...

สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ “ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสู่ล้านนา” ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ “ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสู่ล้านนา” ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ได้ทรงเปิด “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่” และ “พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2556

เวลา 09.10 น. ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จถึงหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จากนั้น อธิบดีกรมศิลปากร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือประกอบนิทรรศการ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและของที่ระลึก ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการ “ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสู่ล้านนา” นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ต่อจากนั้นทรงพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณและผู้สนับสนุนการดำเนินงานจำนวน 100 ราย จากนั้นทรงเสด็จฯ ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ “ตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสู่ล้านนา” เสด็จฯ ไปยังที่ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ ทอดพระเนตรนิทรรศการ จากนนั้นทรงเสด็จฯ ไปยังหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ทรงตัดแถบแพรเปิดหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรนิทรรศการ จากนั้นทรงประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทรงตัดแถบแพรเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา เสด็จเข้าภายในพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทอดพระเนตรนิทรรศการ ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา และเสด็จออกจากพิพิธภัณฑ์ฯ เวลา 11.30 น. ทั้งนี้ มีข้าราชการ พสกนิกรร่วมให้การต้อนรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

เทศบาลนครเชียงใหม่ สำรวจหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา เพื่อที่จะทำการปรับปรุง เนื่องจากเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ศิลปะล้านนาโดดเด่นที่ความงดงามและมีรูปแบบที่หลากหลาย สะท้อนภูมิปัญญาและความหมายที่แฝงเร้นมากับคติความเชื่อของบรรพชนล้านนา เมื่อเทศบาลนครเชียงใหม่ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่กลางเวียงเชียงใหม่เพื่อเป็นสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยสร้างหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ขึ้น ณ บริเวณอาคารศาลากลางเดิม เป็นสถานที่ให้ความรู้ภาพรวมของเอกลักษณ์สิ่งดีงาม คติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอัยการเดิมซึ่งอยู่ติดกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ได้สร้างหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งของอาคารศาลแขวงเดิมได้จัดสร้างเป็นหอศิลป์ล้านนา เพื่อจัดแสดงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ด้านศิลปะของอาณาจักรล้านนา และภูมิปัญญาทางศิลปะของผู้คนในอาณาจักรล้านนาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งของอาคารหอศิลป์ล้านนาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของคุ้มกลางเวียง เชื่อว่าเป็นส่วนที่ตั้งของ “วังหน้า” เพราะเป็นมรดกของเจ้าอุปราชสุริยะ เดิมเจ้าอุปราชสุริยะเตรียมถวายให้ใช้เป็นที่ทำการเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) แต่เนื่องจากเจ้าจอมมารดาดารารัศมีได้มีพระประสงค์ทูลเกล้าฯ ถวายคุ้มกลางเวียงบางส่วนที่เป็นมรดกของพระองค์ให้รัฐบาลเพื่อจัดสร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ(ปัจจุบันเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ดังนั้น คุ้มส่วนนี้จึงตกทอดเป็นมรดกแก่เจ้าน้อยเลาแก้ว(เจ้าราชบุตร) ต่อมาทางราชการขอซื้อเพื่อก่อสร้างที่ทำการศาลแขวง จังหวัดเชียงใหม่ แทนหลังเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัฐ พื้นที่ส่วนนี้มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 ตารางวา ทั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และหอศิลป์ล้านนา เป็นกิจกรรมที่หนุนเสริมกันและมีพื้นที่ต่อเนื่องกัน โน้มนำการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่กลางเมืองเก่าเชียงใหม่ให้มีทิศทางที่เหมาะสมและเป็นการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อเป็นการโน้มนำการพัฒนาเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

การปรับปรุงหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ที่ให้สาระความรู้ สร้างภาพพจน์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักอาศัยอยู่ในเชียงใหม่นานขึ้น ให้ผู้มาเยือนได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปะและภูมิปัญญาศิลปะของล้านนาที่เป็นรากฐานของเมืองเชียงใหม่ และเข้าใจในคุณค่าของเมืองอย่างแท้จริง เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่งานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และภูมิปัญญางานศิลป์ของล้านนา กระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนและเกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาเมืองในระยะยาว โดยเชื่อมโยงกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่และหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และเพื่อโน้มนำการพัฒนาของภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่เขตเมืองอนุรักษ์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจการที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์เมือง รวมทั้งพัฒนาพื้นที่บริเวณใจกลางเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เมืองในระยะยาว

เมื่อปลายปี 2555 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ทำการเปิดหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ให้กับชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ได้รับชม และศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยเข้ารับชมและ ศึกษาประวัติสาสตร์อย่างมากมาย อีกทั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ยังมีโครงการนำนักเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าศึกษาดูงานด้านประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ วิถีชีวิตของชาวล้านนา พิธีกรรม สถาปัตยกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาวล้านนา เพื่อการอนุรักษ์ และสืบทอดต่อไป

(จำนวนผู้เข้าชม 940 ครั้ง)