การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือ
“การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือ”
การแบ่งยุคสมัยด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือ ในการแบ่งตามเกณฑ์นี้จะให้ความสำคัญต่อพัฒนาการของเครื่องมือเครื่องใช้เป็นหลัก โดยอ้างอิงจากเครื่องมือที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ได้ในแต่ละยุคสมัย ในเริ่มต้นมนุษย์จะเริ่มประดิษฐ์เครื่องมือจากไม้และหิน ต่อมาจึงเป็นโลหะ ในรูปแบบง่าย ๆ แล้วจึงสั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้ ก่อนจะพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเครื่องมือให้ซับซ้อนขึ้นได้ การแบ่งยุคด้วยเครื่องมือจะสามารถแบ่งได้ดังนี้
๑. สมัยหิน กำหนดอายุได้ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ – ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนี้มนุษย์เริ่มนำหินมากะเทาะเพื่อให้มีเหลี่ยมคมจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ สมัยหินได้ถูกแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงย่อย ๆ โดยจัดจำแนกตามความแตกต่างของรูปแบบเครื่องมือหิน คือสมัยหินเก่า สมัยหินกลาง และสมัยหินใหม่
ในสมัยหินเก่า หรือกำหนดอายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในพื้นที่ประเทศไทยปรากฎเครื่องมือหินที่เรียกว่า “เครื่องมือสับตัด” (Chopper – Chopping tools) สันนิษฐานว่านำไปใช้งานโดยการสับ ตัด ขุด ทุบ เป็นต้น ส่วนสะเก็ดของหินที่ถูกกะเทาะออกมา มีการนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือหินใช้ในการตัด ฟัน เฉือนเรียกว่า “เครื่องมือสะเก็ดหิน” (Flake tools) ยกตัวอย่างแหล่งโบราณคดี เช่นที่ แหล่งโบราณคดีถ้ำวิมานนาคิน อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ, แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่, แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่, แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดลำปาง เป็นต้น
ในสมัยต่อมาประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว ถูกเรียกว่าสมัยหินกลาง เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือหินก็ได้พัฒนาขึ้นมา มีการคัดเลือกประเภทของหินที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ และพัฒนาเทคนิคการกะเทาะให้ดียิ่งขึ้น สามารถกะเทาะหินให้มีรูปร่างเหมาะสมแก่การใช้งาน มีความละเอียด และขนาดที่เล็กลง เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น เช่น เจาะ ขูด เป็นต้น เรียกว่า “เครื่องมือหินแบบหัวบิเนียน” (Hoabinhian tool) ยกตัวอย่างแหล่งโบราณคดี เช่นที่ แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, แหล่งโบราณคดีถ้ำปุงฮุง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน, แหล่งโบราณคดีถ้ำองบะ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
และช่วงท้ายของยุคหินในช่วงประมาณ ๖,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว จะถูกนับให้เป็นสมัยหินใหม่ เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือหินถูกพัฒนาขึ้นไปอีก มีการนำเครื่องมือหินมาขัดให้ผิวเรียบ เพื่อให้เกิดมีความแข็งแรงมากขึ้น และสะดวกต่อการใช้งานในการตัดต้นไม้ และทำเกษตรกรรมให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า “เครื่องมือหินขัด” ยกตัวอย่างแหล่งโบราณคดี เช่น แหล่งโบราณคดีหนองแช่เสา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี, แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี, แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี, แหล่งโบราณคดีโคกเจริญ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
๒. สมัยสำริด สมัยสำริดเริ่มขึ้นเมื่อการปรากฏของหลักฐานทางโบราณคดีประเภทสำริด ซึ่งคือโลหะผสมโดยมีทองแดงและดีบุกเป็นส่วนผสมหลัก โดยในพื้นที่ประเทศไทยพบร่องรอยการถลุง และผลิตเครื่องมือ เครื่องประดับสำริด กำหนดอายุได้ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตสำริด เช่น เบ้าหลอมดินเผา ขวานสำริด กระพรวนสำริด กำไลสำริด เป็นต้น แหล่งโบราณคดีสำคัญสมัยสำริด ได้แก่แหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา, แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น, แหล่งโบราณคดี บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี, แหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีบ้านพุน้อย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
๓. สมัยเหล็ก เทคโนโลยีในการผลิตโลหะมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก จากเดิมที่สามารถถลุงได้เฉพาะสำริด ได้พัฒนาวิทยาการให้สามารถถลุงโลหะได้ดียิ่งขึ้นจนสามารถถลุงโลหะเหล็กได้ สมัยเหล็กในพื้นที่ประเทศไทยปรากฏขึ้นในช่วงประมาณ ๒,๕๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตเหล็ก เช่น ขวานเหล็ก ใบหอกเหล็ก กำไลเหล็ก เป็นต้น แหล่งโบราณคดีสำคัญสมัยเหล็ก ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา, แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีนิลกำแหง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี, แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี, แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
ผู้เรียบเรียง : นายพรหมพิริยะ พรหมเมศ ผู้ช่วยนักโบราณคดี
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. “โบราณคดีสำหรับเยาวชน เล่ม ๒ ยุค สมัยทางโบราณคดี.” (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)), 2560.
(จำนวนผู้เข้าชม 485 ครั้ง)