สถาปัตยกรรมแบบ “ดิวาน (Divan)” ที่พบหลักฐานในเมืองลพบุรี
สถาปัตยกรรมแบบ “ดิวาน (Divan)” ที่พบหลักฐานในเมืองลพบุรี
“... ชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกตามแบบนิยม และศิลปะของชาติตน โดยต่างคนต่างออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างของตนเองดังที่ข้าพเจ้าคิด หรือโดยที่คนพวกนี้เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สร้างบ้านเรือนของตนเป็นตึกได้ดังที่เขาพูดกันก็ไม่ทราบได้ ทางด้านข้างของ ตัวตึกลางหลังนั้น เพื่อป้องกันแสงแดดและไม่ปิดกั้นทางลม ยังได้เติมกันสาดมีคันทวยรับเต้ายื่นออกไปหรือไม่ก็มีเสาค้ำทำนองพะไล ลางหลังก็แบ่งออกเป็นสองห้องโดยมีฝาประจันซึ่งอาจถอดออกได้กั้น รับแสงสว่างได้ทั้งสองด้าน และถ่ายทอดอากาศถึงกัน ห้องนั้นใหญ่และมีช่องลมมากเพื่อระบายอากาศและได้รับความสดชื่น ห้องที่อยู่ชั้นบนนั้นหันหน้าออกตรงห้องโถงชั้นล่าง ซึ่งควรจะเรียกได้ว่าหอนั่งซึ่งลางทีก็มีสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นล้อมอยู่เกือบโดยรอบ มีช่องทางให้แสงสว่างเข้าถึงได้ ตึกอย่างนี้ เรียกว่า ดีวัง (Divan) เป็นภาษาอาหรับ อันมีความหมายโดยเฉพาะว่า หอประชุม หรือ หอพิพากษา อรรถคดี (Sale de Conseil ou de Judgement)”
...จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๒๓๑ ...
คำว่า “ดิวาน” (Divan, Diwan) เป็นคำมาจากภาษาเปอร์เซียใช้อธิบายถึงสถาปัตยกรรมแบบอาคารโถงรูปแบบต่างๆของเปอร์เซีย (Hall of Audiences) ซึ่งใช้เป็นหอประชุมสภาของชนชั้นปกครอง หรือห้องโถงสำหรับต้อนรับแขกเมือง รวมถึงยังใช้ในคำอธิบายเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบ “ดิวาน” ของราชวงศ์โมกุล (พ.ศ.๒๐๖๙-๒๔๐๐) พบในแถบอินเดียตอนเหนือและปากีสถาน ซึ่งมี ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ หอดิวานที่ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมืองหรือคณะราชทูตพิเศษเป็นการส่วนพระองค์ (Diwan-i-Khas ) และหอดิวานที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมสภา ขุนนาง การเสด็จออกมหาสมาคมของพระมหากษัตริย์ (Diwan-i-Aam)
จากหลักฐานคำบรรยายในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างฝรั่งเศสและสยามเมื่อพ.ศ.๒๒๓๐-๒๒๓๑ ซึ่งได้กล่าวถึงลักษณะบ้านเรือนที่เป็นตึกของชาวต่างประเทศ แบบที่เรียกว่า “ดีวัง” เป็นเบาะแสสำคัญที่ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) เมืองลพบุรีมีการก่อสร้างอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมหรือลักษณะการใช้สอยพื้นที่อาคารแบบที่เรียกว่า “ดิวาน” ดังปรากฏหลักฐานอาคารสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่
ตึกเลี้ยงรับรองราชทูต ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบอินโด-เปอร์เซีย ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง ๙.๒๖ เมตร ความยาว ๑๔.๑๐ เมตร และความสูงประมาณ ๘.๑๐เมตร หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้อง ภายในอาคารเป็นห้องขนาดใหญ่ ผนังอาคารมีการเจาะช่องประตู และหน้าต่างที่มีซุ้มโค้งแหลมคล้ายกลีบบัวจำนวนมาก ผนังตอนบนมีการเจาะช่องรูปซุ้มโค้งแหลมคล้ายหน้าต่าง ซึ่งคงทำขึ้นเป็นช่องเพื่อให้แสงและลมเข้า-ออก และเป็นช่องระบายอากาศร้อนหรือระบายควันที่ลอยอบอวลขึ้นไป เนื่องจากภายในอาคารมักมีการจุดเครื่องหอมประเภทกำยานและไม้หอมตามธรรมเนียมการจุดเครื่องหอมแบบมุสลิม บริเวณโดยรอบอาคารมีการก่อสร้างสระน้ำและน้ำพุ เพื่อปรับสภาพอากาศให้เย็นสบาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการออกแบบพื้นที่และการใช้สอยภายในอาคาร ให้มีการรับแสงสว่าง การถ่ายเทอากาศ ลมสามารถพัดเข้า-ออกโดยสะดวกเพื่อระบายอากาศและรับความสดชื่น
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาประสาท พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระที่นั่งประธานที่มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนาดความกว้าง ๑๐.๙๐ เมตร ความยาว ๒๗.๒๐ เมตร และความสูงประมาณ ๑๓.๒๐ เมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน ประกอบด้วย อาคารท้องพระโรงส่วนหน้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นห้องโถงโล่ง ผนังด้านหน้าเจาะเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่และสูงเป็นซุ้มโค้งแหลมคล้ายรูปกลีบบัว จำนวน ๓ ช่อง ผนังด้านข้างทางทิศเหนือและทิศใต้ เจาะเป็นช่องเปิดซึ่งมีรูปแบบเดียวกันด้านละ ๔ ช่อง อาคารส่วนที่สอง ตั้งอยู่ทางด้านใน มีลักษณะเป็นตึกสองชั้นโดยมีบันไดเชื่อมต่อภายในอาคารจากทางตะวันออก และบริเวณด้านหลังอาคารมีบันไดตรงกลางและบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบันไดค่อนข้างแคบ จำกัดช่องทางเดินขึ้น-ลงเพียงลำพัง อาจจะเกี่ยวข้องกับการจัดระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนหลังคาหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า มีการมุงด้วยกระเบื้องสีเหลืองและซ้อนชั้นแบบเรือนยอดตามอย่างสถาปัตยกรรมไทย สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานแบบแผนของศิลปะสถาปัตยกรรมมุสลิมแบบอินโด-เปอร์เซีย และงานช่างไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
โบราณสถานอีกแห่งที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแนวคิดการใช้งาน และลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ “ดิวาน” คือ อาคารหมายเลข ๑ ของบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนาดความกว้าง ๑๓.๓๐ เมตร ความยาว ๑๗.๒๒ เมตร และความสูงประมาณ ๙.๕๐ เมตร แบ่งพื้นที่ใช้สอยหลักออกเป็น ๒ ส่วน คือ พื้นที่ส่วนหน้าของอาคารเป็นห้องโถงขนาดใหญ่โล่ง ผนังด้านหน้าอาคารมีการเจาะช่องเปิดที่มีซุ้มโค้งแหลมคล้ายรูปกลีบบัว จำนวน ๓ ช่อง ผนังด้านข้างอาคารเจาะเป็นช่องในลักษณะเดียวกันด้านละ ๔ ช่อง แต่ภายหลังพบหลักฐานว่าได้มีการก่ออิฐอุดปิดกั้นผนังด้านข้างเพื่อปรับปรุงต่อเติมอาคาร ให้เป็นสถานที่พักรับรองคณะราชทูตฝรั่งเศส พื้นที่ส่วนหลังของอาคารทำเป็นอาคารสองชั้นมีการเจาะช่องประตูและช่องหน้าต่างทั้งชั้นบน และชั้นล่าง และมีการก่อบันไดขึ้น-ลงอาคารจากด้านนอกของอาคาร เช่นเดียวกับพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า อาคารหมายเลข ๑ ของบ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบอินโด-เปอร์เซีย สร้างขึ้นตามแนวคิดการใช้งานแบบอาคารโถง หรือ “ดิวาน” จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงให้เป็นทำเนียบว่าราชการ สถานที่ต้อนรับแขกเมืองหรือคณะราชทูตและผู้ติดตาม รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับเป็นที่พักอาศัยของฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ด้วย
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานทั้ง ๓ แห่ง ในเมืองลพบุรีที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น จะเห็นได้ว่าเกิดจากแนวคิดความต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ ในลักษณะห้องโถงขนาดใหญ่ เพื่อการชุมนุมกันของเหล่าขุนนางข้าราชบริพารในลักษณะคล้ายห้องประชุม หรือเป็นสถานที่รับรองอาคันตุกะสำคัญของเมือง ตามแบบอย่างแนวคิดและรูปแบบการก่อสร้างอาคารที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอินโด-เปอร์เซีย ซึ่งอาจกล่าวได้เป็นโบราณสถานเหล่านี้เป็นแบบอย่างของอาคารสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะบางประการสอคคล้องตรงกันกับตึกแบบที่เรียกว่า “ดีวัง” ที่ปรากฎในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งยังคงหลงเหลือหลักฐานปรากฏให้เห็นที่เมืองลพบุรี อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้และคุ้นเคยของราชสำนักสยามที่มีต่อวัฒนธรรมเปอร์เซียในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เป็นอย่างดี
เอกสารประกอบ
ลาลูแบร์, ซิมอง เดอ.จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม.(สันต์ ท.โกมลบุตร,ผู้แปล) นนทบุรี :
ศรีปัญญา ,๒๕๕๒
จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมอินโด-เปอร์เซียกับรูปแบบสถาปัตยกรรม ในรัชสมัย
สมเด็จพระนารายณ์ ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี” หน้าจั่ว ฉบับที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔- สิงหาคม ๒๕๕๕
ผู้เรียบเรียง : นางสุริยา สุดสวาท นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1092 ครั้ง)