...

กำแพงเมืองเชียงใหม่ ปราการแห่งล้านนา
องค์ความรู้เรื่อง กำแพงเมืองเชียงใหม่ ปราการแห่งล้านนา
โดย นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
*** พัฒนาการยุคแรกเริ่มของมนุษย์ มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการอาศัยอยู่ตามถ้ำ ป่าเขาลำเนาไพร จากนั้นมนุษย์จึงได้พัฒนาจากต่างคนต่างอยู่มารวมตัวเป็นกลุ่มเป็นชุมชน ด้วยเกิดมีหลายชุมชน จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นเมือง เพื่อการปกป้องคุ้มครองตนเอง มนุษย์คิดวิธีการป้องกันตนเองด้วยการขุดธรรมชาติที่มีอยู่ มาล้อมเป็นปราการของตนโดยการขุดคูเมือง ดินที่ได้ก็นำขึ้นมากอง ทำให้เกิดเป็นแนวคันดิน นานวันเข้าเริ่มมีการก่ออิฐบนคันดินหรือครอบคันดิน จึงพัฒนากลายเป็นกำแพงขึ้นมา จึงก่อให้เกิดคูเมือง-กำแพงเมืองขึ้นตั้งแต่  โบราณกาล
*** กำแพงเมืองที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในวันนี้ เป็นกำแพงเมืองที่ถือว่าสำคัญและโดดเด่นที่สุดในล้านนา เพราะเป็นกำแพงแห่งเมืองหลวงของอาณาจักร “กำแพงเมืองเชียงใหม่”
*** นอกจากกายภาพกำแพงเมืองเชียงใหม่ ที่หลายท่านพอจะทราบแล้วว่ามีผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส         5 ประตู 4 ป้อม ครั้งนี้เราจะมาเจาะลึกกำแพงเมืองเชียงใหม่ผ่านกระบวนการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา
*** เอกสารประวัติศาสตร์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายในปี 1839 ว่าทรงสร้างเวียงโดยมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1000 วา คูเวียงกว้าง 9 วา ก่อกำแพงด้วยอิฐ ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ให้รายละเอียดลงไปอีกว่า กำแพงเวียงนั้นให้ก่อตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนและเวียนไปด้านขวาไปจนครบทั้งสี่ด้าน เนื่องด้วยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร กำแพงเมืองเชียงใหม่จึงมีความเปลี่ยนแปลงหลายช่วงเวลา จากหลักฐานเอกสารพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อกำแพงเมืองในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาในปี 1943 ครั้งนั้นพญากือนาสวรรคตและตั้งพระบรมศพไว้นอกเมือง ท้าวมหาพรหมจากเมืองเชียงรายยกทัพมาหวังจะชิงเอาเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงโปรดให้เจาะพังกำแพงเมืองทางทิศเหนือด้านที่ติดกับวัดพราหมณ์ อัญเชิญพระศพพญากือนาจากนอกเวียงเชียงใหม่เข้ามาประดิษฐานในเมืองเชียงใหม่แล้วก่อกำแพงนั้นให้ดีดังเดิม
*** ข้อสงสัยหนึ่งเกี่ยวกับประตูเมือง คือ เนื้อความที่ย้อนแย้งกันในพงศาวดารโยนก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่  โดยราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงประตูเมืองสมัยพญามังรายว่ามี ๔ ประตู สอดคล้องกับพงศาวดารโยนกที่กล่าวถึงการเจาะประตูเพิ่มที่กำแพงเมืองด้านทิศใต้ ในสมัยพญาสามฝั่งแกนชื่อประตู “สวนแร” เพื่อเป็นประตูเข้าออกของพระตำหนักสวนแรที่อยู่นอกเมือง ต่างจากความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงประตูเมืองว่ามี ๕  ประตู ตั้งแต่แรกสร้าง
*** ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวลาต่อมาของกำแพงเมืองเชียงใหม่ คือ การรื้อกำแพงเมืองบริเวณมุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เพื่อสร้างพระราชวังด้านนอกเมืองและสร้าง       ประตูศรีภูมิ
***ทั้งนี้การบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในสมัยพระเมืองแก้ว ดังปรากฏความตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า “ชาวเชียงใหม่ชาวต่างเมืองปั้นดินและอิฐจักก่อเมฆเวียงเชียงใหม่ในปลีเมิงเปล้า สกราช 879ตัว ” การบูรณะกำแพงดังกล่าวใช้เวลาสืบเนื่องมาจนถึงพุทธศักราช 2063 จึงแล้วเสร็จ หลักฐานการซ่อมแซมกำแพงเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นครั้งสุดในรัชสมัยพระยากาวิละ ในปี 2344 ซึ่งในครั้งนี้มีการขุดลอกคูเมืองด้วย
*** จากเนื้อความที่ระบุว่าชาวเมืองเชียงใหม่ปั้นดินและอิฐก่อกำแพงเมืองเชียงใหม่ นำมาสู่ความสงสัยว่า กำแพงเมืองครั้งแรกสร้างเป็นเพียงกำแพงคันดินแล้วมาถูกปรับปรุงก่ออิฐในสมัยพระเมืองแก้วหรือไม่
    หากยังไม่นำข้อมูลของการขุดศึกษากำแพงเมืองเชียงใหม่มาพิจารณา แต่พิจารณาจากกำแพงเมืองที่ปรากฏมาก่อนเมืองเชียงใหม่ คือ เมืองเชียงแสน ที่มีการขุดศึกษาตั้งแต่ปี 2543 และ 2557 พบว่ากำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐ มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-12 แล้ว ดังนั้นจึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่ากำแพงเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกสร้างเป็นเพียงคันดินหรือเป็นกำแพงก่ออิฐอย่างที่เคยมีมาก่อนแล้วที่เชียงแสน และเพื่อคลายความสงสัย เรามาพิจารณาหลักฐานจากการขุดศึกษาทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงใหม่ เป็นอย่างไรมาชมและถกแถลงพิจารณากัน
*** หลักฐานจากการขุดศึกษาทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปี 2538 โดยกรมศิลปากร ซึ่งทำการขุดบริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ส่วนที่ต่อจากป้อมมุมเมือง และประตูเมือง(ประตูช้างเผือกและประตูสวนดอก)  และบริเวณแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก (กำแพงดิน) ด้านทิศตะวันตกของโรงพยาบาลสวนปรุง
 จากการขุดศึกษา สามารถตอบข้อสงสัยในประเด็นรูปแบบวิธีการสร้างกำแพงเมืองได้ว่า เป็นกำแพงอิฐที่ก่อครอบแกนดิน หรืออธิบายให้เข้าใจโดยง่ายคือ สร้างขึ้นโดยนำดินจากการขุดคูเมืองมาพูนเป็นคันกำแพงแล้วก่ออิฐหุ้ม แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือ การสร้างกำแพงเมืองและป้อมมุมเมืองเชียงใหม่ มิได้มีโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เหมือนกันทุกจุด โดยมีการออกแบบและสร้างแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่าฐานรากกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ด้านทิศเหนือของเมือง ที่ป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (แจ่งหัวลิน) และป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (แจ่งศรีภูมิ) และกำแพงเมืองที่ต่อจากแจ่งศรีภูมิออกไปทั้งสองข้าง มีการก่อคานฐานรากฝังลึกลงในระดับชั้นดินเดิม และยังมีการก่อคานในแนวขวางโยงยึดระหว่างคานฐานรากทั้งสองโดยบออัดดินเหนียวด้านใน แต่ที่ฐานรากกำแพงเมืองจุดอื่นกลับไม่พบลักษณะเช่นนี้ ลักษณะการก่อสร้างดังกล่าวตอบคำถามได้ด้วยข้อมูลกายภาพแวดล้อมพื้นที่ จากข้อมูลสำรวจพบว่าน้ำจากห้วยแก้วเข้าสู่คูเมืองเชียงใหม่ที่มุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(แจ่งหัวลิน) นอกจากนั้นด้านทิศเหนือของมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(แจ่งศรีภูมิ) นั้นเป็นที่ตั้งของหนองบัว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แรงกระทำของลำน้ำสองสายที่เกิดขึ้นบริเวณนี้  อาจทำให้แจ่งศรีภูมิและกำแพงเมืองบริเวณนี้มีโครงสร้างของฐานรากที่เป็นคานคู่และคานยึดโยง
*** ส่วนกำแพงเมืองด้านตะวันตก การไหลของกระแสน้ำคงมีอัตราเร่งต่ำ การก่อสร้างกำแพงเมืองด้านนี้จึงดำเนินการเพียงการก่อกำแพงอิฐครอบแกนดิน โดยฐานกำแพงตั้งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับพื้นถนนปัจจุบัน  
*** อีกข้อมูลหนึ่งจากการขุดศึกษาทางโบราณคดีบริเวณแจ่งศรีภูมิที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การพบหลักฐานการบูรณะที่น่าจะเกิดขึ้นสมัยพระเมืองแก้ว และความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ในราวปี 2204 ที่ระบุถึงการยิงธนูเพลิงเข้าไปในเมืองแล้วเกิดเพลิงไหม้ โดยปรากฏเป็นชั้นถ่านสีดำเหนือชั้นหลักฐานการบูรณะสมัยพระเมืองแก้ว และหลักฐานการบูรณะสมัยพระเจ้ากาวิลละที่เป็นแนวอิฐที่อยู่เหนือชั้นถ่านสีดำนี้
*** ทั้งนี้ในส่วนของกำแพงดินหรือกำแพงเมืองชั้นนอกนั้นมีผลการขุดทางโบราณคดีในปี 2538 และปี 2546 พบว่าใต้ชั้นคันดินกำแพงเมืองชั้นนอกเป็นชั้นดินที่พบภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ จากแหล่งเตาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 จึงสรุปได้ว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนขนาดใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ก่อนการเกิดขึ้นของกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่ง หากเจาะจงระยะเวลาลงไปอีกนิด อาจสันนิษฐานได้ว่ากำแพงเมืองชั้นนอกน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 1911-2060 จากการกำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีน และเอกสารโคลงนิราศหริภุญชัยที่น่าจะแต่งขึ้นในปี 2060 ที่เนื้อความกล่าวถึงการเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ไปเมืองลำพูนโดยผ่านกำแพงเมืองถึงสองชั้น
*** จากข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้เห็นพัฒนาการของกำแพงเมืองเชียงใหม่ว่ามีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสในช่วงแรกสร้างในสมัยพญามังราย และมีการสร้างกำแพงเมืองชั้นนอกโอบรอบด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของกำแพงเมืองชั้นใน ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นในส่วนตัวว่า กำแพงเมืองชั้นนอกน่าจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันน้ำท่วม ด้วยเหตุที่กำแพงเมืองชั้นนอกนี้มิได้โอบรอบกำแพงเมืองชั้นในครบทุกด้าน โดยพบว่า กำแพงเมืองชั้นนอกมีจุดเริ่มต้นที่มุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือโดยบรรจบกับแจ่งศรีภูมิ และโอบรอบเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยววกมาทางใต้บรรจบกับมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากายภาพของกำแพงเมืองชั้นนอกมีการวางตัวที่สอดรับกับความโค้งของลำน้ำปิงที่ตวัดเข้ามาใกล้เมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งทอดลงไปทางใต้ของเมืองเชียงใหม่
*** ในส่วนของประตูเมือง เมื่อพิจารณารูปแบบ โดยใช้หลักฐานแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ปี 2436 พบว่าประตูเมืองที่กำแพงเมืองชั้นในทั้ง 5 ประตู เป็นประตูเมืองแบบ 2 ชั้น กล่าวคือ ประตูเมืองที่อยู่บริเวณต่อเนื่องจากกำแพงเมืองมีลักษณะแบบแนวกำแพงที่สิ้นสุดลงและเว้นไว้เป็นช่องประตู และมีการก่อขอบยื่นออกไปจากตัวกำแพงเมืองโอบล้อมออกไปด้านหน้า และมีประตูที่หน้าหน้าอีกชั้น ทำให้ประตูเมืองมี 2 ชั้น และมี 2 ประตู ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าประตูเมืองที่กำแพงเมืองชั้นในเกือบทุกประตู มีลักษณะการทำให้เหลื่อม ไม่ตรงแนวกัน หากพิจารณาประโยชน์ใช้สอยแล้วประตูสองชั้นและช่องประตูที่เหลื่อมกันนี้อาจเป็นการออกแบบเพื่อประโยชน์ในการสงครามที่ทำให้ข้าศึกอยู่ในกรอบวงล้อมการโจมตีหากข้าศึกยกพลเข้าทางประตูเมือง ทั้งนี้การเป็นประตูเมืองแบบ 2 ชั้น ได้รับการพิสูจน์โดยการขุดตรวจทางโบราณคดีในปี 2545 จากกรณีที่ เทศบาลนครเชียงใหม่ขุดบ่อพักน้ำพุและพบแนวอิฐโบราณที่ก่อเป็นแนวยาวที่ผนังหลุมบ่อพักด้านตะวันตก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรูปแบบประตูช้างเผือกที่ปรากฏในแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ที่เป็นประตูเมืองแบบ 2 ชั้น โดยแนวอิฐที่พบน่าจะเป็นกรอบของข่วงประตูที่ยื่นออกไปจากตัวกำแพง ที่ทำให้ประตูมีลักษณะเป็นป้อมประตูขนาดใหญ่
*** จนกระทั่งปี 2561 มีงานขุดศึกษาในพื้นที่ประตูช้างเผือกอีกครั้งบริเวณกึ่งกลางข่วงประตู  จากการดำเนินการทำให้ทราบว่าบริเวณประตูช้างเผือกนี้อาจเคยมีหลังคามุงกระเบื้องในอดีต เนื่องจากพบเศษกระเบื้องมุงหลังคามากในชั้นดินใช้งาน ทั้งนี้ชั้นดินทับถมบริเวณประตูช้างเผือกมีข้อมูลประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ปรากฏชั้นดินอยู่อาศัยก่อนการสร้างประตูช้างเผือก โดยกำหนดช่วงเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 จากการพบเครื่องถ้วยเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาพานและเวียงกาหลง (ชั้นดินดังกล่าวมีระดับที่ต่ำกว่าฐานรากกำแพงเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างมาก) จึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่าการทำประตูชั้นที่สองยื่นออกมา อาจเป็นงานก่อสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งห้วงเวลาที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สุดก็คือ การบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่แล้วเสร็จในปี 2063 ซึ่งมีเนื้อความที่น่าสนใจที่ปรากฏในเอกสารชินกาลมาลีปกรณ์และพงศาวดารโยนกที่กล่าวเกี่ยวกับประตูเมืองว่า เมื่อบูรณะกำแพงเมืองแล้วเสร็จได้โปรดให้ “ยกประตูนครเชียงใหม่”
***ที่หยิบยกมาบอกเล่าในวันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์กำแพงเมืองเชียงใหม่ ผ่านกระบวนการทำงานและหลักฐานทางโบราณคดีจากเอกสาร ชั้นดินทับถม และโบราณวัตถุ ซึ่งพบว่าบางประเด็นค่อนข้างกระจ่างชัดเจน เช่น ช่วงเวลาการเกิดขึ้นของกำแพงเมืองชั้นนอก แต่ก็ยังมีมีบางประเด็นที่ยังติดค้างเป็นข้อสงสัย คือ กำแพงเมืองสมัยพญามังรายสร้าง เป็นเพียงคันดินหรือมีการก่ออิฐแล้ว เนื่องจากการขุดค้นพบอิฐกำแพงเมืองบริเวณแจ่งหัวลินที่มีเศษเครื่องถ้วยแหล่งเตาล้านนาในก้อนอิฐ แสดงให้เห็นว่ากำแพงเมืองที่เป็นอิฐเหล่านี้เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 จึงเป็นโจทย์การศึกษาในอนาคตที่ต้องเจาะลึกลงไปเพื่อหาคำตอบในประเด็นดังกล่าวนี้





















(จำนวนผู้เข้าชม 8066 ครั้ง)