...

พัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เวียงท่ากาน
องค์ความรู้เรื่อง : พัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เวียงท่ากาน
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน  ทะรักษา
                       นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
          เวียงท่ากานตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศของเมืองตั้งอยู่บนเนินในที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา มีลำน้ำแม่ขาน ซึ่งเป็นสาขาย่อย
ของแม่น้ำปิง ไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเมืองมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ขนาด ๕๘๐ x ๗๘๕ เมตร ก่อสร้างเป็นคันดิน ๒ ชั้น มีคูเวียงคั่นกลาง เวียงท่ากานปรากฏชื่อในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนา
ว่า “พันนาทะกาน” เป็นเมืองที่มีบทบาทตลอดช่วงสมัยล้านนา พัฒนาการของเมืองโบราณแห่งนี้ พบหลักฐานตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชยต่อเนื่องจนถึงช่วงที่ล้านนาเสียเอกราชให้กับพม่า และได้รับการฟื้นเมือง
อีกครั้งในสมัยเจ้ากาวิละ
          ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากการขุดค้นทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมที่เวียงท่ากาน น่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ เป็นอย่างน้อย หลักฐานหลายชิ้น ทั้งโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกม้า ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน ลูกปัดหินคาร์เนเลียน เปลือกหอยทะเล ล้วนสะท้อนให้เห็นการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอกที่อยู่ไกลออกไป แสดงให้เห็นว่าเวียงท่ากานเป็น “จุดแลกเปลี่ยนการค้า” มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ แล้ว
          ในสมัยหริภุญไชยตอนต้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖) พบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ คือ การฝังศพในพื้นที่กลางเมือง โดยมีลักษณะการฝังศพที่แตกต่างจากแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งฝังศพอื่น ๆ ในภาคเหนือ จากการเปรียบเทียบลักษณะการฝังศพเช่นนี้ที่มีอายุสมัยอยู่ในช่วงไล่เลี่ยกัน ได้แก่ แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ ซึ่งเมืองโบราณดังกล่าวพบโบราณวัตถุที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดี
          การฝังศพของเวียงท่ากานนี้ โครงกระดูกแทบทุกโครง ถูกฝังในท่านอนงอเข่า โครงกระดูกบางโครงมีตำแหน่งของกระดูกที่ผิดแผกไปจากลักษณะกายวิภาค เนื่องมาจากการตัดเอ็น เพื่อมัดศพให้มีขนาดกระชับที่สุด โครงกระดูกที่พบมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่โครงกระดูกทารกนั้น จะถูกฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว โครงกระดูกที่พบในหลุมขุดค้นในวัดท่ากานที่ดำเนินการขุดค้นนี้ ประเมินขั้นต่ำได้ถึง ๖๐ โครง
          หลักฐานทางโบราณคดีอันโดดเด่นอีกชิ้นหนึ่ง คือ โครงกระดูกม้า ซึ่งถือเป็นการค้นพบโครงกระดูกม้าที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีในประเทศไทย และม้าไม่ใช่สัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย นักวิชาการสันนิษฐานว่ามีการนำเข้าม้ามาในสมัยทวารวดี และปรากฏเรื่องราวในเอกสารจีนสมัยราวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ – ๑๔๕๙) ว่าทูตทวารวดีเคยขอม้าพันธุ์ดีจากจีนแลกกับงาช้างและไข่มุก ซึ่งในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นั้น ม้าถือเป็นสัตว์สำคัญที่มีการควบคุม ไม่สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี โครงกระดูกม้าโบราณ
ที่เวียงท่ากานนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีการนำม้ามาเลี้ยง ตั้งแต่ราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว และม้าตัวนี้ก็ถือเป็นม้าสำคัญ เนื่องจากมีการจัดท่าปลงศพเช่นเดียวกับโครงกระดูกมนุษย์
ทั้งยังถูกฝังในพื้นที่สุสานเดียวกับที่ฝังศพมนุษย์อีกด้วย
          สมัยวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนปลาย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙) ในช่วงแรกของสมัยนี้ ผู้คนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการฝังศพอยู่ และพบร่องรอยโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบริเวณแหล่งฝังศพ พบร่องรอยหลุมเสากลม ปักเป็นคู่ ๓ จุด มีผังเป็นรูปสามเหลี่ยม พบร่องรอยของการใช้ไฟ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์หลายชนิด ที่มีร่องรอยการสับตัด รวมทั้ง ยังพบตุ้มถ่วงแหแวดินเผา เหล่านี้แสดงถึงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นบริเวณที่อยู่อาศัย จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจการดำรงชีพ ที่ยังคงมีการล่าสัตว์ แม้จะเป็นชุมชนเกษตรกรรมสมัยประวัติศาสตร์แล้ว หรือการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวของระบบเศรษฐกิจ แต่ยังมีกลุ่มคนที่เป็นนายพรานดำรง
อยู่ในสังคมด้วย ในช่วงกลางถึงปลายของชั้นวัฒนธรรมนี้ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งแบบหริภุญชัย และพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ ได้แก่ ชิ้นส่วนปิ่นปักผม และหัวหอก(?) รวมทั้งเปลือกหอยมุก เปลือกหอยเบี้ย รวมทั้ง ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน นอกจากนั้น ยังพบผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาในล้านนาแล้ว ได้แก่ เครื่องถ้วยสันกำแพง และเครื่องถ้วยเวียงกาหลง ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษเริ่มลดความสำคัญ
ลง ความเชื่อเรื่องพุทธศาสนา เริ่มเข้ามาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังที่พบพระพิมพ์ดินเผาในชั้นดินชั้นบนของหลุมฝังศพ และเปลี่ยนเป็นสังคมพุทธศาสนามากขึ้นในสมัยล้านนา
          หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่าเวียงท่ากานเข้าสู่สมัยล้านนา คือ เริ่มพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยล้านนาในชั้นวัฒนธรรมหริภุญไชย ซึ่งปริมาณโครงกระดูกที่พบมีลดจำนวนลง และอาจกล่าวได้ว่าเวียงท่ากานเข้าสู่สมัยล้านนาอย่างเต็มตัวเมื่อพญามังรายได้นำต้นศรีมหาโพธิ์จากลังกาประทานปลูกในพันนาทะการ วัตถุทางวัฒนธรรมที่พบในชั้นดินสมัยล้านนานี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านประเภทของหลักฐานอย่างชัดเจน โดยโบราณวัตถุที่พบจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในศาสนสถาน ทั้งชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม กระเบื้องดินเผา อิฐ กุณฑี แท่งหินบด และกล้องยาสูบ กระดูกสัตว์ที่พบหลากหลายชนิดก็หายไป พบเพียงกระดูกวัว-ควาย ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบก็มาจากแหล่งเตาของล้านนาและเครื่องถ้วยจีนที่สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ ขณะที่ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพื้นเมืองซึ่งมีการตกแต่งแบบหริภุญชัยก็ยังพบตลอดมา ส่วนหลักฐานที่ยังสามารถพบเห็นได้ในพื้นที่อย่างชัดเจน คือ โบราณสถานประเภทวัด ซึ่งมีการสำรวจพบทั้งสิ้น ๒๗ แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง นอกจากหลักฐานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเวียงท่ากาน คือ โถสมัยราชวงศ์หยวน ที่พบภายในกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงที่แสดงให้เห็นฐานะของผู้เป็นเจ้าของ และสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของเมืองแห่งนี้อีกด้วย
          ------------------------------------------------------------









(จำนวนผู้เข้าชม 1755 ครั้ง)


Messenger