การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย แบบ “วิถีการดำรงชีวิต”
การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย แบบ “วิถีการดำรงชีวิต”
เรียบเรียงโดย : พรหมพิริยะ พรหมเมศ
การแบ่งยุคจากวิถีการดำรงชีวิต ให้ความสำคัญกับแบบแผนการดำรงชีวิตและลักษณะของสังคมเป็นหลัก โดยอ้างอิงจากวิถีการหาอาหารและการดำรงชีวิต ในยุคแรกเริ่มที่มนุษย์ได้กำเนิดขึ้นมาได้มีวิถีการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายก่อนที่จะพัฒนาให้มีความซับซ้อนขึ้นมีเทคนิควิธีในการผลิตอาหารได้ดียิ่งขึ้นตามแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งมีพัฒนาการของวิถีการดำรงชีวิตตามลำดับได้ ดังนี้
๑. สมัยหาของป่า-ล่าสัตว์ (Hunter – Gatherer) ในบริบทพื้นที่ประเทศไทยกำหนดอายุราว ๕๐๐,๐๐๐ – ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนี้มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผา อยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ ตามแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อแหล่งที่อยู่เดิมขาดแคลนอาหารก็ย้ายที่อยู่อาศัยเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ไปหาแหล่งที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในสมัยชุมชนหาของป่า-ล่าสัตว์ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านผีแมน อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, แหล่งโบราณคดี ถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีถ้ำปุงฮุง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
๒. สมัยหมู่บ้านเกษตรกรรม (Agricultural village) กำหนดอายุราว ๔,๕๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนี้ผู้คนเริ่มทำการเพาะปลูกพืชได้แล้ว จึงเริ่มย้ายถิ่นฐานลงมาจากเพิงผาและถ้ำ เพื่อมาทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ราบ เกิดการตั้งถิ่นฐานถาวรเพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเกษตรกรรม สมัยหมู่บ้านเกษตรกรรมการดำรงชีวิตจึงเป็นแบบการตั้งถิ่นฐานถาวร มีแหล่งอาหารมาจากการทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก อย่างไรก็ตามยังคงมีการล่าสัตว์และเก็บของป่าอยู่แต่ไม่ใช่วิธีการหลักอีกต่อไปแล้ว
เนื่องจากมนุษย์มีการตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้นจึงมีการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้เป็นจำนวนมาก เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือทำเกษตรกรรม เครื่องประดับ เป็นต้น รวมทั้งเกิดการแบ่งงานมีช่างฝีมือเฉพาะทางเกิดขึ้น เช่น ช่างทอผ้า ช่างโลหะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกันระหว่างชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่สามารถผลิตหรือเข้าถึงทรัพยากรได้ แหล่งโบราณคดีสมัยหมู่บ้านเกษตรกรรมที่สำคัญ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา, แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี, แหล่งโบราณคดีพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
๓. สมัยสังคมเมือง (Urban society) กำหนดอายุราว ๒,๕๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว สมัยนี้จะอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์จนมาเป็นสังคมในระดับรัฐต่อไป พัฒนาการในสมัยสังคมเมืองหมู่บ้านเล็กๆ มีการขยายตัวกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะสังคมที่ซับซ้อน มีการจัดแบ่งสถานะภาพทางสังคม และชนชั้นทางสังคม ปรากฏการจัดพื้นที่ของการฝังศพ
วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมีการปรับแต่งภูมิประเทศก่อสร้างคันดินและขุดคูเมือง เพื่อจัดการน้ำในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งยังใช้ในการทำเกษตรกรรมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากทำการเกษตรแล้ว ยังเริ่มมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น การถลุงโลหะ การทำภาชนะ ดินเผา การผลิตเกลือ เป็นต้น
การติดต่อและค้าขายระหว่างชุมชนพัฒนาขึ้นเป็นอันมาก มีการติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้าทางไกลไปจนถึงตะวันออกกลาง ทำให้ปรากฏหลักฐานของสินค้าที่ไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นในท้องถิ่น เช่น ตะเกียงสำริดโรมัน ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดหินอาเกต ตุ้มหูแบบลิง-ลิง-โอ เป็นต้น รวมทั้งปรากฎหลักฐานของการเผยแพร่พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา และตัวอักษรเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย ไปจนถึงมีระบบสังคมที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่รากฐานการก่อเกิดสังคมรัฐในเวลาต่อมา แหล่งโบราณคดีสำคัญในสมัยสังคมเมือง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา, แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. “โบราณคดีสำหรับเยาวชน เล่ม ๒ ยุค สมัยทางโบราณคดี.” (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)), 2560.
(จำนวนผู้เข้าชม 4680 ครั้ง)