อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์
นับจากเหตุการณ์การรื้อถอนบ้านเขียว เมื่อ ๖ เดือนก่อน ซึ่งขณะนั้นเราเรียกอาคารสีเขียวหลังนี้ว่า "อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์" กรมศิลปากรได้เข้ามารื้อฟื้นอาคารหลังนี้โดยกระบวนการทางวิชาการ และกรมศิลปากรได้มีการประชุมเผยแพร่การดำเนินงานต่อภาคส่วนต่างๆของจังหวัดแพร่ ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานผู้แทนกรมศิลปากรในพื้นที่ ที่เป็นทั้งผู้ประสานงานและผู้ดำเนินการ อยากเล่าให้ฟังว่ากรมศิลปากรทุ่มเทและนำองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาใช้ในงาน ทั้งด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวิศวกรรม ในการวิเคราะห์องค์ประกอบอาคารและพัฒนาการอาคารที่ถูกรื้อถอนไป เพื่อค้นหารูปแบบอาคารที่จะบูรณะฟื้นคืน โดยงานนี้ถือเป็นงานที่ยากที่สุดงานหนึ่ง เนื่องจากกรมศิลปากรต้องทำแข่งกับเวลาและงานอยู่บนฐานความศรัทธาของประชาชนที่มีต่ออาคาร รวมถึงความศรัทธาเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกรมศิลปากรในฐานะองค์กรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จะมาช่วยฟื้นคืนอาคารหลังนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
ตลอดการดำเนินงาน สิ่งที่กรมศิลปากรยึดถือเป็นหลักการมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น คือ กรมศิลปากรจะต้องฟื้นคืนอาคารหลังนี้อย่างมีหลักวิชาการ เพื่อหลักวิชาการนั้นจะเป็นสิ่งยืนยันกับทุกศรัทธาว่า อาคารหลังที่จะกลับคืนมาสู่ทุกท่านเป็นอาคารของแท้หลังเดิม ไม่ใช่ของก๊อปเกรดเอ
โดยหลักการความเป็นของแท้ดั้งเดิมที่กรมศิลปากรใช้และใช้อย่างเป็นสากลทั่วโลก คือ ความเป็นของแท้ ๕ ประการ
๑. สถานที่ ๒. รูปแบบ ๓. วัสดุ ๔. ฝีมือเชิงช่าง ๕. การใช้งานและจิตวิญญาณของพื้นที่
กล่าวโดยรวมคือ เมื่อเราฟื้นคืนอาคารมาได้ อาคารนี้ยังสามารถรักษาความหมายในเชิงที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ที่จะสื่อถึงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำที่สถานที่แห่งนั้นมี เปรียบเหมือนเรามีบ้าน หากยกบ้านเราไปตั้งไว้ที่อื่น ความรู้สึกและความทรงจำที่เรามีต่อบ้านจะถูกลดทอน เพราะความทรงจำที่เรามีต่อบ้านหมายรวมถึงความเป็นสถานที่
ถ้าสถานที่ ยังตั้งอยู่ ณ ที่เดิม เราสามารถรักษารูปแบบเดิมของอาคารไว้ได้หรือไม่ แน่นอนว่า "รูปแบบ" เป็นกายภาพหลักที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่ที่คนรู้สึกและสัมผัสได้ว่านั่นเป็นของเดิมหรือเปลี่ยนไปจากเดิม แต่การจะรักษารูปแบบไว้โดยคงคุณค่าที่แท้จริงของอาคาร จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งวัสดุและฝีมือเชิงช่างเดิม เพราะนั่นคือภูมิปัญญาที่อาคารหลังนั้นเกิดขึ้นมา โดยผ่านการสั่งสมเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่ออาคารนั้นๆ
.......และสุดท้าย คือ การรักษาหน้าที่การใช้งานและจิตวิญญาณ กล่าวคือ เราจำเป็นต้องรักษาการใช้งานที่สามารถสื่อถึงตัวตนและประวัติศาสตร์ของอาคารนั้น ไม่ทำให้ผู้คนหลงลืมคุณค่าของอาคารนั้นไป และทำให้จิตวิญญาณยังคงอยู่กับอาคารนั้น....แม้คำว่าจิตวิญญาณจะเป็นนามธรรม แต่คำนี้ทรงความหมายที่สุดต่ออาคาร สถานที่ โบราณสถานต่างๆ
.........หลายสิบปีก่อน พระธาตุพนม พังทลายลงทั้งองค์ กรมศิลปากรได้บูรณะใหม่ขึ้นมาทั้งหมด หากผู้คนไม่เชื่อถือว่าพระธาตุพนมที่กรมศิลปากรบูรณะฟื้นคืนขึ้นมาเป็นของจริง เราคงได้พระธาตุพนมที่เป็นอนุสาวรีย์ แต่ไม่ใช่ปูชนียสถาน ดังนั้นการทำงานอย่างเป็นวิชาการที่กรมศิลปากรยึดถือ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
กรมศิลปากร เริ่มต้นกระบวนการการฟื้นคืนอาคารโดยการคัดแยกและจัดประเภท ทำทะเบียนไม้ว่ามาจากองค์ประกอบไหนของอาคาร รวมถึงประเมินข้อมูลไม้ในรูปแบบอาคารที่จัดทำเป็นแบบสามมิติ โดยพบว่ามีไม้ ๘๐ เปอร์เซ็น ที่น่าจะนำกลับไปประกอบยังส่วนเดิมของอาคารได้ ส่วนไม้ที่เหลืออาจต้องประเมินความแข็งแรงและความสมบูรณ์ ซึ่งก็นับได้ว่า เราได้ "วัสดุ" ที่เป็นของเดิมของอาคารกลับคืนมาในกระบวนการบูรณะในอนาคต
แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดตรวจฐานรากอาคารบ้านเขียวแห่งนี้ เพื่อตรวจสอบรูปแบบและความเปลี่ยนแปลงอาคารว่ามีทั้งสิ้นกี่ระยะ และระยะใดควรนำมาเป็นรูปแบบในการบูรณะฟื้นคืน
เนื่องด้วยอาคารที่เราเห็นก่อนการรื้อถอน เป็นอาคารที่มีการปรับปรุงใหม่ในยุคปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงใช้กระบวนการนี้เพื่อแสวงหา รูปแบบหน้าตาของอาคารที่แท้จริงในอดีตกลับคืนมาให้ชาวเมืองแพร่ โดยจากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบพัฒนาการอาคาร ๕ ระยะ โดยระยะที่ถือว่ามีความเป็นของแท้ดั้งเดิมโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับหนักแน่น คืออาคารในระยะที่ ๔ ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่าปี ๒๔๙๘ โดยอาคารในระยะนี้เป็นอาคารสองชั้น ตัวอาคารหลักมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาด้านข้างทั้งสองด้าน (ซึ่งเป็นรูปแบบที่สืบมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๘๗ เป็นอย่างน้อย จากการปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเก่า) โดยกรมศิลปากรได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมดต่อภาคส่วนต่างๆของจังหวัดแพร่ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในขั้นต่อไปจะมีการนำข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบอาคารที่มีความเหมาะสมจะฟื้นคืนมานี้ ต่อภาคประชาสังคมในวงกว้าง เพื่อให้เป็นฉันทามติของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ในการจะเลือกรื้อฟื้นอาคารว่ารูปแบบใด
และในประเด็นสุดท้ายคือ กรมศิลปากร ได้นำเสนอข้อมูลศึกษาที่ว่า อาคารบ้านเขียวหลังนี้ คือ "อาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ มิใช่อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์ เบอร์มาร์"
จากการศึกษา พบหลักฐานที่สามารถระบุถึงตำแหน่งของอาคารทั้ง ๒ แห่ง ว่าหลังไหนควรเป็น ที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ และหลังไหนเป็นอาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์ เบอร์มาร์ โดยบันทึกการตรวจราชการของกรมการปกครองในปี ๒๔๖๕ ระบุถึงการมีอยู่ของที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ว่าอยู่นอกกำแพงเมืองริมแม่น้ำยม แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดในเชิงความสัมพันธ์ทางที่ตั้งว่าหลังใดตั้งอยู่ตำแหน่งไหน ทั้งนี้เอกสารที่ให้รายละเอียดที่กระจ่างชัด คือ บันทึกของ Reginald Le May ในปี ๒๔๖๙ ที่ระบุถึงการเดินทางไปเมืองแพร่โดยข้ามแม่น้ำยมมาที่ท่าเชตวัน เมื่อขึ้นฝั่งได้ระบุว่า ซ้ายมื้อเป็นที่ทำการของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ และขวามือเป็นที่ทำการป่าไม้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายทางอากาศในปี ๒๔๘๗ ที่ปรากฏให้เห็นกลุ่มอาคารด้านซ้ายมือ และขวามือของถนนเชตวัน ฟากละ ๑ กลุ่ม โดยจากการทับซ้อนภาพถ่ายทางปี ๒๔๘๗ กับภาพพื้นที่ปัจจุบันพบว่า กลุ่มอาคารด้านทิศเหนือของถนนเชตวัน (ถ้านับจากการเดินทางขึ้นมาจากตลิ่งของ Le May คือฟากซ้ายมือซึ่งก็คือที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์) ได้กลายเป็นพื้นที่แม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ได้พังทลายลงแม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด (โดยการพังทลายนั้นน่าจะอยู่ราวปี ๒๔๘๘ - ๒๕๐๐)
กรมศิลปากรรู้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกประชาชนจำนวนมาก ด้วยประชาชนเกือบทั่วประเทศรับรู้ เชื่อ และผูกพันไปแล้วว่าอาคารหลังนี้ ชื่อ บอมเบย์เบอร์มาร์ แต่สิ่งที่กรมศิลปากรยึดถือมาโดยตลอด คือ กรมศิลปากร ต้องเป็นหลักยึดแก่สังคมที่เสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านการค้นคว้าและไตร่ตรองทางวิชาการโดยมิได้มีความเอนเอียงใดๆ กรมศิลปากรจึงต้องขอบอกเล่าข้อเท็จจริงนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ และอยากให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องโดยปราศจากอคติ
และท้ายที่สุดที่กรมศิลปากรอยากบอกเล่าแก่ทุกท่าน คือ แม้อาคารหลังนี้จะไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์ อย่างที่หลายคนคิด คุณค่าที่มีในตัวอาคารก็มิได้ลดน้อยลงแต่ประการใด เพราะคุณค่ามิได้ขึ้นอยู่กับชื่ออาคาร แต่คุณค่าขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นเคยเป็นและเคยทำอะไร หากเรามองเห็นเพียงความเป็นอาคารของรัฐหลังหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า "อาคารป่าไม้ภาค" นั่นคือเรากำลังตัดสินความสำคัญของอาคารเพียงชื่อ แต่ถ้าเรามองเห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาคารหลังนี้ในฐานะ พัฒนาการกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในประเทศไทย ชื่อ "อาคารป่าไม้ภาค" คือ ชื่อ ที่ชาวเมืองแพร่ และประชาชนทุกท่านควรภาคภูมิใจในฐานะที่อาคารแห่งนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของกิจการป่าไม้ของเมืองแพร่และประเทศ
(จำนวนผู้เข้าชม 3796 ครั้ง)