๑ สหัสวรรษ แห่ง “พระนิยม”
๑ สหัสวรรษ แห่ง “พระนิยม”
พระบาทกัมรเดงกำตวนอัญศรีสุริยวรรมเทวะ ณ เมืองละโว้
----------------------------
หากนับย้อนหลังกลับไปเมื่อหนึ่งพันปีมาแล้ว ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรเขมร ได้ขยายอำนาจแผ่อิทธิพลทางการเมืองเข้ามายังดินแดนในลุ่มน้ำลพบุรี- ป่าสัก โดยเฉพาะเมือง“ลวปุระ” (Lavapür) หรือเมืองละโว้ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญทางศาสนา วัฒนธรรม และการติดต่อค้าขายที่สำคัญแห่งหนึ่งของรัฐทวารวดี หากแต่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นบ้านเมืองแห่งนี้ตกอยู่ในสภาพที่เป็นเมืองร้าง อันเนื่องมาจากการเกิด “กลียุค” จารึกโอเสม็ด (Osmach Inscription) ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๕๕๗ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา กรุงพนมเปญ มีข้อความอักษรขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖) ภาษาเขมรโบราณ และภาษาสันสกฤต กล่าวบรรยายถึงสภาพโดยทั่วไปของเมืองลวปุระสรุปความได้ว่า บ้านเมืองถูกทำลายจนพินาศ สูญเสียความงดงามไปทั้งหมด กลายเป็นป่าคลาคล่ำไปด้วยสัตว์ร้ายทั้งหลายมีเสือ เป็นต้น และมีสภาพที่น่าสะพรึงกลัวดุจดังสุสานหรือป่าช้า
..
มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งแห่งกลียุคที่ทำให้เมืองลวปุระถูกทำลายจนพินาศย่อยยับ อาจสืบเนื่องมาจากประมาณ ๘๐ กว่าปีก่อนหน้าการจารึกข้อความในจารึกโอเสม็ด ได้เกิดเหตุการณ์สงครามการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างพระเจ้าอัตราสตกะราช หรือพระเจ้าตราพกะแห่งเมืองหริปุญไชย กับพระเจ้าอุฉิฎฐกะจักรวรรดิหรือ อุจฉิตตจักรพรรดิ แห่งกรุงละโว้ และพระเจ้าชีวกหรือพระเจ้าสุชิตราช กษัตริย์แห่งสิริธัมมนคร (นครศรีธรรมราช) ซึ่งเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้นยืดเยื้อต่อเนื่องอยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๔๖๘-๑๔๗๑ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวถูกระบุถึงอยู่ในพงศาวดารโยนก และตำนานฝ่ายเหนือหลายฉบับ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์, จามเทวีวงศ์, เป็นต้น
..
เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๒) ทรงขึ้นครองราชย์บัลลังก์เมืองพระนครศรียโสธรปุระ ใน พ.ศ. ๑๕๔๙ ภายหลังจากทรงมีชัยชนะเหนือพระเจ้าชัยวีรวรมัน ได้มีพระราชบัญชาแต่งตั้งให้“ศรีลักษมีปติวรมัน” แม่ทัพของพระองค์ให้มาเป็นเจ้าเหนือพวกรามัญ ผู้ครอบครองดินแดนทางทิศตะวันตกของเมืองพระนคร ซึ่งคงจะหมายถึงชาวมอญหรือกลุ่มชนที่ใช้ภาษามอญในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย ศรีลักษมีปติวรมันทำให้คนเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจ และทำการเก็บภาษี นำผลประโยชน์จำนวนมากมายส่งกลับไปยังเมืองพระนคร จนได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นขุนคลัง รวมทั้งเขายังได้ทำการฟื้นฟูดินแดนทางทิศตะวันตกทั้งหมดซึ่งถูกทำลายและทิ้งร้างจนกลายเป็นป่ารกชัฏมาเป็นเวลานานในช่วงกลียุคให้กลับมาสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองดังเก่า
..
การดำเนินงานทางโบราณคดีของกรมศิลปากรพบหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานหลายแห่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมือง และวัฒนธรรมเขมร ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ –๑๗ เข้ามายังเมืองละโว้ เช่น ร่องรอยของชุมชนโบราณบริเวณแหล่งโบราณคดีโคกคลีน้อยซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางโบราณที่ใช้เดินทางติดต่อระหว่างเมืองหรือชุมชนโบราณในเขตที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราชผ่านทิวเขาพังเหย ในเขตตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี พบหลักฐานการอยู่อาศัย การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบขึ้นใช้เองในชุมชน รวมทั้งมีการติดต่อกับชุมชนโบราณร่วมสมัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างปราสาทก่อด้วยหินทรายและอิฐขนาดเล็กขึ้นเป็นศาสนสถานประจำชุมชน ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “โบราณสถานปรางค์นางผมหอม” จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงต้นครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ส่วนในเมืองลพบุรีปรากฏโบราณสถาน ๒ แห่ง ได้แก่ ศาลสูง และวัดซาก อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นฐานปราสาทก่อสร้างด้วยศิลาแลง ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ตรงกึ่งกลางของทุกด้านมีบันไดขึ้น-ลง ส่วนเรือนธาตุในปัจจุบันชำรุดหักพังลงมาทั้งหมด โบราณสถานทั้งสองแห่งนี้มีรูปแบบการก่อสร้างคล้ายสถาปัตยกรรมเขมรที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖
..
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบศิลาจารึกที่ยืนยันถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่ง อาณาจักรเขมรที่มีต่อเมืองละโว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จำนวน ๓ หลัก คือ จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๒) และจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี (หลักที่ ๒๑) ซึ่งข้อความที่ปรากฏแสดงให้เห็นสภาพทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของผู้คนในยุคสมัยนั้น
..
โดยเฉพาะใน จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) ที่มีศักราชระบุไว้ว่า จารึกขึ้นเมื่อมหาศักราช ๙๔๗ (พ.ศ. ๑๕๖๘) ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักนี้ จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกไว้ สามารถสรุปได้ว่า ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๗-๒๔๔๒ พระครูสังฆภารวาหะ (เนียม ภุมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง เป็นผู้ค้นพบจารึกที่ศาลสูง จังหวัดลพบุรี จึงนำไปถวายพระมงคลทิพมุนี (มา อินฺทสโร) ผู้ว่าการรักษาพระพุทธบาท ท่านจึงนำไปถวายต่อให้หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาล ชลิโต) หม่อมเจ้าพระราชาคณะฝ่ายสมถะซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หลังจากนั้นหม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาล ชลิโต) ได้นำหลักศิลาดังกล่าวไปทูลถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ศิลาจารึกหลักนี้จึงถูกเก็บไว้บนฐานพระเจดีย์วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนกระทั่งในราวปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงมีการย้ายเข้าไปเก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (ตึกถาวรวัตถุ) ในปัจจุบันจารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
..
ลักษณะของจารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) เป็นหลักศิลาสี่เหลี่ยม กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๑๓๐ เซนติเมตร หนา ๑๗ เซนติเมตร มีจารึกจำนวน ๑ ด้าน อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมรโบราณ จำนวน ๒๙ บรรทัด ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เป็นผู้อ่าน แปล มีข้อความโดยสรุปความว่า
..
เมื่อมหาศักราช ๙๔๔ (พ.ศ. ๑๕๖๕) วันอาทิตย์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ พระบาทกัมรเดงกำตวนอัญศรีสุริยวรรมเทวะ มีพระบัณฑูรตรัสประกาศ “พระนิยม” นี้ ให้บุคคลทั้งหลายถือเป็น “สมาจาร” คือ กฎที่ต้องประพฤติตามต่อไปในสถานที่อยู่ของดาบส (พราหมณ์) ทั้งหลาย หรือของผู้ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุมหายานก็ดี บวชเป็นถือสถวิระก็ดี ให้ท่านทั้งหลายที่ได้บวชโดยจริงใจถวาย “ดบะ” แด่พระบาท กัมรเดงกำตวนอัญศรีสุริยวรรมเทวะ ถ้าผู้ใดเข้ามาทำทุราจารใน “ดโบวนาวาส” ต่างๆ และมารบกวนดาบสซึ่งถือโยคธรรมไม่ให้เขาสวดมนต์ถวายดบะแด่พระบาทกัมรเดงกำตวนอัญศรีสุริยวรรมเทวะ โปรดเกล้าฯ ให้จับผู้นั้นนำมาขึ้นศาลสภา เพื่อจะได้ฟังคดีที่ควรจะถูกตัดสินอย่างเคร่งที่สุด ส่วนข้อความในตอนท้ายของจารึก สรุปความได้ว่า มหาศักราช ๙๔๗ (พ.ศ. ๕๖๘) มี “พระนิยม” อย่าให้ควาย หมู แพะ ไก่ เป็ด ลิง เข้าที่สถานที่อยู่ของดาบส หรือพระภิกษุเหล่านั้น
..
ดังนั้นพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ จึงเป็นวาระครบรอบหนึ่งพันปีแห่งการประกาศ “พระนิยม” ดังกล่าว ถึงจะผ่านกาลเวลามายาวนานนับพันปี แต่ข้อห้ามข้อกำหนดพฤติกรรมบางประการใน “พระนิยม” ก็ยังคงทันสมัยสามารถนำมาใช้ได้แม้ในห้วงเวลาปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียง : นายเดชา สุดสวาท
นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
หนังสืออ้างอิง :
ชินกาลมาลีปกรณ์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร เปรียญ , แปล . กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในการบูรณะโบราณสถาน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย . พิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๑
พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) . พงศาวดารโยนก พิมพ์ครั้งที่เจ็ด . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา ,๒๕๑๖
เรื่อง จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พิมพ์ในงาน ปลงศพ เจ้าทิพเนตร อินทวโรรสสุริยวงศ์ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ . พระนคร :โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร , ๒๔๖๓
หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร . จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ อักษรขอมโบราณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๕๖๔ . กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๖๔
อเนก สีหามาตย์ . ปรางค์นางผมหอม รายงานการขุดค้นทางด้านโบราณคดี ปรางค์นางผมหอม โดย โครงการบูรณะโบราณสถาน ลพบุรี ๔/๒๕๓๐ , ๒๕๓๐
W.O.Wolters . “ A WESTERN TEACHER AND THE HISTORY OF EARLY AYUDHYA” วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับพิเศษ ๓ ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทยตามทัศนคติสมัยปัจจุบัน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย , ๒๕๐๙
(จำนวนผู้เข้าชม 4068 ครั้ง)