เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี ตอนที่ 2 : หลักฐานใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเชียงราย
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง "เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี ตอนที่ 2 : หลักฐานใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเชียงราย"
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษา
. ปี พ.ศ.2560 มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราชได้แจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ว่า พบโบราณวัตถุในบริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในพื้นที่ค่ายฯ จึงขออนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้มีโอกาสดำเนินการทางโบราณคดี
. สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีโบราณสถานดอยเจดีย์ และสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่ค่ายฯ ทั้งหมด ผลจากการศึกษาทางโบราณคดีเบื้องต้นพบแหล่งโบราณคดี ทั้งประเภทที่เป็นศาสนสถานและแหล่งที่อยู่อาศัย
. โดยพื้นที่บนเขาเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน ทั้งที่ตั้งอยู่บนยอดเขาและกลางเนินเขา ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นทำเลที่สามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบได้ ใช้สังเกตการณ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ชุมชนหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนาแน่นในบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกกองร้อยของค่ายฯ เช่น กล้องยาสูบดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบทั้งจากเตาในล้านนาและจากแหล่งเตาในประเทศจีน นอกจากนั้น ยังมีบริเวณที่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย พบหลักฐานทางโบราณคดีบนผิวดินเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ประเภทภาชนะแบบเคลือบสีเขียว ได้แก่ ฝากระติก และผางประทีป จากแหล่งเตาวังเหนือ ไห กระปุก และพาน จากแหล่งเตาพาน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น คงเป็นผู้มีฐานะสูงหรือมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนทั่วไปจะใช้ภาชนะดินเผาเนื้อดินที่พบโดยทั่วไปมากกกว่า
. โบราณสถานที่พบภายในมณฑลทหารบกที่ 37 เกือบทั้งหมดก่อสร้างด้วยอิฐ ยกเว้นเพียงแห่งเดียว ที่ใช้ศิลาแลงก่อ ซึ่งปัจจุบันสำรวจพบแหล่งตัดศิลาแลงที่บ้านป่าอ้อดอนไชย แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดของแหล่งฯ ว่ามีความสามารถในการผลิตมากน้อยเท่าไหร่ อาจเป็นไปได้ว่ามีแหล่งตัดศิลาแลงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมากกว่าหนึ่งแห่ง เนื่องจากมีโบราณสถานหลายแห่งในเมืองเชียงแสน และโบราณสถานในอำเภอเทิงที่ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง เป็นองค์ประกอบของส่วนฐานและเสา
. โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจและขุดศึกษาภายในค่ายเม็งรายมหาราช ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพานและเตาเวียงกาหลง ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอร์ตซ์ รูปแบบเจดีย์แปดเหลี่ยม และรูปแบบของพระพุทธรูปที่ถูกกล่าวอ้างว่าค้นพบบนโบราณสถานดอยเจดีย์ สามารถกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – พุทธศตวรรษที่ 21 รวมทั้ง ค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของอิฐที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานดอยเจดีย์ โดยวิธีเรืองแสงความร้อน (TL) ได้ค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
. ในห้วงเวลานี้ เป็นช่วงที่เมืองเชียงรายถูกปกครองด้วยขุนนาง แต่ก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากเราพบการกล่าวถึงเมืองเชียงราย ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆของล้านนา
. เป็นที่น่าสังเกตว่า โบราณวัตถุที่พบมีความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ผลิตค่อนข้างมาก ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอร์ตซ์ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่หลากหลายในช่วงสมัยเดียวกัน ไม่ได้มีการแบ่งเครื่องมือเครื่องใช้จากวัสดุที่ใช้ผลิตตามเกณฑ์การแบ่งอายุสมัยตามแบบแผน
. ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการนี้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ไม่เฉพาะในพื้นที่ค่ายฯ เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงรายที่สร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ตลอดจนเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถยืนยันอายุของเมืองเชียงรายได้ในเบื้องต้น และถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองเชียงรายได้ดีที่สุด
- เอกสารอ้งอิง -
กองโบราณคดี. โบราณคดีเชียงราย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533.
บวรเวท รุ่งรุจีและคณะ, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ). ม.ป.ท., 2529.
สุภาพร นาคบัลลังก์ บรรณาธิการ. จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้ง
ศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. นามานุกรมแหล่งมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ล้านนาตะวันตก. เชียงใหม่ :
เชียงใหม่สแกนเนอร์, 2560.
อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย. เชียงราย : สำนักพิมพ์ล้อล้านนา, 2559.
- เอกสารนำเสนอ -
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เอกสารประกอบการอบรมเครื่องปั้นดินเผาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. 2558.
- บุคคล -
ดร.ฐานนท์ จิตเขม้น นักโบราณคดีอิสระ (เฉพาะทางเทคโนโลยีเครื่องมือหิน Lithic Technology)
เรื่อง "เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี ตอนที่ 2 : หลักฐานใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเชียงราย"
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษา
. ปี พ.ศ.2560 มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราชได้แจ้งมายังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ว่า พบโบราณวัตถุในบริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในพื้นที่ค่ายฯ จึงขออนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้มีโอกาสดำเนินการทางโบราณคดี
. สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีโบราณสถานดอยเจดีย์ และสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่ค่ายฯ ทั้งหมด ผลจากการศึกษาทางโบราณคดีเบื้องต้นพบแหล่งโบราณคดี ทั้งประเภทที่เป็นศาสนสถานและแหล่งที่อยู่อาศัย
. โดยพื้นที่บนเขาเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน ทั้งที่ตั้งอยู่บนยอดเขาและกลางเนินเขา ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นทำเลที่สามารถมองเห็นพื้นที่โดยรอบได้ ใช้สังเกตการณ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ชุมชนหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนาแน่นในบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกกองร้อยของค่ายฯ เช่น กล้องยาสูบดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเครื่องเคลือบทั้งจากเตาในล้านนาและจากแหล่งเตาในประเทศจีน นอกจากนั้น ยังมีบริเวณที่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย พบหลักฐานทางโบราณคดีบนผิวดินเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ประเภทภาชนะแบบเคลือบสีเขียว ได้แก่ ฝากระติก และผางประทีป จากแหล่งเตาวังเหนือ ไห กระปุก และพาน จากแหล่งเตาพาน แสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น คงเป็นผู้มีฐานะสูงหรือมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนทั่วไปจะใช้ภาชนะดินเผาเนื้อดินที่พบโดยทั่วไปมากกกว่า
. โบราณสถานที่พบภายในมณฑลทหารบกที่ 37 เกือบทั้งหมดก่อสร้างด้วยอิฐ ยกเว้นเพียงแห่งเดียว ที่ใช้ศิลาแลงก่อ ซึ่งปัจจุบันสำรวจพบแหล่งตัดศิลาแลงที่บ้านป่าอ้อดอนไชย แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงขนาดของแหล่งฯ ว่ามีความสามารถในการผลิตมากน้อยเท่าไหร่ อาจเป็นไปได้ว่ามีแหล่งตัดศิลาแลงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมากกว่าหนึ่งแห่ง เนื่องจากมีโบราณสถานหลายแห่งในเมืองเชียงแสน และโบราณสถานในอำเภอเทิงที่ใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง เป็นองค์ประกอบของส่วนฐานและเสา
. โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจและขุดศึกษาภายในค่ายเม็งรายมหาราช ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพานและเตาเวียงกาหลง ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอร์ตซ์ รูปแบบเจดีย์แปดเหลี่ยม และรูปแบบของพระพุทธรูปที่ถูกกล่าวอ้างว่าค้นพบบนโบราณสถานดอยเจดีย์ สามารถกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – พุทธศตวรรษที่ 21 รวมทั้ง ค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของอิฐที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานดอยเจดีย์ โดยวิธีเรืองแสงความร้อน (TL) ได้ค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
. ในห้วงเวลานี้ เป็นช่วงที่เมืองเชียงรายถูกปกครองด้วยขุนนาง แต่ก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เนื่องจากเราพบการกล่าวถึงเมืองเชียงราย ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆของล้านนา
. เป็นที่น่าสังเกตว่า โบราณวัตถุที่พบมีความหลากหลายของวัสดุที่ใช้ผลิตค่อนข้างมาก ทั้งชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินควอร์ตซ์ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่หลากหลายในช่วงสมัยเดียวกัน ไม่ได้มีการแบ่งเครื่องมือเครื่องใช้จากวัสดุที่ใช้ผลิตตามเกณฑ์การแบ่งอายุสมัยตามแบบแผน
. ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการนี้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ไม่เฉพาะในพื้นที่ค่ายฯ เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงรายที่สร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ตลอดจนเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สามารถยืนยันอายุของเมืองเชียงรายได้ในเบื้องต้น และถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองเชียงรายได้ดีที่สุด
- เอกสารอ้งอิง -
กองโบราณคดี. โบราณคดีเชียงราย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533.
บวรเวท รุ่งรุจีและคณะ, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ). ม.ป.ท., 2529.
สุภาพร นาคบัลลังก์ บรรณาธิการ. จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้ง
ศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. นามานุกรมแหล่งมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ล้านนาตะวันตก. เชียงใหม่ :
เชียงใหม่สแกนเนอร์, 2560.
อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย. เชียงราย : สำนักพิมพ์ล้อล้านนา, 2559.
- เอกสารนำเสนอ -
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เอกสารประกอบการอบรมเครื่องปั้นดินเผาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. 2558.
- บุคคล -
ดร.ฐานนท์ จิตเขม้น นักโบราณคดีอิสระ (เฉพาะทางเทคโนโลยีเครื่องมือหิน Lithic Technology)
(จำนวนผู้เข้าชม 5983 ครั้ง)