...

น้อนเด้ง จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดโคกเคียน
น้อนเด้ง จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดโคกเคียน
ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
----------------------------------------------------
 
จากกระแสความมาแรงของเจ้าฮิปโปน้อย หมูเด้ง ทำให้ไม่ว่าใครๆ ก็อยากเจอหมูเด้ง แต่สวนสัตว์เขาเขียวที่จังหวัดชลบุรีก็อยู่ไกลเกินไป วันนี้กลุ่มโบราณคดีจึงมาชวนทุกท่านแวะไปดูภาพเหล่าสรรพสัตว์ทั้งที่มีอยู่จริง และสัตว์ในจินตนาการ จากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดโคกเคียน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส กันค่ะ
แต่ว่า ตอนนี้อุโบสถวัดโคกเคียนอยู่ระหว่างรอการบูรณะ ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้รับงบประมาณสำหรับการบูรณะหลังคาอุโบสถในปีงบประมาณ 2568
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วัดโคกเคียน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส แต่เดิมวัดตั้งอยู่ที่บ้านโคกเคียน ต่อมาเมื่อชาวบ้านย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านไร่มากขึ้นจึงย้ายมาตั้งยังบริเวณปัจจุบันซึ่งห่างจากตัววัดเดิมประมาณ 1.5 กิโลเมตร และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาสามัญ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ร.ศ. 121 (พ.ศ.2445) โดยพระมาดเจ้าอธิการ กับนายจัน ทายกวัดในขณะนั้นเป็นผู้ขอรับพระราชทาน มีสิ่งสำคัญที่เป็นโบราณสถานภายในวัด คือ อุโบสถ
อุโบสถวัดโคกเคียนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด กว้าง 8.6 เมตร ยาว 17.2 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันอุโบสถทางด้านทิศเหนือตกแต่งด้วยปูนปั้นและกระเบื้องเคลือบลายเทพพนมท่ามกลางก้านขดมีตัวอักษรจารึก “สร้างพ.ศ.๒๔๗๓” ฐานอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังทำจากไม้ มีระเบียงรอบตกแต่งด้วยลูกกรงทรงมะหวด ทำจากเซรามิคเคลือบสีน้ำตาล อุโบสถล้อมรอบด้วยซุ้มใบเสมา 8 ทิศเป็นใบเสมาเดี่ยว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานทำจากโลหะขนาบด้วยพระพุทธรูปศิลาศิลปะพม่า 1 องค์ และพระพุทธรูปศิลปะไทย 1 องค์  พื้นภายในปูด้วยกระเบื้องเคลือบสีฟ้า ฝ้าเพดานทำจากไม้ ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมจากสีฝุ่นแบ่งออกเป็น 6 ช่อง แต่ละช่องกั้นด้วยขื่อไม้ตกแต่งด้วยลายไทย เช่น ลายประจำยาม ลายกรุยเชิง เป็นต้น ตรงกลางของมุมช่องตกแต่งด้วยดอกบัวทำจากไม้ ภาพจิตรกรรมในแต่ละช่องจะมีคำบรรยายอยู่ภายในภาพ
บริเวณผนังอุโบสถทั้งสี่ด้านตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฟ้า สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีฟ้า เขียนภาพเทพพนม บางส่วนทำเป็นราหูคายใบไม้ม้วน ดอกไม้ร่วง สัตว์มีปีก ภาพสัตว์ป่า สัตว์ในป่าหิมพานต์ ไปจนถึงภาพเล่าเรื่อง เช่น นายพรานกำลังล่าสัตว์ ภาพคนปีนต้นงิ้ว คนกับควาย เป็นต้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดโคกเคียน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส. เอกสารอัดสำเนา, 2563.
กระทรวงวัฒนธรรม. กรมศิลปากร. สมุดภาพสัตว์หิมพานต์. กรุงเทพฯ ซ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2561.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวศศิธร  ฟักเขียว  นักโบราณคดีปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 18 ครั้ง)


Messenger