...

พัฒนาการ การอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่
องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
เรื่อง : พัฒนาการ การอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่
เรียบเรียงโดย : สายกลาง  จินดาสุ  นักโบราณคดีชำนาญการ
          นับตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานแต่ละแห่งของเมืองเชียงใหม่ผ่านการซ่อมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์มานับครั้งไม่ถ้วน  หากพิจารณาจากเอกสารประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าการปรับปรุงซ่อมแซมโบราณสถานในล้านนาเป็นเรื่องปกติที่นิยมทำแม้ไม่มีปัจจัยด้านการชำรุดเสื่อมโทรม ครั้งนี้เราจะมาดูพัฒนาการการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดและวิธีการอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา มีจุดเปลี่ยนและสาระสำคัญอะไรบ้าง
          เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ พบว่า มักปรากฏเนื้อความในเอกสารประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ที่กล่าวถึงกษัตริย์ให้ซ่อมเสริมหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถานไปจากเดิม เช่น การที่พระเจ้าติโลกราช โปรดให้มีการขยายขนาดเจดีย์หลวง ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา และให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบยอดเจดีย์ “ให้ขุดรอบๆพระธาตุเจดีย์หลวงองค์เก่า กว้างประมาณ ๑๐ ศอก ลึกแค่ศรีษะคนเพื่อทำฐานรากเจดีย์ ก่อให้เป็นวัตถุมั่นคงยิ่งขึ้นแล้วให้เอาแผ่นศิลาอันเป็นมงคลปิดทองคำเปลว...พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วมีระเบียบกระพุ่มยอดเดียว
          จะเห็นได้ว่าแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตมิได้ยึดถือในเรื่องการรักษารูปแบบดั้งเดิม หากแต่การบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่แห่งองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา คือ เครื่องมือสะท้อนพระราชอำนาจของกษัตริย์ ในสถานะที่กษัตริย์ล้านนาเป็นองค์อุปถัมป์แห่งพุทธศาสนา ประวัติหรือตำนานบูรพกษัตริย์ในพื้นที่ภาคเหนือมักจะกล่าวถึงการเป็นผู้รับใช้พระศาสนาและได้รับความชอบธรรมให้เป็นกษัตริย์ ดังเรื่องของปู่เจ้าลาวจก ปฐมวงษ์ของพญามังราย ที่มิได้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่เป็นคนพื้นเมืองที่ถวายตนเป็นข้าเฝ้าพระธาตุดอยตุง เมื่อตายผลบุญจากการเป็นข้าเฝ้าพระธาตุเป็นอานิสงให้จุติเป็นเทวดาและสุดท้ายจึงโอปาติกะลงมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองหิรัญนครเงินยางในแอ่งที่ราบเชียงแสน ดังนั้นแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตของล้านนาจึงผูกติดกับความเป็น “ธรรมราชา” ของกษัตริย์ผู้ปกครอง
          เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายประสบความสำเร็จในการปกครอง พบว่าจักต้องมีพระราชกรณียกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น อาทิ สมัยพระเจ้ากือนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้อาราธนาพระสุมนเถระ จากสุโขทัยมายังเชียงใหม่เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่และล้านนา รวมถึงสร้างวัดสวนดอก (บุพพารามมหาวิหาร) และวัดพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  พระเจ้าติโลกราช ให้ทำการบูรณะเจดีย์หลวง ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงสร้างวัดเจ็ดยอด และสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดแห่งนี้  พระเมืองแก้ว บูรณะวัดต่างๆทั่วล้านนา บวชกุลบุตรล้านนาเป็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฏหลักฐานการบวชกลางเกาะดอนทรายแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงแสน รวมถึงสร้างพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในล้านนาหลายองค์ระบุถึงศักราชในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเมืองแก้วครองราชย์
          โบราณสถานในล้านนาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ระลอกใหญ่อีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ สมัยครูบาศรีวิชัย   งานบูรณะของครูบาศรีวิชัยมีแนวคิดที่คล้ายกับการบูรณะของกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายของล้านนา คือ มิได้ยึดถือในเรื่องรูปแบบดั้งเดิมเป็นสาระสำคัญ หากแต่เป็นการบูรณะเพื่อสืบต่อพระศาสนา เป็นการบูรณะเพื่อให้โบราณสถานเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิม ภารกิจสำคัญของครูบาศรีวิชัยประการหนึ่ง คือ การบูรณะและฟื้นวัดร้าง รูปแบบวิธีการบูรณะของครูบาศรีวิชัย โดยเฉพาะกับเจดีย์ ใช้วิธีการเดียวกับที่มีมาแต่อดีต คือการก่อครอบ ไม่มีการทำลายเจดีย์องค์เดิมแล้วจึงสร้างเจดีย์องค์ใหม่ ลักษณะเช่นนี้พบได้ในเจดีย์ทั่วล้านนา อาทิ เจดีย์วัดพระบวช เจดีย์วัดอาทิต้นแก้ว เมืองเชียงแสน เจดีย์วัดสะดือเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเจดีย์องค์หลังนี้ ครูบาศรีวิชัยได้ก่อครอบไว้ราว พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ ซึ่งการก่อครอบนี้น่าจะเป็นคติของการรักษาพระบรมสารีริกธาตุที่มีมาแต่เดิม
          หากจะนับเอาจุดเริ่มต้นการบูรณะโบราณสถานอย่างเป็นสากลในพื้นที่ล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเวลาใด จำเป็นต้องกล่าวเชิงองค์รวมของการอนุรักษ์ว่าการบูรณะ คือ กระบวนการหนึ่งของการอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย ไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่และวิธีดำเนินการ จุดเปลี่ยนของการบูรณะโบราณสถานในล้านนาเกิดขึ้นหลังจากการออกกฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานฉบับแรกของสยามที่ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗”  กฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและระบบการอนุรักษ์โบราณสถานไปจากอดีต เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล รักษา ตรวจสอบตามกฏหมาย ให้เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร  ซึ่งก็คือ กรมศิลปากรได้เข้ามาเป็นตัวแทนของรัฐในการดูแลโบราณสถานตามที่กฏหมายกำหนดหน้าที่เอาไว้ ทั้งนี้ในปี ๒๔๗๘ กรมศิลปากร ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นครั้งแรก โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในปีดังกล่าว ๑๕ แห่ง ประกอบด้วย พระธาตุจอมทอง ข่วงช้าง ข่วงสิงห์ วัดกู่เต้า วัดเจ็ดยอด กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ วัดการะเกด วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น พระธาตุดอยสุเทพ วิหารเก้าตื้อ (วัดสวนดอก) วัดป่าแดงหลวง วัดร่ำเปิง วัดสวนดอก วัดอุโมงค์(นอก)
          การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปี ๒๔๗๘ เป็นการประกาศขึ้นทะเบียนโดยกำหนดเพียงชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและอาคารที่ขึ้นทะเบียนแต่ละหลัง แต่ยังไม่มีแผนผังการประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ (แผนผังแสดงรายละเอียดรายการและขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน) ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว ข้อมูลการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแต่ละแห่งไม่มีรายละเอียดขอบเขตพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียน ว่ามีอาณาบริเวณถึงไหน ทำให้ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔ มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั้ง ๑๕ แห่งอีกครั้ง โดยมีแผนผังพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ ที่มีการออกหลักการการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล คือ กฎบัตรเวนิช (Venice Charter) ในปี ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นกฎบัตรการอนุรักษ์โบราณสถานที่ยึดถือเป็นหลักทั่วโลกและใช้มายาวนานกว่า ๕๐ ปี และการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในปี ๒๕๑๕ และกฎบัตรบูรา หรือที่เรียกว่า บูรา ชาเตอร์ (The Burra Charter) ซึ่งจัดทำขึ้น ณ ประเทศออสเตรเลีย ในปี ๒๕๒๒ ทำให้ความตื่นตัวในการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลเกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น  จนกระทั่งปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลจึงได้เกิดขึ้นในประเทศไทยและล้านนาอย่างเต็มเต็มตัว จากการที่กรมศิลปากรได้ออก ระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน ปี ๒๕๒๘ ซึ่งเนื้อหาต่างๆในระเบียบนี้อ้างอิงได้กับ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปี ๒๕๐๔ และนิยามที่เกี่ยวกับประเภทการอนุรักษ์ที่กล่าวไว้ใน บูรา ชาเตอร์ และ เวนิส ชาเตอร์ ทำให้ห้วงปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๘ งานบูรณะโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ มีการดำเนินการโดยใช้หลักการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลเต็มรูปแบบ
          โบราณสถานแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการอนุรักษ์โดยอ้างอิงหลักการสากล คือ การบูรณะวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิล ในปี ๒๕๒๖ การดำเนินการอนุรักษ์ในครั้งนั้นทำตามหลักการสากลที่กฎบัตรเวนิชวางไว้ คือ มีการขุดค้นทางโบราณคดี และการอนุรักษ์ประกอบกัน  โดยมีการขุดตรวจทางโบราณคดีเพื่อพิสูจน์ทราบโครงสร้างของเจดีย์ จากการขุดเปิดชั้นดินและเศษอิฐที่ทับถมส่วนฐานทำให้ทราบว่าเจดีย์วัดสะดือเมือง  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ก่อหุ้มเจดีย์องค์เดิมที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทด้านใน ส่วนวัดอินทขิล ไม่พบการสร้างซ้อนทับ แต่ปรากฏร่องรอยแสดงให้เห็นว่าได้รับการซ่อมแซมบ้างแต่ไม่มากนัก  การดำเนินงานมีการอนุรักษ์โบราณสถานโดยมีข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นพื้นฐาน การอนุรักษ์เจดีย์สะดือเมืองได้ทำการเสริมความมั่นคงฐานรากด้วยการเทเสาตอม่อและเทคอนกรีตเสริมเหล็กรับที่ส่วนฐาน (footing) และเทคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ส่วนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนเจดีย์วัดอินทขิล ได้ดำเนินการเสริมความมั่นคงชั้นฐานด้วยการเทคอนกรีตเชื่อมระหว่างแกนในองค์เจดีย์กับแนวอิฐที่ก่อเสริมใหม่ และเสริมแกนเหล็กไว้ตรงกลางปลียอด ทั้งนี้หากใช้นิยามความหมายการอนุรักษ์ที่ปรากฏในกฏบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิลจะจัดอยู่ในประเภท Restoration หรือ การบูรณะ เนื่องจากกฎบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรฯ ให้มีการใช้วัสดุใหม่เข้าไปได้บ้างในกรณีที่มีความจำเป็น และต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างของเก่าและของใหม่จากตัววัสดุแต่ต้องกลมกลืนในภาพรวม
          ถ้าการการดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล ปี๒๕๒๗ ก็คือหมุดเริ่มต้นแห่งการอนุรักษ์ที่ใช้หลักการที่นานนาอารยประเทศใช้  หลังจากการดำเนินงานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล  ได้มีการอนุรักษ์โบราณสถานตามหลักสากลอีกหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ อาทิ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดเชียงมั่น กำแพงและป้อมมุมเมือง ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปี ๒๕๓๙ คือ อิฐที่เป็นอิฐก้อนใหม่ที่ใช้บูรณะแทนที่อิฐเก่าที่เสื่อมสภาพ มีการประทับปีพุทธศักราชที่อิฐ (ประทับปี ๒๕๓๙) แสดงให้เห็นการนำแนวคิดการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลมาใช้ ที่ต้องการรักษาหลักการในการอนุรักษ์ว่า วัสดุที่นำมาเปลี่ยนต้องกลมกลืนแต่ก็ต้องแสดงให้เห็นความต่างระหว่างของเดิมที่มีอยู่และของที่ใส่ลงไปใหม่
          โบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นโบราณสถานสำคัญ ล้วนมีการบูรณะปฎิสังขรณ์มาโดยตลอด วัดพระสิงห์ เป็นตัวอย่างของวัดที่มีการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณะคันธกุฎี (ท้ายวิหารลายคำ) สมัยเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น ใน พ.ศ.๒๓๖๔-๒๓๖๗ ซ่อมแซมและสร้างมุขหน้าวิหารหลวง พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๑๙ สมัยเจ้าอินทวิชยนนท์ และบูรณะวิหารหลวง ในพ.ศ.๒๔๔๔ - ๒๔๕๒ สมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ และบูรณะอุโบสถโดยตัดปลายแปหน้าแหนบและปั้นปูนปั้นปิดโดยครูบาศรีวิชัย
          ในราว พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ การดำเนินการอุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปกรที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ได้เริ่มเข้าสู่รูปแบบการดำเนินงานแบบองค์รวม คือ วางกรอบทิศทางการดำเนินงานโดยมีเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นกรอบหลักที่ครอบคลุมโบราณสถานต่างๆ โดยมีการเริ่มต้นจัดทำแผนแม่บทโครงการบูรณะและอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๘ และจัดทำฉบับแก้ไข ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๒  การจัดทำแผนแม่บททั้ง ๒ ครั้ง คือ ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์เมืองเก่าเชียงใหม่ภายใต้บริบทของการอนุรักษ์โบราณสถาน  แผนแม่บทดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าอย่างเป็นระบบ     มีการสำรวจโบราณสถานในเมืองและพื้นที่รอบเมือง และจัดแบ่งโบราณสถานเป็นประเภทต่างๆ (วัดร้างที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดร้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ/ วัดที่มีการใช้งานที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดที่มีการใช้งานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ) รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆที่มีผลกระทบ และวิเคราะห์ปัจจัยปัญหาที่มีผลต่อเมืองเก่าเชียงใหม่ แผนแม่บทนี้นำไปสู่การจัดตั้งโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ทำให้โบราณสถานสำคัญที่ได้รับการอนุรักษ์ตามแผนดังกล่าว ในทศวรรษปัจจุบันนี้ กรมศิลปากรพยายามขยายขอบเขตกระบวนการงานอนุรักษ์ไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาการด้านอื่นๆ เช่น ด้านธรณีวิศวกรรม และฟิสิกส์ประยุกต์ ฯ เพื่อนำองค์ความรู้เฉพาะด้านมาช่วยในการรักษาโบราณสถาน ติดตามประเมินผล คาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง  และวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์อย่างแม่นยำ  รวมถึงพยายามแสวงหาพันธมิตรทั้งจากสถาบันการศึกษา และเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนางานและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานมีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว













(จำนวนผู้เข้าชม 1109 ครั้ง)