...

ประวัติของพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน
พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน 
ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
 
ประวัติของพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน 
          ชื่อเขาตังกวนปรากฏหลักฐานครั้งแรกในแผนที่ภาพกัลปนาวัดเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ส่วนองค์พระเจดีย์ที่อยู่บนยอดเขาตังกวนมีประวัติการก่อสร้างไม่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่มีปรากฏข้อมูลหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ชัดเจนในเอกสารพงศาวดารเมืองสงขลาที่เขียนขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาลำดับที่ ๕ ระบุไว้ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ เสด็จประพาสเมืองสงขลา ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนเขาตังกวน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ เพื่อสักการะพระเจดีย์และทอดพระเนตรทัศนียภาพเมืองสงขลาจากมุมสูง ทรงมีพระราชดำริจะให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้นกว่าของเก่า จากนั้นในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๐๒ ทรงโปรดเกล้าฯให้สมุหพระกลาโหม (ช่วง บุนนาค) เอาตัวอย่างพระเจดีย์มาให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ถึงทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ เสด็จนิวัติถึงพระนครแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่าย (หนู เกตุทัต) เป็นข้าหลวงออกไปให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีความสูง ๙ วา ๓ ศอก (ประมาณ ๑๘.๗๕ เมตร) โดยได้พระราชทานเงินทั้งสิ้นจำนวน ๓๗ ชั่ง ๔ บาท
          ในโอกาสเดียวกันนั้นเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ได้สร้างคฤห์ (ซุ้มพระ) ต่อที่ฐานทักษิณ ๒ คฤห์ อยู่ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ขององค์พระเจดีย์เพื่อเป็นที่ทำการสักการะบูชาพระเจดีย์ พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารเก๋งจีนขนาดเล็กอยู่ทั้ง ๔ มุม และมีกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยสิ่งดังกล่าวนี้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์) ทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศลเข้าในพระเจดีย์หลวง คิดเป็นเงิน ๑๗ ชั่ง ๓ บาท การบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์นี้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ (พ.ศ. ๒๔๐๙) โดยปรากฏศิลาจารึกเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์อยู่ที่ผนังเหนือแท่นบูชาภายในคฤห์ทางด้านทิศใต้ ซึ่งปัจจุบันศิลาจารึกดังกล่าวได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
           เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จฯ เขาตังกวน และทรงบันทึกถึงเรื่องพระเจดีย์บนเขาตังกวนรวมทั้งสถานที่สำคัญต่างๆของเมืองสงขลาไว้
          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ (ตรงกับวันอังคารที่ ๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๓๑) เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวนทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริจะสร้างค้างอยู่ จนแล้วเสร็จในปีศก ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) 
          นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างบันไดนาคซึ่งเป็นบันไดที่สร้างขึ้นด้วยหินตั้งอยู่ระหว่างศาลาพระวิหารขึ้นสู่พระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน รวมทั้งประภาคารก่ออิฐถือปูน โดยก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ดังปรากฏข้อความในหนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ซึ่งประภาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้แสงไฟแสดงที่หมายในการนำเรือเข้าร่องน้ำ อ่าว เขตท่าเรือหรือเตือนอันตรายเวลาเดินเรือ ปัจจุบันประภาคารบนเขาตังกวนอยู่ในความดูแลของกองเครื่องหมายทางเรือ กรมอุทกศาสตร์
           ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชขอพระราชทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภานุพันธุวงษ์วรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เรื่องขอรับพระราชทานปืนทองเหลืองขนาดย่อม ๆ จำนวน ๒ กระบอก สำหรับไว้ยิงเป็นเครื่องสัญญาณบนยอดเขาพระเจดีย์ เมื่อวันที่ ๔ เดือน มกราคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ซึ่งจะส่งสัญญาณเพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบในเวลาที่เรือเมล์หรือเรือราชการเข้าออก เพื่อความสะดวกทางการค้าและทางราชการ
            พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๖ กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา ได้ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวนและพลับพลาที่ประทับรัชกาลที่ ๔ (ศาลาวิหารแดง) 
           พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ สงขลา ได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานบนเขาตังกวนอีกครั้ง ประกอบด้วย พระเจดีย์หลวง ศาลาวิหารแดง บันไดนาค และบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
           ในการเฉลิมฉลองเมืองสงขลา ๓๐๐ ปี ซึ่งจัดงานระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ จังหวัดสงขลาได้ทาสีองค์พระเจดีย์และทาสีทองปลียอดพระเจดีย์หลวง ทำบันไดนาคจากเชิงเขาขึ้นตังกวน และเริ่มโครงการขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อบรรจุ ณ พระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวนนี้
            ต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๙ อันเป็นปีมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี นายภาณุ อุทัยรัตน์ นายอำเภอเมืองสงขลา ได้รวบรวมเงินบริจาคจากชาวสงขลาผู้มีจิตศรัทธา จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ดำเนินการทาสีองค์พระเจดีย์หลวง ขณะเดียวกันสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๐ สงขลา ได้บูรณะพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน
จากนั้นในระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักพระราชวังมาถึงจังหวัดสงขลา เพื่อทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์หลวงเขาตังกวน โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นประธาน 
               การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 
พระเจดีย์และพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบนเขาตังกวน (ศาลาวิหารแดง) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเป็นครั้งแรก ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕  เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๘๐ หน้า ๑๔๗ (ฉบับพิเศษ) วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๘ พื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๒๕ ตารางวา โดยมีสิ่งสำคัญ ประกอบด้วย พระเจดีย์ , พลับพลาที่ประทับฯ (ศาลาวิหารแดง) , ประภาคาร  และบันไดนาค 
               โครงการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ 
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา กรมศิลปากร ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงิน ๓,๖๙๔,๐๐๐ บาท (สามล้านหกแสนเก้าหมื่นสี่พันบาทถ้วน) เพื่อดำเนินงานโครงการบูรณะพระเจดีย์บนเขาตังกวน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน คือ การบูรณะซ่อมแซมองค์พระเจดีย์ และองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คฤห์ (ซุ้มพระ) ทางด้านทิศเหนือ – ใต้ , บันไดทางขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ , ลานประทักษิณบนฐานพระเจดีย์ , อาคารเก๋งจีนทั้ง ๔ หลัง , กำแพงแก้ว และพื้นลานภายในเขตกำแพงแก้ว
ซึ่งจะมีรายละเอียดขั้นตอนในการอนุรักษ์พระเจดีย์บนเขาตังกวนให้รับชมในเร็วๆนี้ นะคะ 
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ
นักโบราณคดีชำนาญการ  สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
———————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————————
เรื่องพระเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน เพิ่มเติม
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1208053499532811&id=461661324172036&sfnsn=mo

(จำนวนผู้เข้าชม 5489 ครั้ง)


Messenger