...

กูฑุเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๒)
        ชุดองค์ความรู้พร้อมรับประทาน ในหัวข้อ : “กูฑุเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๒)
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
        ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหลักฐานศิลปกรรมจากโบราณสถานภูเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่าหลายชิ้นสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียที่มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา สำหรับตอนนี้ จะเน้นที่โบราณวัตถุสำคัญของเจดีย์เขาน้อย คือ กูฑุ มาร่วมกันหาคำตอบว่ากูฑุคืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการกำหนดอายุ การสันนิษฐานสภาพดั้งเดิมของเจดีย์เขาน้อย และบ่งบอกถึงชุมชนคนสงขลาก่อนการก่อตั้งเมืองที่หัวเขาแดงอย่างไรบ้าง
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
กูฑุ
        กูฑุ (Kudu) เป็นภาษาทมิฬ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จันทรศาลา (Chandraśālā) หรือ ควากษะ (Gvākṣa) เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงซุ้ม หรือหน้าต่างทรงวงโค้งรูปเกือกม้า นิยมใช้ประดับหลังคาลาดหรือเป็นลายประดับในสถาปัตยกรรมอินเดีย ตรงกลางของกูฑุมักสลักใบหน้ารูปบุคคลโผล่ออกมา 
หน้าที่การใช้งาน ตำแหน่งที่ปรากฏ
        กูฑุ เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็น “ปราสาท” หรือเรือนชั้นซ้อน ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมฐานันดรสูง สงวนการสร้างหรือใช้งานสำหรับเทพเจ้าหรือกษัตริย์เท่านั้น จึงพิเศษมากกว่าอาคารโดยทั่วไป  
        ตำแหน่งที่ประดับกูฑุมักพบได้บนชั้นหลังคา หรือประดับบนฐานของเทวาลัยที่ตกแต่งให้เหมือนอาคารจำลอง กูฑุเปรียบได้กับการจำลองหน้าต่างของอาคารชั้นบน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นไปได้จริงเพราะข้อจำกัดทางโครงสร้าง จึงชดเชยด้วยการทำช่องขนาดเล็ก และมีใบหน้าบุคคลโผล่ออกมาเพื่อแสดงแทนหน้าต่างและคนที่ขึ้นไปชั้นบนได้
        ลวดลายกูฑุพัฒนามาจากหลังคาเครื่องไม้ในศิลปะอินเดียโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๓-๖ หรือราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบตัวอย่างบนภาพสลักที่สถูปภารหุต ถ้ำโลมัสฤๅษี (Lomas Rishi) ถ้ำภาชา นำมาใช้ประดับเรื่อยมาจนถึงศิลปะคุปตะ-หลังคุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ ดังพบที่ถ้ำอชันตา หมายเลข ๑๙ เป็นต้น ต่อมาการสร้างกูฑุแพร่มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ศิลปะชวา และศิลปะจาม 
         สำหรับในประเทศไทย พบหลักฐานกูฑุในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น กูฑุพบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ภาพแกะสลักกูฑุบนฐานศิลา ได้จากเมืองนครปฐม จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนในวัฒนธรรมศรีวิชัย พบร่องรอยการทำกูฑุบนพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กูฑุเขาน้อย
        ในจังหวัดสงขลา พบหลักฐานกูฑุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่โบราณสถานเขาน้อย อำเภอสิงหนคร โดยภาพถ่ายก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ แสดงตำแหน่งของกูฑุ (ชิ้นส่วนกโปตะ) ถูกค้นพบบริเวณกลางฐานชั้นบนของเจดีย์ ชิ้นหนึ่งตั้งอยู่บนเสา อีกชิ้นหนึ่งอยู่ในกองอิฐ ซึ่งน่าจะเคยเป็นฐานของสถูปประธาน และมีการค้นพบกูฑุในสภาพสมบูรณ์อีกจำนวน ๒ ชิ้น นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ 
        - กูฑุชิ้นที่ ๑ แกะสลักจากหินตะกอน ลักษณะเป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในสลักให้มีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล ผมหวีเสยขึ้น คิ้วโค้ง จมูกเป็นสัน ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่ 
        - กูฑุชิ้นที่ ๒ แกะสลักจากหินทรายสีแดง มีลักษณะคล้ายกับชิ้นแรกแทบทุกประการ คือ เป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในมีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล แต่มีข้อแตกต่างจากชิ้นแรก คือ ใบหน้าชำรุดมีรอยแตก ผมเป็นลอนหนา คิ้วโค้ง ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่ 
        ลักษณะของกูฑุทั้งสองชิ้น ค่อนข้างกลม ยังคงรูปทรงเกือกม้า ส่วนปลายคล้ายลายใบไม้ม้วน อาจคลี่คลายจากลายมกรคายอุบะ เทียบเคียงได้กับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและวกาฏกะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำผมหวีเสยกลับไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดีย แต่เป็นงานท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานแล้ว จึงกำหนดอายุในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา 
        ข้อสังเกตอีกประการ คือ ลักษณะของหินที่นำมาแกะสลักเป็นกูฑุ เป็นหินประเภทเดียวกับที่พบบนภูเขาในอำเภอสิงหนคร เช่น เขาแดง เขาน้อย ซึ่งเป็นหินทรายสีแดง หรือหินตะกอน จึงเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่ากูฑุที่พบที่ภูเขาน้อย สร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดเชิงวิชาการอีกครั้ง
กูฑุเขาน้อย (กโปตะ)
        นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนของกูฑุอีกสองชิ้นจากภูเขาน้อย แต่มีลักษณะต่างกัน คือ แกะสลักค่อนข้างเรียบง่ายกว่า และอยู่ติดกับแท่งหินยาว ที่มีหน้าตัดด้านข้างลาดลง สันนิษฐานได้ว่าหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะประกอบกันเป็นแถบหลังคาลาด มีกูฑุเรียงต่อกันเป็นแนวยาว เป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “กโปตะ” โดยทั่วไป มักประดับฐานหรือชั้นหลังคา กูฑุที่ปรากฏบนแถบหลังคาลาดจึงเป็นเสมือนช่องหน้าต่างบนอาคาร และทำให้องค์ประกอบที่ประดับกโปตะนั้นกลายเป็นปราสาทหรืออาคารเรือนชั้นซ้อน
ข้อสันนิษฐานจากศิลปกรรมเจดีย์เขาน้อย
        การพบกูฑุ และกโปตะ ซึ่งทั้งสองมีความหมายแทนหน้าต่างของอาคารซ้อนชั้น จึงทำให้สันนิษฐานได้ไปอีกว่า ศาสนสถานบนภูเขาน้อยสร้างตามคติ “ปราสาท” หรืออาคารแบบเรือนชั้นซ้อน ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงฐานะอันสูงส่ง ใช้กับสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนาและราชสำนัก
        อย่างไรก็ตาม  ด้วยหลักฐานที่พบมีจำนวนน้อย จึงอาจไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยในช่วงก่อนสมัยอยุธยาจะมีรูปแบบเช่นไร หรือเป็นปราสาทแบบใด ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ อาจต้องเปรียบเทียบกับเจดีย์ในศิลปะทวารวดี ที่มักสร้างให้ฐานของเจดีย์เป็นปราสาทที่มีเรือนธาตุทึบ ไม่สามารถเข้าไปได้ แต่มีองค์ประกอบของฐาน เรือนธาตุ และหลังคาครบถ้วน การประดับกูฑุและกโปตะจึงน่าจะอยู่ที่ส่วนฐาน ดังพบในเจดีย์ทวารวดีแห่งอื่น ๆ เช่น พระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เขาคลังนอก เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
       หรืออีกกรณีที่เป็นไปได้ คือ บนฐานขนาดใหญ่ มีปราสาทตั้งอยู่อีกหลังหนึ่ง ทั้งกูฑุและกโปตะอาจเคยประดับชั้นหลังคาของปราสาทหลังนั้น ก่อนที่เวลาต่อมา ปราสาทพังทลายลงหรือถูกรื้อถอนเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา
        ทั้งนี้การสร้างศาสนสถานบนยอดภูเขา ยังส่งผลให้ภูเขาน้อยมีสถานะเป็น “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” เนื่องด้วยเป็นที่ตั้งของสักการสถานประจำชุมชนในบริเวณนั้น โบราณวัตถุที่พบโดยมีอายุสมัยแตกต่างกันสะท้อนความสืบเนื่องของการใช้งานพื้นที่ เปลี่ยนผ่านจากสถาปัตยกรรมเนื่องด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย สู่รูปแบบพื้นถิ่น 
กูฑุภูเขาน้อย ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง
        ในบรรดาโบราณวัตถุหลากหลายชิ้นที่พบจากการบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อย “กูฑุ” ทั้งสี่ชิ้นนับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สุด ที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า “ชุมชนชาวสงขลา” บริเวณภูเขาน้อย-หัวเขาแดง ราวหนึ่งพันปีที่แล้ว มีการติดต่อและรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากอินเดีย ทั้งคติของการสร้างอาคารฐานันดรสูงที่เรียกว่า “ปราสาท” และรูปแบบของวัตถุที่สัมพันธ์กันโดยตรง คือลักษณะกรอบของกูฑุและการทำใบหน้าบุคคลประดับตรงกลาง  ขณะเดียวกัน ลักษณะงานแบบท้องถิ่นก็มาผสมผสานกับรูปแบบศิลปะจากดินแดนอื่น เช่นทรงผมของบุคคลในกูฑุที่ไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดียช่วงเวลานั้น 
        แม้ว่าหลักฐานที่พบในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภาพสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์เขาน้อยก่อนสมัยอยุธยาจะเป็นอย่างไร กูฑุเหล่านี้ประดับที่ส่วนใดของสถาปัตยกรรม แต่จะเห็นร่องรอยการเติบโตของชุมชนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรสทิงพระ การติดต่อกับชุมชนภายนอก ซึ่งยืนยันได้ว่าประวัติศาสตร์ของคนสงขลาสามารถนับย้อนไปได้ก่อนการกำเนิด “ซิงกอรา” ที่หัวเขาแดง
        ผู้ที่สนใจ สามารถมาชมกูฑุ ตลอดจนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ จากโบราณสถานภูเขาน้อย ได้ที่ห้องจัดแสดงหมายเลข ๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา หรือหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับกูฑุและโบราณสถานภูเขาน้อยช่วงก่อนสมัยอยุธยา เชิญชวนมาแลกเปลี่ยนกันได้ในโพสต์นี้
โปรดติดตามตอนต่อไป...
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ/ ลายเส้น: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 
•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร.  ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).  สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555. 
เชษฐ์ ติงสัญชลี.  ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2565. 
เชษฐ์ ติงสัญชลี.  อาคารศิขระ วิมานในศิลปะอินเดียกับอิทธิพลต่อศิลปะในเอเชียอาคเนย์.  กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2563. 
นงคราญ ศรีชาย.  ตามรอยศรีวิชัย ศึกษาเชิงวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ศรีวิชัย.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2544.
สมเดช ลีลามโนธรรม, “ลวดลายกูฑุในสถาปัตยกรรมอินเดียและที่ปรากฏในโบราณสถานของไทย,” ศิลปากร 61, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2561): 5-19.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.  ศัพทานุกรมโบราณคดี.  กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.  
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.
อมรา ศรีสุชาติ.  ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557.
ขอขอบคุณ : 
- ข้อมูลอันเป็นประโยชน์จาก ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
- ข้อมูลเรื่องหินจาก คุณฟาอิศ จินเดหวา นักศึกษาภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
- ภาพถ่ายก่อนดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานเขาน้อย พ.ศ. 2529 จากคุณสารัท ชลอสันติสกุล กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 3694 ครั้ง)


Messenger