กูโบร์โต๊ะมาโหม สุสานเจ้าเมืองสตูลสายสกุลสนูบุตรและชาวเมืองสตูล
กูโบร์โต๊ะมาโหม สุสานเจ้าเมืองสตูลสายสกุลสนูบุตรและชาวเมืองสตูล
กูโบร์โต๊ะมาโหม
กูโบร์โต๊ะมาโหม เป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง สต๐๒๒๕ และสต๐๒๒๖ ส่วนทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล ซึ่งคัดลอกมาจากทะเบียนที่ดินสงวนแปลงลำดับที่ ๗๘ นำขึ้นทะเบียนเมื่อครั้งจังหวัดสตูล ขึ้นต่อมณฑลนครศรีธรรมราชนั้นบันทึกชื่อว่า “เปลวโต๊ะมาโหม” (ที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “เปรว” ซึ่งเป็นภาษาปักษ์ใต้หมายถึงป่าช้า) แต่ในปัจจุบันกูโบร์แห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อสุสานเจ้าเมืองสตูล หรือกูโบร์ อัล-มัรฮูม ตนกูมูฮำหมัด อากิบ สนูบุตร
กูโบร์แห่งนี้ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลระหว่างพ.ศ.๒๓๘๒ - ๒๔๑๙ สั่งให้สร้างขึ้นสำหรับฝังศพเจ้าเมือง และราษฎร โดยในครั้งนั้นได้มอบหมายให้หวันอุหมาก (หวันอุมาร์) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
กูโบร์โต๊ะมาโหมอยู่ที่ไหน?
กูโบร์โต๊ะมาโหม ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ๗ (สนูบุตรอุทิศ) ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
การจัดสรรพื้นที่ใช้งานภายในกูโบร์
ภายในกูโบร์แห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๖.๔ ตารางวา การแบ่งสัดส่วนที่ฝังศพออกเป็นสองส่วนคือ
๑.พื้นที่ฝังศพเจ้าเมืองสตูลและญาติวงศ์ในสายสกุลสนูบุตร เป็นพื้นที่ซึ่งแยกไว้เป็นการเฉพาะมีแผนผังบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๒๐.๓๐ เมตร ยาว ๒๓.๗๐ เมตร ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในกูโบร์ใหญ่ โดยมีกำแพงก่ออิฐดินเผาสอปูนและฉาบปูนล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ พื้นที่ส่วนนี้มีเนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๓๒.๗ ตารางวา
๒.พื้นที่สำหรับฝังศพราษฎร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๗๓.๗๐ ตารางวา เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กูโบร์แห่งนี้ โดยถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและมีกำแพงล้อมรอบบริเวณกูโบร์ทั้งหมดไว้อีกชั้นหนึ่ง และส่วนที่ ๒ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกโดยมีถนนเรืองฤทธิ์จรูญแบ่งพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ออกจากกัน
สกุล “สนูบุตร”
สกุลสนูบุตร นับเป็นวงศ์สกุลที่สืบเชื้อสายเนื่องมาจากเชื้อสายของสุลต่านแห่งเคดะห์(Kedah) หรือไทรบุรี โดยนับถือว่าพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) บุตรชายของพระยาไทรบุรี(สุลต่านอับดุลละห์ มูการามชาห์) และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน(สุลต่านอะหมัดตายุดดิน ฮาลิม ชาห์ที่๒) เป็นต้นสายสกุล โดยมีเชื้อสายได้ปกครองมูเก็มสโตย ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นเมืองสตูลสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนี้
พระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) มูเก็มสโตย พ.ศ.๒๓๕๖-๒๓๕๘
พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) เมืองสตูล พ.ศ.๒๓๘๒-๒๔๑๙
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เมืองสตูล พ.ศ.๒๔๑๙-๒๔๒๗
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เมืองสตูล พ.ศ.๒๔๒๗-๒๔๔๐
ขอรับพระราชทานนามสกุล
เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระพิไสยสิทธิสงคราม(ตนกูมะหะหมัด) ต่อมาคือพระพิมลสัตยาลักษณ์ กรมการพิเศษเมืองสตูล ผู้เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ได้ขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๕๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๓ หน้า ๑๐๒๓ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๕๙ ว่า “สะนุบุตร” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sanuputra”
พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) เจ้าเมืองสตูลคนที่ ๑ พ.ศ.๒๓๘๒-๒๔๑๘
ตนกูมูฮำหมัดอากิบเกิดที่เมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ (Kedah) ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) รายามูดาแห่งไทรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านหรือเจ้าเมืองไทรบุรีคือ ตนกูอับดุลละห์ มูการามชาห์ พระยาไทรบุรี โดยพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) บิดาของตนกูมูฮำหมัดอากิบเคยเป็นผู้ปกครองท้องที่มูเก็มสโตยมาก่อน แต่ในช่วงเวลานั้นมีสถานะเป็นเพียงท้องที่ตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรี ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์กบฏไทรบุรีถึงสองครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มูเก็มสโตยได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตนกูมูฮำหมัดอากิบขึ้นเป็นพระยาอภัยนุราช ถือเป็นเจ้าเมืองสตูลคนแรก และได้ปกครองเมืองสตูลไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕
ในพ.ศ.๒๔๑๙ พระยาอภัยนุราช ได้กราบบังคมทูลทูลลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต และเลื่อนให้เป็นจางวางเมืองสตูลที่ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัตร ศรีสกลรัฐมหาปธานาธิการ ไพศาลสุนทรจริต สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล พระราชทานเครื่องยศพานทอง และต่อมาได้ถึงแก่อนิจกรรมในปีเดียวกันนั้น
หลุมฝังศพพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ)
ร่างของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์โต๊ะมาโหม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว ๓.๐๗ เมตร กว้าง ๑.๕๒ เมตร สูง ๑.๓๕ เมตร ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เจ้าเมืองสตูลคนที่ ๒ พ.ศ.๒๔๑๙-๒๔๒๗
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เป็นบุตรคนโตของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูลในราชทินนาม "พระปักษาวาสะวารณินทร์" จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๑๙ พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ผู้เป็นบิดากราบบังคมทูลลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็น พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดี ศรีอินดาราวิยาหยา พระยาสตูน พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.๒๔๒๗ มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๖ คน
หลุมฝังศพพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล)
ร่างของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์โต๊ะมาโหม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว ๒.๕๒ เมตร กว้าง ๐.๙๘ เมตร สูง ๑.๐๗ เมตร ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ และลายเลขาคณิต
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เจ้าเมืองสตูลคนที่ ๓ พ.ศ.๒๔๒๗-๒๔๔๐
พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ก่อนบิดาถึงแก่อนิจกรรมนั้น รับราชการเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูลที่ พระปักษาวาสะวารณินทร เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.๒๔๒๗ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็น พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดีศรีอินดาราวิยาหยา ผู้ว่าราชการเมืองสตูล
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๘ พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) มีอาการป่วยจนไม่สามารถบริหารราชการได้ เจ้าพระยาไทรบุรีจึงแต่งตั้งกูเด็นบิน กูแมะ ข้าราชการฝ่ายปกครองของเมืองไทรบุรี มาเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูล เพื่อช่วยประคับประคองการบริหารราชการ พระยาอภัยนุราช(ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.๒๔๔๐ และไม่มีบุตรสืบทายาทเป็นเจ้าเมืองสตูล
หลุมฝังศพพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน)
ร่างของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์โต๊ะมาโหม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว ๒.๕๕ เมตร กว้าง ๑.๐๐ เมตร สูง ๐.๘๐ เมตร
เรียบเรียงข้อมูลโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที ๑๑ สงขลา
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม13.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม14.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม15.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: กูโบร์โต๊ะมาโหม16.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 5731 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน