โบราณสถานวัดโรง 
บ้านโรง หมู่ที่ ๕ ตำบลโรง อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา  
 
           วัดโรงเป็นวัดโบราณที่มีข้อมูลอยู่ในเอกสารโบราณสมัยอยุธยา คือ แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.๙๗๗ (พ.ศ.๒๑๕๘) ซึ่งเป็นแผนที่ภาพการกัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยา ปรากฏชื่อของวัดโรงว่า “วัดโรงน้อยขึ้นพะโคะ”
          ปัจจุบันวัดโรง เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มทางด้านตะวันออกของทะเลสาบสงขลา โดยมีคลองโรงไหลผ่านวัดทางด้านตะวันตก ทั้งนี้ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรได้ระบุไว้ว่า วัดโรงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๐ โดยเมื่อแรกเริ่มตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปทางตะวันออก ชาวบ้านเรียกชื่อเดิมกันว่า“วัดบน” ซึ่งสมัยก่อนนิยมการคมนาคมทางน้ำโดยใช้เรือเพื่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน จึงได้สร้างโรงเก็บเรือไว้ ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานโดยปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองกันมากขึ้น ทำให้วัดต้องย้ายมาสร้างเสนาสนะของวัดในที่ตั้งใหม่ที่อยู่ริมคลองด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนที่ขยายตัวขึ้น โดยตั้งวัดขึ้นที่โรงเก็บเรือ จึงได้ชื่อว่า " วัดโรง" ทั้งนี้วัดโรงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.๒๓๗๐ และได้ผูกพัทธสีมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๐
สิ่งสำคัญ
๑. อุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณลานกลางวัด สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๑ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นภาคใต้ผสมอิทธิพลการตกแต่งแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ และดัดแปลงตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ (พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๖๔) อุโบสถเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐถือปูน
หลังคาอุโบสถเป็นทรงจั่วชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องดินเผาท้องถิ่น โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยที่ทำจากปูนปั้นลงรักปิดทอง
๒. ศาลาการเปรียญ ชาวบ้านมักเรียกว่า ศาลาโรงธรรม สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นอาคารโถงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างอาคารสร้างด้วยไม้และคอนกรีต หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีข้อความที่ระบุว่าซ่อมแซมศาลาการเปรียญ พ.ศ. ๒๔๘๙ ปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่   ๒๓ – ๒๕
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
        กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดโรง ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๒๔๖ ง วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๗ หน้า ๑๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ งาน ๑๘.๕๒ ตารางวา 
 
เรียบเรียง นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 91 ครั้ง)