การนับถือพุทธศาสนาและแนวคิดการวางผังเมืองของเวียงกุมกาม
จากการที่เวียงกุมกามสร้างโดยพญามังรายกษัตริย์ที่มีประสบการณ์การสร้างเมืองหลายแห่งมาก่อนในบริเวณลุ่มน้ำกก อีกทั้งเคยปกครองในเมือง
หริภุญไชยที่นับถือพุทธศาสนา โดยปรากฏจากสถาปัตยกรรมประเภทวัดของพุทธศาสนาที่มีอยู่มากในเมืองหริภุญไชย ทำให้เวียงกุมกามเกิดการนำเอาความรู้เทคโนโลยีการก่อสร้าง และคติความเชื่อในพุทธศาสนามาสร้างในเวียงกุมกาม และพัฒนาเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตนเป็นวัฒนธรรมล้านนา
สันนิษฐานว่าเวียงกุมกามเป็นการสร้างโดยการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมชาวไทยวนที่มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับวัฒนธรรมหริภุญไชยที่นับถือพุทธศาสนา ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงชุมชนบริเวณวัดกานโถมก่อนการสร้างเวียงกุมกามว่า ที่ชุมชนแห่งนั้นนับถือต้นไม้เดื่อเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา แนวคิดการนับถือพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมนี้ คงเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ส ทั้งในแคว้นหริภุญไชยและในแคว้นโยนก และยังสืบเนื่องต่อมาในสมัยพญามังราย โดยมีหลักฐานชัดเจนถึงแนวคิดดังกล่าว ขณะพญามังรายประทับในเวียงกุมกาม ก็ได้ผสานความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับความเชื่อของพุทธศาสนา ดังเช่น ความเชื่อเรื่องรุกขเทวดาศักดิ์สิทธิ์อยู่รักษาไม้เดื่อ เทวดานั้นมักให้คุณแก่คนทั้งหลาย พญามังรายจึงสร้างวัดและปลูกต้นศรีมหาโพธิ์จากลังกาที่บริเวณไม้เดื่อที่นับถือว่าเป็นไม้สรี (ศรี) ที่เป็นตัวแทนของพุทธศาสนา และถือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่
การสร้างเวียงกุมกามมีแนวคิดการวางผังเมืองอย่างเมืองหริภุญไชย โดยมีศูนย์กลางเมืองที่วัดกุมกามและวัดประจำทิศที่มุมทั้งสี่แห่งของเมือง ตามคติศูนย์กลางจักรวาลของพุทธศาสนา ประกอบด้วยวัดกุมกามทีปราม วัดกู่จ๊อกป็อก วัดกู่ป้าด้อม และวัดพระเจ้าองค์ดำ โดยวัดเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน และมีวัดกานโถมเป็นศูนย์กลางเมืองตามคตคิวามเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผี ของกลุ่มชนชาวพื้นเมือง โดยเวียงกุมกามมีแนวแกนที่สำคัญ ๒แกน ได้แก่
แนวแกนตะวันตก - ตะวันออก ตั้งแต่
กำแพงด้านตะวันออกทางด้านใต้ของวัดกู่มะเกลือ
วัดกู่อ้ายสีผ่านวัดกานโถมด้านเหนือ วัดธาตุน้อย
วัดอีค่างไปจนสุดฝั่งเมืองด้านตะวันตก
แนวแกนเหนือ - ใต้ โดยมีแนวผ่านพื้นที่กลางเวียงวัดกุมกามและวัดกานโถมลงไปทางใต้จนสุดกำแพงเมืองด้านทิศใต้
แนวคิดการวางแกนสำคัญภายในเวียงเช่นนี้จะพบว่า นอกจากเวียงกุมกามแล้วเวียงอื่นๆ เช่น หริภุญไชย (ลำพูน) เชียงใหม่ และเชียงแสน เป็นต้น และลักษณะเด่นในแนวแกนสำคัญนั้นมักจะเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ หรือวัดสำคัญตั้งอยู่เสมอ แกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ในแนวนอนจะเป็นแกนสำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนสันหลังของเมือง การดูผังเมืองโบราณจึงควรหาตำแหน่งของแกนตั้ง และแกนนอนให้ได้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ ภายในเมือง
อ้างอิง : เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา
: เมืองเชียงใหม่ ศิลปะ สถาปัตยกรรมและความเชื่อ โครงการรวบรวมผลงานวิชาการ ลำดับที่ ๑ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(จำนวนผู้เข้าชม 1392 ครั้ง)