...

โบราณโลหะวิทยาเชิงทดลอง
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง  ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี
เรียบเรียงโดย  นายสายกลาง  จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
---------------------------------
     การนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาอาจจะยาวกว่าทุกครั้งที่เคยเรียบเรียง เนื่องจากเป็นการประมวลข้อมูลเพื่อให้เห็นทั้งภาพกว้างและรายละเอียด ซึ่งครั้งนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมค่อนข้างมาก รวมถึงมีศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดทั้งเนื้อหา ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านค่อยๆทำความเข้าใจและดูภาพประกอบตาม คิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าในวันนี้คงไม่ยากเกินที่ผู้อ่านทุกท่านจะทำความเข้าใจได้แน่นอน และเรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้ คือ “ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี”
     สุโขทัยและล้านนา คือ สองอาณาจักรยิ่งใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงและสถาปนาขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สุโขทัยสถาปนาขึ้นก่อนในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนล้านนาสถาปนาต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งสองอาณาจักรมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในแบบมิตรภาพช่วยเหลือและเป็นคู่แข่งทางการเมืองตามวิถีการก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาหลงเหลือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจวบจนปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปแบบผังเมือง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯ
     ครั้งนี้เราจะมาลองคลี่ร่องรอยหลักฐานและแนวคิดของสุโขทัย ที่ทิ้งไว้ในพื้นที่ล้านนา ว่ามีอะไร และปรากฏที่ใดบ้าง
     ก่อนอื่นถ้าลองลิสต์เรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนามาคร่าวๆ เราพอจะเห็นกรอบความสัมพันธ์ว่าล้านนากับสุโขทัยสัมพันธ์ในเรื่องใด ห้วงเวลาใด
     ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายว่าได้เชิญพญางำเมืองกับพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) มาให้คำปรึกษาในการสร้างเมือง
     ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึง พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาจำพรรษาที่เชียงใหม่เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์
     ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท้าวยี่กุมกามพาพระยาไสลือไทเข้ามาตีเอาเมืองเชียงใหม่จากพญาสามฝั่งแกน แต่ไม่สำเร็จ
ส่วนหลักฐานเชิงประจักษ์ อะไรคืออัตลักษณ์แห่งสุโขทัยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ความเป็นสุโขทัยได้มาตั้งมั่นอยู่ในที่ต่างๆของล้านนาแล้ว
     เท่าที่ผู้เขียนพอจะวิเคราะห์ได้ อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยที่เด่นชัดในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประกอบด้วยสิ่งดังนี้
1.เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์
2.บัวถลา (องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์)
3.เจดีย์ช้างล้อม
4.มณฑป
5.การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักที่น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดของสุโขทัยที่ปรากฏในล้านนา คือ รูปแบบผังเมืองที่เมืองที่เชียงใหม่อาจได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองและระบบน้ำจากสุโขทัย
     จากการเปรียบเทียบผังเมืองเชียงใหม่และสุโขทัย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมีนัยยะทั้งในเรื่องรูปแบบ แผนผังและขนาด โดยพบว่าผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยทิศตะวันตกของเมืองเป็นภูเขา มีการชักน้ำจากเขาด้านตะวันตกมาสัมพันธ์กับเมือง เมืองสุโขทัยมีการวางระบบชลประทานด้วยการสร้างคันดินกั้นระหว่างเขาเกิดเป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำที่เรียกกันว่า สรีดภงส์ น้ำจากสรีดภงส์ไหลเข้าสู่คูเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้  ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นชักน้ำจากดอยสุเทพผ่านห้วยแก้วมาเข้าคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแจ่งหัวลิน ทั้งสองเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สุโขทัยมีบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นทำนบ 3 ด้าน ระบบชลประทานเหล่านี้ของสุโขทัยน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏคำจารึกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑  (พ.ศ.1835) ว่า “เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏี พิหาร ปู่ครูอยู่ มี สรีดภงส์...”  ถ้าดูในส่วนของเมืองเชียงใหม่จะพบว่าแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 แสดงตำแหน่งสระขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หนองบัว” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมือง สอดคล้องกับเนื้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงชัยมงคลข้อหนึ่งในการสร้างเมืองที่เป็นหนองน้ำใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง  ด้านขนาดพบว่าทั้งสองเมืองมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเมืองเชียงใหม่มีขนาดกว้างด้านละประมาณ 1,600 เมตร ส่วนเมืองสุโขทัย กว้าง 1,400 เมตร ยาว 1,810 เมตร เมื่อเทียบเวลาการครองราชย์และช่วงเวลาสร้างเมืองพบว่าพญาร่วงครองราชย์ปี 1822 โดยเวลานั้นมีการย้ายเมืองจากบริเวณวัดพระพายหลวงมาเป็นเมืองสุโขทัยที่มีผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่นี้แล้ว โดยเมืองเชียงใหม่ถูกการสถาปนาขึ้นให้หลังไปอีกเล็กน้อยในปี 1839 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองเชียงใหม่อาจได้รับรูปแบบการวางผังเมืองจากสุโขทัย (ในประเด็นนี้ได้มีการเสนอแนวคิดใหม่ในปัจจุบันว่า อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผังเมืองเชียงใหม่จะได้รับอิทธิพลจากทางพม่าหรือจีนด้วยอีกทาง)
     มาสู่เรื่องหลักฐาน รูปแบบ องค์ประกอบเจดีย์ของสุโขทัย ที่ปรากฏตามที่ต่างๆของล้านนา อัตลักษณ์แรกของสุโขทัยที่จะหยิบยกมากล่าว คือ “เจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ชนิดที่ว่าไปอยู่ที่ไหน เหมือนมีเสียงตามสายประกาศว่า สุโขทัยมาแล้วจ้า
     ในล้านนาพบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งหมด 4 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง ซึ่งเป็นวัดร้างนอกประตูเมืองเชียงใหม่ทิศใต้ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ เจดีย์ประจำมุมของวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน ปัจจุบันปรากฏสภาพหลงเหลือเพียง 2 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง และเจดีย์วัดพระเจ้าดำ
     เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ คืองานรังสรรค์ออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของสุโขทัย เพราะเป็นการนำของเก่า คือ องค์ประกอบของปราสาทขอม ล้านนา ผสมผสานเข้ากับการออกแบบใหม่ การนำฐานบัวลูกแก้วอกไก่แบบล้านนา ต่อด้วยฐานบัวลูกฟักแบบขอม เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุแบบขอมที่บีบให้สูงเพรียวประดับด้วยกลีบขนุนที่มุม คือการนำอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมประยุกต์และผนวกเข้ากับส่วนยอดที่เป็นองค์ระฆังแบบดอกบัวตูมซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ ทำให้เกิดเป็นเจดีย์รูปแบบใหม่ต่างจากเจดีย์ทุกแบบที่มีในโลก ทั้งนี้เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ในล้านนาที่มีความเหมือนกับต้นแบบในเมืองสุโขทัยมากที่สุด  คือ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ โดยมีสัดส่วนและระเบียบเหมือนกับที่มีในสุโขทัย ประกอบกับการพบกำแพงแก้วล้อมรอบวัดเป็นลักษณะเสาระเนียด แบบเดียวกันกับที่ปรากฏที่เมืองศรีสัชนาลัยที่วัดช้างล้อม ต่างเพียงเสาระเนียดของวัดช้างล้อมสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระเจ้าดำสร้างด้วยอิฐหน้าวัวก่อเรียงขึ้นรูปเป็นเสากลม จึงกล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้มีความเป็นสุโขทัยอย่างแท้จริง ในส่วนเจดีย์วัดธาตุกลางนั้น มีลักษณะที่กลายไปจากต้นแบบพอสมควร คือ เหนือเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังแทนที่จะเป็นลักษณะดอกบัวตูมตามแบบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ และเหนือองค์ระฆังมีบัลลังค์ในผังกลม ซึ่งตามระเบียบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ส่วนเจดีย์อีกสององค์ที่ไม่ปรากฏสภาพในปัจจุบันแต่ทราบได้จากภาพถ่ายเก่าคือเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน และเจดีย์ประจำมุมวัดสวนดอก ซึ่งถูกก่อครอบในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยและเนื้อหาประวัติศาสตร์พบว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนรัชสมัยพระเจ้าลิไท ของสุโขทัย เนื่องจากปรากฏข้อความในจารึกเขาสุมนกูฎ ที่ระบุว่าพระยาลิไทเสด็จไปปิดทองพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.1912 แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นรูปแบบหลักของเจดีย์ประธานช่วงสมัยพระเจ้าลิไท ในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัยในล้านนา คือ การที่พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาประดิษฐานศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในช่วงเวลานี้
     อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยลำดับสองที่จะขอกล่าวถึง คือ “บัวถลา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มักจะพบในเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย
     ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย มีลักษณะอย่างไร
     เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและต่อด้วยบัวคว่ำซ้อนกันหรือที่เรียกว่าบัวถลาซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังมีขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นปล้องไฉนและปลียอด  ในล้านนามีการนำองค์ประกอบสำคัญในเจดีย์สุโขทัยมาประยุกต์ใช้กับเจดีย์ล้านนา คือ การนำบัวถลา (ชุดบัวคว่ำ) มารองรับองค์ระฆังแทนชุดบัวคว่ำ-หงาย
     เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยที่เหมือนกับต้นแบบในสุโขทัยที่สุดที่พบในล้านนา คือ กู่ม้า จังหวัดลำพูน โดยเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่อยู่บนฐานเขียงแบบเรียบง่าย องค์เจดีย์รองรับด้วยบัวถลาซ้อน 3 ชั้น กู่ม้านี้กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 จากการเทียบเคียงกับเครื่องถ้วยล้านนาจากการขุดทางโบราณคดีในพื้นที่ เมื่อพิจารณาร่วมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่ากู่ม้าอาจสร้างขึ้นในคราวที่พระสุมนเถระพำนักอยู่ที่เมืองลำพูนก่อนจะไปจำพรรษายังเมืองเชียงใหม่ อีกแห่งคือเจดีย์วัดป่าแดงบุนนาค จังหวัดพะเยา วัดแห่งนี้พบจารึกระบุผู้สร้างคือพญาร่วง ซึ่งน่าจะหมายถึง พญายุธิษฐิระ ที่มาจากเมืองสองแควมาสวามิภักดิ์ต่อพญาติโลกราชและได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองพะเยา ภายในเจดีย์พบพระพุทธรูปที่ระบุว่าสร้างปี 2019 หลักฐานดังกล่าวจึงยืนยันถึงอิทธิพลสุโขทัยที่มีอย่างต่อเนื่องในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
     การปรากฏของบัวถลาในล้านนาในเวลาต่อมาเริ่มมีการนำส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นบัวถลาผสมผสานเข้ากับชุดฐานบัวแบบล้านนา ดังปรากฏในเจดีย์กลุ่มเมืองลำปาง อาทิ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่น่าจะกำหนดอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ตามหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุลำปางหลวงในปี 2019 และเจดีย์วัดพระแก้วดอนเต้า ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบดูว่าการนำบัวถลาไปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆังปรากฏอยู่ที่พื้นที่ใดของล้านนามากที่สุด พบว่าเชียงใหม่คือพื้นที่ที่ปรากฏบัวถลาในเจดีย์มากที่สุด อาทิ บัวถลาในผังกลม ที่วัดป่าพร้าวใน วัดหนองหล่ม วัดแสนตาห้อย วัดกลางเวียง (เวียงท่าท่ากาน)  / บัวถลา 8 เหลี่ยม  วัดเชษฐา วีดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น วัดป่าอ้อย วัดอุโมงค์อารยมณฑล / บัวถลา 12 เหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพ วัดชมพู วัดหมื่นพริก วัดหัวข่วง วัดต้นโพธิ์ (เวียงท่ากาน) ฯ ในส่วนของบัวถลาที่ปรากฏในเจดีย์พื้นที่เมืองแพร่นั้น เป็นกรณีพิเศษแยกออกมากล่าวถึงเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีการสร้างรูปแบบเป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน โดยขอหยิบยกเจดีย์พระธาตุช่อแฮมาเป็นกรณีศึกษา
     พระธาตุช่อแฮมีความเป็นสุโขทัยปรากฏในการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลา  ส่วนความเป็นล้านนา คือ การทำส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม หากพิจารณาถึงหลักฐานการมีขึ้นของเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม พบว่าเกิดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยพระเจ้าติโลกราช ปรากฏที่เจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้หากทบทวนการเกิดขึ้นของรูปแบบเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รัตนเจดีย์ เมืองหริภุญชัย(ลำพูน)ก่อน จากนั้นจึงมาปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ที่เจดีย์อินทขิล เชียงใหม่ และมาปรากฏหลักฐานอีกครั้งที่อนิมิสเจดีย์ หนึ่งในสัตมหาสถานของวัดเจ็ดยอดในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่ารูปแบบการสร้างเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมเกิดขึ้นบริเวณล้านนาฝั่งตะวันตก (แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน) แต่สิ่งที่เมืองแพร่ปรับปรุงให้มีความเป็นเฉพาะตนคือ การมีหน้ากระดานของชุดบัวถลาแต่ละชุดมีขนาดใหญ่กว่าบัวถลาค่อนข้างมาก บัวถลาในผังแปดเหลี่ยมของวัดพระธาตุช่อแฮ (และในเมืองแพร่) มีพัฒนาการต่อเนื่องจากบัวถลาซ้อน 7 ชั้น สู่ 10 ชั้น ที่เจดีย์วัดพระธาตุจอมแจ้ง ส่วนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่พบการทำชั้นบัวถลาเพียง 3 – 5 ชั้น จึงกล่าวได้ว่าเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมซ้อน 7 – 10 ชั้น เป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์เมืองแพร่ที่ผนวกทั้งความเป็นสุโขทัย ล้านนาฝั่งตะวันตก และความเป็นตัวของตัวเอง
     ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าตั้งแต่ช่วงพญาสามฝั่งแกน – พญาติโลกราช (กลางพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) รูปแบบเจดีย์น่าจะเป็นเรื่องสำคัญของสังคมสงฆ์ในเวลานั้นที่ค่อนข้างแบ่งฝักฝ่าย แต่ละนิกายจึงต้องมีรูปแบบทางศิลปกรรมของตนเองที่ชัดเจนและพยายามรักษารูปแบบของตนเองเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของนิกาย เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน เจดีย์แบบดั้งเดิมที่นิยมในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เชียงแสน คือเจดีย์ทรงทรงปราสาท (เจดีย์กู่กุด เจดีย์เชียงยืน เจดีย์วัดธาตุเขียว เจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์กู่คำ) โดยมีการปรากฏขึ้นของเจดีย์ทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในพุกามที่เป็นศิลปะลังกา คือ เจดีย์ฉปัฏ ที่สร้างขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถ้าพิจารณาตามนี้จะเห็นว่ารูปแบบเจดีย์ในนิกายพื้นเมืองเดิมก่อนการเข้ามาของพระสุมนเถระ คือ เจดีย์แบบปราสาทยอดที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหริภุญชัย และเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาที่ได้รับมาจากพุกาม ซึ่งอย่างหลังนี้ได้ถูกพัฒนาต่อโดยการรักษาส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายไว้ แต่ดัดแปลงเปลี่ยนเส้นลูกแก้วทั้งสองเส้นที่คาดที่ท้องไม้ชุดบัวไปเป็นลูกแก้วอกไก่ และเปลี่ยนจากฐานเขียงไปเป็นชุดฐานบัวสองฐานในผังยกเก็จ ซึ่งรูปแบบนี้มีระเบียบสมบูรณ์ครั้งแรกในเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย
     ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเจดีย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนทางรูปแบบที่สำคัญ คือ เจดีย์วัดป่าแดง และเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า พญาติโลกราชเลือกสร้างเจดีย์วัดป่าแดง (พ.ศ.1991) ให้มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเป็นบัวถลาและฐานมีช้างล้อมแทนที่จะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เพราะเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา ซึ่งสองพระองค์น่าจะอุปถัมป์สงฆ์นิกายวัดสวนดอก(ลังกาวงศ์สายรามัญ) ที่สืบองค์ความรู้ทางโบราณคดี กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
*********
โบราณโลหะวิทยาเชิงทดลอง (Experimental Archaeometallurgy) :
กรณีศึกษาการทดลองถลุงเหล็กสมัยโบราณตามแบบเตาถลุงเหล็กของแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
โดย นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีชำนาญการ เรียบเรียง
*********
ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานโบราณคดีของกรมศิลปากร โครงการโบราณโลหะวิทยาในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
*********
กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) : ขอขอบพระคุณ คุณประพจน์ เรืองรัมย์และคุณเพชร เรืองรัมย์ นายช่างถลุงและตีเหล็กแบบโบราณแห่งบ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ช่วยอนุเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยีการถลุงเหล็กแบบโบราณจากประสบการณ์การการถลุงเหล็กและตีเหล็กมาอย่างยาวนานและเป็นผู้ทดลองสาธิตการถลุงเหล็กในครั้งนี้ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร ขอขอบพระคุณในความเอื้อเฝื้อและความเป็นพันธมิตรทางวิชาการเป็นอย่างสูง
*********
ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) : บทความนี้เป็นงานโบราณคดีเชิงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นผลการทดลองนำร่องครั้งที่ 1 โดยมีการควบคุมตัวแปรควบคุมต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่งบประมาณ ระยะเวลาและทักษะเชิงช่างจะเอื้ออำนวย ซึ่งโดยธรรมชาติของการทดลองทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีการทดลองซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีความแม่นยำและชัดเจนมากที่สุด (อาจได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากการทดลองครั้งนี้ได้) โดยการนำเสนอผลการทดลองนี้มีจุดมุ่งหมายหลักที่จะสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นกระบวนทัศน์ทางโบราณโลหะวิทยาเชิงทดลอง (Experimental Archaeometallurgy) และการประยุกต์ใช้กับงานโบราณคดีจริงของวงการวิชาการโบราณคดีไทย อันเป็นตัวอย่างในการทำงานที่สามารถนำผลการทดลองไปทำการทดลองซ้ำหรือต่อยอดวิจัยในอนาคตต่อไปได้
********
 โบราณโลหะวิทยาเชิงทดลอง (Experimental Archaeometallurgy) เริ่มมีความตื่นตัวในการศึกษาวิจัยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s ภายใต้แนวคิดของนักโบราณคดีสำนักคิดโบราณคดีกระบวนการ (Processaul Archaeology) หรือโบราณคดีใหม่ (New Archaeology) ของโลกตะวันตก ที่เน้นการตรวจสอบสมมุติฐานหรือข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีด้วยกระบวนการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์  โดยเริ่มแรกเป็นงานทดลองถลุงโลหะประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการถลุงทองแดงและเหล็กทั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ โดยในปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมจากนักโบราณคดีที่มีความสนใจเรื่องการถลุงโลหะจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ ในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้โดยเฉพาะเรื่องการถลุงเหล็กจากนักโบราณคดีไทยรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถือเป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทายการตั้งคำถามและการวิจัยต่อวงวิชาการโบราณโลหะวิทยาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
 การทดลองถลุงโลหะดังกล่าวข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามทางด้านกระบวนการถลุงโลหะสมัยโบราณ (Smelting Operation) โดยมีหลักการสำคัญคือการออกแบบงานทดลอง รื้อฟื้น (Reconstruction) และควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบในแหล่งถลุงโลหะนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด เช่น วัสดุในการสร้างเตา แร่ ระบบลม อุณหภูมิ เชื้อเพลิง หรือแม้กระทั่งพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการถลุง เป็นต้น ยังมีการประยุกต์ใช้การเก็บข้อมูลทางโบราณคดีชาติพันธุ์ในกลุ่มคนที่ยังคงรักษาเทคโนโลยีการถลุงโลหะแบบโบราณดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อนำข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนงานทางโบราณโลหะวิทยา นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุความทรงจำหรือแม้กระทั่งมุขปาฐะ มาประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีอีกด้วย  โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดคือเพื่อลำดับกระบวนการผลิตมวลโลหะ (Chaîne Opératoire of Ingot) จากก้อนแร่ (Iron Ore) สู่การเป็นมวลโลหะ (Ingot) ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและอิทธิพลของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการถลุงโลหะสมัยโบราณได้
 ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอผลการทดลองถลุงเหล็กสมัยโบราณตามกระบวนทัศน์ดังกล่าวข้างต้น โดยเป็นการจำลองเตาถลุงเหล็กที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณแบบทางตรง (Direct Process) แห่งสุดท้ายของดินแดนล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 (ประมาณ 100 – 200 ปีมาแล้ว) ซึ่งถือเป็นการทดลองถลุงเหล็กสมัยโบราณแบบทางตรงที่ใช้แร่เหล็กฮีมาไทต์ (Hematite/แร่เหล็กสีเลือดนก) ซึ่งเป็นแร่เหล็กที่ไม่เหนี่ยวนำแม่เหล็กเป็นครั้งแรกของกรมศิลปากร โดยเป็นแร่เหล็กที่ใช้ในการทดลองถลุงเป็นแร่เหล็กชนิดและเหมืองแร่เหล็กเดียวกัน (เหมืองแร่เหล็กดอยเหล็ก)กับที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้มและยังกำหนดตัวแปรควบคุมต่างๆ ในการทดลองให้ใกล้เคียงกับหลักฐานทางโบราณคดีมากที่สุด เช่น เชื้อเพลิง ปริมาณแร่ วัสดุที่ก่อสร้างเตา รูปแบบโครงสร้างเตา เป็นต้น โดยการจำลองเตาจะใช้ขนาดและรูปแบบเดียวกันกับที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีฯ จากการรวบรวมข้อมูลลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างเตาถลุงเหล็กจากผลการดำเนินงานทางโบราณคดีของกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2561 พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2565 พบว่าเตาถลุงเหล็กทั้งหมดที่ขุดค้นพบก่อด้วยดินและมีขนาดเกือบจะเท่ากันทุกเตา เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยแล้วเตาถลุงเหล็กของแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้มมีลักษณะเป็นรูปทรงวงรี มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 29.75 เซนติเมตร (หรือ 30 เซนติเมตร) ยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร  ผนังมีความหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีความสูงไม่ต่ำกว่า 70 เซนติเมตร สัณฐานของเตาถลุงเมื่อมองจากมุมบนจะมีลักษณะเป็นรูปวงรี โครงสร้างแต่ละเตาก่อด้วยดินเผาเรียงตัวในแนวเดียวกัน (ทิศเหนือ – ใต้) มีการเสริมความมั่นคงให้กับผนังเตาแต่ละเตาด้วยการเติมช่องว่างระหว่างเตาที่มีระยะห่างประมาณ 0.5 – 1 เมตร ด้วยการก่อแนวอิฐ แนวหิน หรือใช้ก้อนตะกรันผสมดินเหนียวก่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างเตาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผนังเตาทุกเตา สันนิษฐานว่าเตามีลักษณะเป็นทรงสูง (Sharf Furnace) ที่มีส่วนยื่นยาวออกมาทางด้านหน้าเตาเป็นทางระบายตะกรัน พื้นเตามีลักษณะลาดเอียงประมาณ 25 องศา ปล่องเตามีความกว้างไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร ที่ปลายก้นเตาด้านตะวันออกของเตามีการเจาะช่องวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 – 15 เซนติเมตร สำหรับเป็นที่ใส่ช่องปลายหุ้มท่อลมดินเผา ปลายปากเตาด้านหน้าเป็นช่องระบายตะกรันออกมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่ามีการใช้ก้อนอิฐอุดปากเตาในขณะที่ทำการถลุง โดยพบก้อนอิฐบริเวณด้านหน้าเตาจำนวนหนึ่ง
 ขั้นตอนการถลุงจะเริ่มจากการอุ่นเตาโดยการเติมถ่านเชื้อเพลิงอัดแน่นภายในห้องถลุงจนถึงปากปล่องเตาและปล่อยให้เชื้อเพลิงเผาไหม้เป็นเวลาประมาณ 15 นาที เมื่อมีเปลวไฟพ่นออกจากปล่องเตาแล้วจึงเริ่มเติมแร่เหล็กลงไป โดยเริ่มต้นที่ 0.5 กิโลกรัม เมื่ออุณภูมิห้องถลุงคงที่แล้ว จึงเริ่มใส่แร่เหล็กครั้งละ 1 กิโลกรัม สลับกับเติมถ่านเชื้อเพลิงครั้งละ 2 กิโลกรัม โดยเว้นระยะการเติมแร่และถ่านเชื้อเพลิงตามลักษณะการยุบตัวของถ่านเชื้อเพลิงที่บริเวณปากปล่องเตา จากการทดลองใช้ระเวลาทิ้งช่วงประมาณ 6 – 10 นาที ในการเติมแร่และถ่านเชื้อเพลิงในแต่ละครั้ง ในช่วงระหว่างการถลุงให้สังเกตสีไฟ การไหลของตะกรันเหลว และการก่อตัวของก้อนเหล็กแข็งหรือกึ่งของแข็งมีตะกรันปะปน (Bloom) ภายในเตาโดยดูได้จากช่องดูไฟที่อยู่ติดกับท่อลมโลหะ หากมีการสะสมตัวของตะกรันเหลวมากจนเกินไปให้รีบเจาะผนังเตาหรือเปิดปากเตาเพื่อระบายเอาตะกรันออกไม่ให้อุดตันช่องลมในห้องเผา เมื่อเติมแร่เหล็กจนครบปริมาณ 30 กิโลกรัมและภายในเตามีการก่อตัวของก้อนเหล็กแข็งหรือกึ่งของแข็งมีตะกรันปะปน (Bloom) (ใช้เหล็กยาวเรียวกระทุ้งเข้าไปในช่องดูไฟจะสัมผัสได้ถึงลักษณะก้อนเหล็กแข็งแน่นเหล็กเรียวยาวไม่สามารถทะลุผ่านได้เมื่อกระทุ้ง) แล้ว ให้ปล่อยให้ถ่านเชื้อเพลิงทำการเผาไหม้ต่อประมาณ 30 – 45 นาที จึงเปิดผนังเตานำเอาก้อนเหล็กแข็งหรือกึ่งของแข็งมีตะกรันปะปน (Bloom) ออกจากเตาแล้วแช่น้ำเย็น ก่อนจะทิ้งไว้ให้เย็นตัวลงแล้วนำไปตีกำจัดมลทินต่อไป
 จากการทดลองเบื้องต้นพบว่าการถลุงให้ผลผลิตเป็นปริมาณมวลเหล็กเกือบบริสุทธิ์ (Iron Ingot) ในปริมาณที่น่าพอใจ โดยได้มวลเหล็กเกือบบริสุทธิ์ (Iron Ingot) น้ำหนัก 2 กิโลกรัม โดยตีกำจัดมลทินออกจากก้อนเหล็กแข็งหรือกึ่งของแข็งมีตะกรันปะปน (Bloom) น้ำหนัก 11 กิโลกรัม ในการถลุงใช้แร่เหล็กฮีมาไทต์ปริมาณ 30 กิโลกรัม ถ่านเชื้อเพลิงปริมาณ 86.1 กิโลกรัม มีอัตราส่วนแร่และถ่านอยู่ที่ 1 : 2 และอัตราส่วนมวลเหล็กเกือบบริสุทธิ์และแร่เหล็ก อยู่ที่ 15 : 1 ใช้ระยะเวลาในการถลุงประมาณ 4 ชั่วโมง จากการทดลองครั้งนี้สามารถเติมเต็มองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการถลุงเหล็กสมัยโบราณของแห่ลงโบราณคดีบ้านนาตุ้มให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในการทดลองในอนาคตควรมีการศึกษาประเด็นเรื่องการประยุกต์ใช้ระบบสูบลมแบบโบราณที่ยังมิได้ทดลองในการดำเนินงานครั้งนี้ เนื่องด้วยปัญาด้านวิธีการสร้าง วัสดุ งบประมาณ ระยะเวลา รวมถึงทักษะในการสูบลม อย่างไรก็ตามจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลทางโบราณคดีชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่และงานประติมากรรมโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏลักษณะร่วมของระบบสูบลมโบราณโดยเป็นลักษณะระบบสูบลมแบบสองสูบ (Double piston bellow) ซึ่งในประเด็นนี้ควรได้รับการจำลองและทดลองทางโบราณคดีอย่างยิ่งในอนาคต
*******
เอกสารอ้างอิง :
จตุรพร เทียมทินกฤตและพลพยุหะ ไชยรส, รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเบื้องต้น แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ.2562. กรมศิลปากร : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่, 2562. เอกสารอัดสำเนา.
ชิดชนก ถิ่นทิพย์, รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเบื้องต้น แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการโบราณโลหะวิทยาพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2565. กรมศิลปากร : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่, 2565. เอกสารอัดสำเนา.
พลพยุหะ ไชยรส. รายงานการสำรวจทางโบราณคดีแหล่งโลหกรรมสมัยโบราณในบริเวณแอ่งที่ราบลองวังชิ้น จังหวัดแพร่ ตามหลักกระบวนงานโบราณโลหะวิทยา (Archaeometallurgy).          กรมศิลปากร : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่, 2561. เอกสารอัดสำเนา.
สว่าง เลิศฤทธิ์, 2547. โบราณคดี : แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Doonan R. C. P. and Dungworth D, 2013. “Experimental archaeometallurgy in perspective”, in Accidental and Experimental Archaeometallurgy. London. 1-11.
Forrest, Carolyn, 2008. "The Nature of Scientific Experimentation in Archaeology: Experimental Archaeology from the Nineteenth to the Mid Twentieth Century" in Experiencing Archaeology by Experiment. Oxford: Oxbow Books.
Heather Margaret-Louise Miller,2009. Archaeological Approaches to Technology. California: Left Coast Press Inc.
Justine Bayley, David Crossley and Matthew Ponting, 2008. Metal and Metalworking : A research framework for Archaeometallurgy. London : English Heritage.
Michael Charlton, 2010. “Explaining the evolution of ironmaking recipes – An example from northwest Wales.”in Journal of Anthropological Archaeology. 29, 357.
Roberts, Benjamin W. and others, 2014. Archaeometallurgy in Global Perspective : Methods and Syntheses. NewYork : Springer.
Stanley J. O'Connor, 1985.. "Metallurgy and Immortality at Candi Sukuh, Central Java" in Indonesia. 39: 57.















(จำนวนผู้เข้าชม 671 ครั้ง)


Messenger