวอาคารและติดกับผนังสกัดตะวันตกของวิหาร ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าภายในวิหารน่าจะเป็นมณฑปหรือโขงพระเจ้า ซึ่งพบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสัตว์และลวดลายตกแต่งอื่นๆ ที่ใช้ในการตกแต่งซุ้มพระ และเจดีย์รายแปดเหลี่ยม ที่พบเฉพาะส่วนฐานตอนล่าง ลักษณะเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม มีชั้นท้องไม้เตี้ยๆประดับด้วยเส้นลูกแก้วอกไก่คู่ โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นฯ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลง สามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการใช้พื้นที่บริเวณเวียงเจ็ดลิน
สรุป
จากการดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลินทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ผลการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับเอกสารทางประวัติศาสตร์สามารถแบ่งช่วงเวลาของเวียงเจ็ดลิน ได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก : สมัยก่อนล้านนาหรือสมัยตำนาน โดยมีเพียงข้อมูลที่กล่าวถึงในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดง ที่ปรากฏเรื่องราวของฤาษีวาสุเทพและท้าวสุวรรณคำแดง แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่สามารถเชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล และพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้น เสนอว่าเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้และปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวลัวะและชาวไทยโดยอาศัยเรื่องเล่า พิจารณาจากการสถาปนาชื่อเวียงเจ็ดลินเป็นเวียงเชฏฐบุรี ซึ่ง หมายถึงผู้พี่ คือชาวลัวะ ที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนการเคลื่อนย้ายมาของเชื้อสายชาวไทยคือท้าวสุวรรณคำแดง
ช่วงที่สอง : สมัยพระญาสามฝั่งแกน คือช่วงที่มีการสร้างแปงเวียงเจ็ดลินขึ้น เป็นช่วงเวลาที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีความสอดคล้องกัน
ช่วงที่สาม : น่าจะเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมในเวียงเจ็ดลินที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภา
ทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดียังไม่สามารถวิเคราะห์ลักษณะการใช้งานพื้นที่เวียงเจ็ดลินได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การสร้างเวียงเจ็ดลินมีความจำเป็นต้องสร้างคูน้ำคันดิน เพื่อผลของการควบคุมน้ำที่ไหลผ่านจากที่สูงบนเขาลงมายังที่ต่ำกว่าบริเวณเชิงเขา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและสำหรับการอุปโภคบริโภคภายในเวียงเจ็ดลิน
เอกสารอ้างอิง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี ดี วัสดุภัณฑ์. เสนอต่อ สวนสัตว์เชียงใหม่, รายงานการบูรณะโบราณสถานในเขตสวนสัตว์เชียงใหม่ วัดกู่ดินขาว (ร้าง) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สวนสัตว์เชียงใหม่. 2544.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. 2552.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. 2562.
เวียงเจ็ดลิน : จากหลักฐานการดำเนินงานทางโบราณคดี
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษา
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
ที่ตั้งและสภาพปัจจุบันของพื้นที่
เวียงเจ็ดลินตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเชิงเขาทางทิศตะวันออกของดอยสุเทพ พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ผังเวียงเป็นรูปวงกลม ปัจจุบันยังคงเหลือกำแพงเวียงคูเวียงบางส่วน บริเวณทางทิศเหนือในพื้นที่ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เรื่อยมาจนถึงทิศใต้ในพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว พื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองถูกถนนห้วยแก้วตัดผ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นกำแพงเวียงได้อย่างชัดเจน บริเวณเกือบกึ่งกลางเวียงค่อนมาทางทิศเหนือ มีร่องรอยทางน้ำเก่าผ่ากลางจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกของเวียง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเวียงเจ็ดลิน
ตำนานของล้านนาปรากฏเรื่องราวของพื้นที่เวียงเจ็ดลินว่าเป็นที่ตั้งชุมชนมาแต่ก่อนหน้าสมัยล้านนาแล้ว โดยในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดงสามารถกล่าวถึงพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกับเวียงเจ็ดลิน ว่าบริเวณนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เวียงเชฏฐบุรี เป็นเวียงที่สร้างขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวลัวะ ซึ่งได้กระจายตัวสร้างชุมชนลงไปตามแม่น้ำปิงและรับวัฒนธรรมจากภายนอก จนสามารถตั้งศูนย์กลางระดับแคว้นได้ คือเมืองหริภุญไชย และนับถือดอยสุเทพในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานชุมชนในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และควรเป็นช่วงก่อนที่พระญามังรายจะเสด็จมาถึงแอ่งที่ราบเชียงใหม่ แต่ก็ต้องเป็นระยะเวลานานพอกระทั่งพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่รกร้าง เป็นป่า เพราะการสำรวจบริเวณดอยสุเทพของพระญามังรายที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่นั้น ได้กล่าวถึงพื้นที่ว่าเป็นทุ่งและราวป่า ไม่มีการอาศัยของชุมชนหนาแน่นจนมีลักษณะเป็นหมู่บ้าน
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินขึ้นในสมัยล้านนา ตามรับสั่งของพระญาสามฝั่งแกนที่ให้สร้างเวียงขึ้นบริเวณที่ได้รับชัยชนะแก่ศัตรู เนื่องจากเมื่อพญาไสลือไทได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เคยได้สรงเกศยังผาลาดหลวงแล้วทำให้เกรงกลัวกองทัพของเชียงใหม่จนต้องยกทัพหนี ซึ่งเวียงเจ็ดลินได้ถูกสร้างแปงขึ้นในปี พ.ศ.1954 เป็นปีเดียวกับที่เจ้าสี่หมื่นเจ้าเมืองพะเยาได้ถวายหมู่บ้านและที่นากับพระสุวรรณมหาวิหาร สอดคล้องกับจารึกพระสุวรรณมหาวิหาร ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ยังกล่าวอีกว่าพระญาสามฝั่งแกนมาประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดลินเป็นปกติ จนมีการลอบวางเพลิงพื้นที่ประทับทั้งหมดในช่วงปลายรัชสมัย
ชื่อของเวียงเจ็ดลินปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา เมื่อเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาทรงนำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2088 พระมหาเทวีจิรประภาใช้ยุทธวิธีแต่งเครื่องบรรณาการไปถวาย และได้นำเสด็จพระไชยราชาไปสรงน้ำที่เจ็ดลิน ซึ่งน่าจะเป็นเวียงเจ็ดลินหรือดอยเจ็ดลิน ที่เป็นจุดเดียวกับที่พญาไสลือไทได้มาสรงเกศ
การดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน จำนวน ๓ ครั้ง ในปี พ.ศ.2541 พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2562 โดยในปี พ.ศ.2541 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่ทางทิศใต้ของเวียงหรือพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว ซึ่งพบหลักฐานการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22
ปี พ.ศ.2552 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 6 หลุม กระจายตามตำแหน่งต่างๆ ภายในเมือง ประกอบด้วย บริเวณกลางเวียง บริเวณทิศเหนือ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณทิศตะวันตก และบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการขุดค้นฯในครั้งนั้นทำให้ทราบถึงการเลือกใช้พื้นที่ของเวียงเจ็ดลิน โดยพบว่าบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้พบโบราณวัตถุกระจายตัวค่อนข้างหนาแน่น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กิจกรรมหลักของเวียงอยู่บริเวณทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีระดับความสูงมากกว่าพบหลักฐานเบาบางมาก ขณะที่พื้นที่กลางเวียงเป็นที่ลุ่มต่ำมาก มีสภาพชื้นแฉะ ชั้นดินเป็นโคลนเนื้อดินอัดกันแน่นพอสมควร และมีระดับน้ำใต้ดินที่สูงมาก ซึ่งบริเวณกลางเวียงนี้อาจเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดยสงวน โชติสุขรัตน์ ได้เขียนถึงเวียงเจ็ดลินไว้ในหนังสือนำเที่ยวเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อ พ.ศ.2514 ว่าภายในเวียงเจ็ดลินมีสระน้ำก่อด้วยศิลาแลงอย่างแข็งแรง ยังปรากฏอยู่ในบริเวณปศุสัตว์เลี้ยงโคนมของเยอรมัน น่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ปัจจุบันเป็นตาน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี ส่วนโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นฯ ซึ่งสามารถกำหนดอายุช่วงที่มีการใช้พื้นที่ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลงและสันกำแพง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 อย่างไรก็ตาม การขุดค้นทางทิศเหนือของเวียงพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งนักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นได้ระบุว่าเป็นหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วย จึงไม่จะสามารถระบุถึงช่วงอายุสมัยที่แน่ชัดของเครื่องมือหินดังกล่าวได้
ปี พ.ศ.2562 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 3 หลุม ภายในพื้นที่ทางทิศเหนือของเวียง บริเวณกำแพงเวียง/คันดินทิศเหนือ และพื้นที่กลางเวียงค่อนมาทางทิศตะวันออก ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ พบการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนาเช่นเดียวกัน ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 โดยแบ่งได้เป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเป็นช่วงของการก่อสร้างคูน้ำคันดินเวียงเจ็ดลินซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเรื่องราวที่พระญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ช่วงที่สองควรจะมีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภา
จากการดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีทั้ง 3 ครั้งแสดงให้เห็นการใช้พื้นที่เวียงเจ็ดลินในสมัยล้านนา โดยไม่พบการใช้พื้นที่ในสมัยหริภุญไชยหรือสมัยก่อนล้านนาแต่อย่างใด มีเพียงชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบแหล่งเตาที่ผลิตอย่างชัดเจน จึงยังไม่สามารถกำหนดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์นี้ได้เช่นเดียวกัน
โบราณสถานที่สัมพันธ์กับเวียงเจ็ดลิน
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบโบราณสถานใกล้กับเวียงเจ็ดลินในรัศมี 1 กิโลเมตร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วัดหมูบุ่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเวียงเจ็ดลิน และ วัดกู่ดินขาว ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเวียง/คันดินเวียงเจ็ดลินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 700 เมตร ปัจจุบันอยู่ภายในพื้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่
วัดกู่ดินขาว ได้รับการดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าวัดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ประธานมีขนาดเฉลี่ย 26 x 55 x 15 เซนติเมตร มีน้ำหนักร่วม 50 กิโลกรัม ถือเป็นอิฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานในเขตล้านนา โบราณสถานวัดกู่ดินขาว ประกอบด้วย เจดีย์ประธานซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สันนิษฐานจากการก่ออิฐโครงสร้างเป็นเอ็นยึดภายในเจดีย์ที่ก่อเป็นเส้นทะแยงมุมผสมช่องกากบาทตารางถมอัดดิน ทำสลับกันเป็นระยะๆในส่วนเรือนธาตุ วิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีการยกเก็จหน้าและหลัง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าทางทิศตะวันออกและทางทิศเหนือตอนหน้า มีฐานชุกชีวางตัวในแนวขนานกับวิหาร ด้านหน้ายกพื้นคล้ายเป็นที่สำหรับบูชา และมีพื้นที่ทางด้านหลัง จึงสามารถเดินประทักษิณได้ ต่างจากฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทั่วไปที่จะวางตัวขวางตัวแนวอาคารและติดกับผนังสกัดตะวันตกของวิหาร ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าภายในวิหารน่าจะเป็นมณฑปหรือโขงพระเจ้า ซึ่งพบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสัตว์และลวดลายตกแต่งอื่นๆ ที่ใช้ในการตกแต่งซุ้มพระ และเจดีย์รายแปดเหลี่ยม ที่พบเฉพาะส่วนฐานตอนล่าง ลักษณะเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม มีชั้นท้องไม้เตี้ยๆประดับด้วยเส้นลูกแก้วอกไก่คู่ โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นฯ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลง สามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการใช้พื้นที่บริเวณเวียงเจ็ดลิน
สรุป
จากการดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลินทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ผลการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับเอกสารทางประวัติศาสตร์สามารถแบ่งช่วงเวลาของเวียงเจ็ดลิน ได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก : สมัยก่อนล้านนาหรือสมัยตำนาน โดยมีเพียงข้อมูลที่กล่าวถึงในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดง ที่ปรากฏเรื่องราวของฤาษีวาสุเทพและท้าวสุวรรณคำแดง แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่สามารถเชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล และพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้น เสนอว่าเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้และปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวลัวะและชาวไทยโดยอาศัยเรื่องเล่า พิจารณาจากการสถาปนาชื่อเวียงเจ็ดลินเป็นเวียงเชฏฐบุรี ซึ่ง หมายถึงผู้พี่ คือชาวลัวะ ที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนการเคลื่อนย้ายมาของเชื้อสายชาวไทยคือท้าวสุวรรณคำแดง
ช่วงที่สอง : สมัยพระญาสามฝั่งแกน คือช่วงที่มีการสร้างแปงเวียงเจ็ดลินขึ้น เป็นช่วงเวลาที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีความสอดคล้องกัน
ช่วงที่สาม : น่าจะเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมในเวียงเจ็ดลินที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภา
ทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดียังไม่สามารถวิเคราะห์ลักษณะการใช้งานพื้นที่เวียงเจ็ดลินได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การสร้างเวียงเจ็ดลินมีความจำเป็นต้องสร้างคูน้ำคันดิน เพื่อผลของการควบคุมน้ำที่ไหลผ่านจากที่สูงบนเขาลงมายังที่ต่ำกว่าบริเวณเชิงเขา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและสำหรับการอุปโภคบริโภคภายในเวียงเจ็ดลิน
เอกสารอ้างอิง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี ดี วัสดุภัณฑ์. เสนอต่อ สวนสัตว์เชียงใหม่, รายงานการบูรณะโบราณสถานในเขตสวนสัตว์เชียงใหม่ วัดกู่ดินขาว (ร้าง) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สวนสัตว์เชียงใหม่. 2544.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. 2552.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. 2562.
(จำนวนผู้เข้าชม 2276 ครั้ง)