สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี
สุไหงบารู
สุไหงบารู หรือคลองใหม่ (สุไหง=คลอง, บารู=ใหม่) เป็นชื่อคลองในแขวงเมืองปัตตานี ซึ่งขุดขึ้นตามบัญชาของพระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช (สุลต่านสุไลมานชารีฟุดดินหรือตนกูบอสู) ผู้ปกครองเมืองปัตตานีระหว่างพ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๔๒ เพื่อใช้เป็นคลองลัดในการเดินทางในแม่น้ำปัตตานี มีจุดเริ่มต้นแยกจากแม่น้ำปัตตานีบริเวณบ้านปรีกี ตำบลกระโด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และไปบรรจบกับแม่น้ำปัตตานีอีกครั้งในบริเวณรอยต่อตำบลยะรังและตำบลประจัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี สามารถย่นระยะทางจากเดิมราว ๒๑ กิโลเมตร ให้เหลือเพียงประมาณ ๗ กิโลเมตร และแนวคลองขุดลัดแม่น้ำปัตตานีทั้งหมดอยู่ในดินแดนแขวงเมืองปัตตานี
.........................................................................................
การขุดคลองด้วยเหตุประหลาด
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ.๒๔๓๙ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองปัตตานีทรงบันทึกเรื่องราวของคลองแห่งนี้ไว้ว่า
“...มีคลองลัดซึ่งพระยาตานีได้ขุดด้วยเหตุอันปลาดแห่งหนึ่ง ด้วยแม่น้ำนี้ปลายน้ำมาแต่เมืองยะลา ไหลไปในเขตรแดนหนองจิก ก่อนแล้วจึงวกมาออกปากน้ำเมืองตานี สินค้าที่ล่องลงมาตามลำน้ำถึงพรมแดนเมืองหนองจิกๆ ตั้งเก็บภาษีผ่านเมืองตรงนั้น ครั้นเรือล่องเข้าพรมแดนเมืองตานีๆ เก็บอิกซ้ำ ๑ เปนที่ย่อท้อของพ่อค้าภากันไป ออกทางปากน้ำเมืองหนองจิกเปนอันมาก เพื่อเหตุที่จะหนีภาษีสองซ้ำ พระยาตานีจึงคิดขุดคลองลัดขึ้นในพรมแดนเมืองตานีไปทะลุออก ลำน้ำใหญ่เหนือพรมแดนเมืองหนองจิก กันให้เรือหลีกลงมาทางนี้ได้ แต่คลองนี้ยังตื้นเดินได้แต่ระดูน้ำ…”
...............................................................................................
ผลจากการขุดคลอง
๑.การขุดคลองสุไหงบารูทำให้พ่อค้าสามารถเดินทางตามลำน้ำปัตตานีโดยไม่ต้องวกเข้าไปในดินแดนของเมืองหนองจิก ทำให้เมืองปัตตานีมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออกมากขึ้น แต่ก็ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออกของเมืองหนองจิกลดลง
๒.ทางราชการต้องวางแผนเปลี่ยนลักษณะการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออกใหม่เพื่อลดความซ้ำซ้อน และเหตุขัดแย้งระหว่างเมืองต่างๆ โดยวางแผนให้มีการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออกที่ปากน้ำหลัก ๔ แห่ง คือปากน้ำเมืองหนองจิก ปากน้ำเมืองตานี ปากน้ำเมืองสายบุรี และปากน้ำเมืองยะหริ่ง โดยให้ยกเลิกด่านตรวจเก็บภาษีตามพรมแดนรอยต่อเมืองต่างๆให้หมด
๓.การขุดคลองสุไหงบารูซึ่งเป็นคลองลัดส่งผลให้แม่น้ำปัตตานีเดิมที่ไหลผ่านเข้าไปในแดนเมืองหนองจิกแห้งขอด จนมีน้ำไม่พอหล่อเลี้ยงนาข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักของเมืองหนองจิก นอกจากนี้ปริมาณน้ำจืดและตะกอนดินที่แม่น้ำปัตตานีเคยพัดพามามีปริมาณลดลงมากส่งผลให้เมืองหนองจิกเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการลุกล้ำเข้ามาของน้ำเค็มมาก
ขึ้นด้วย
เรียบเรียงโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ
กราฟฟิค นางสาวนันธ์ทิกา นิชรานนท์ เจ้าหน้าที่ทั่วไปกลุ่มโบราณคดี
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: สุไหงบารู - คลองลัดในแม่น้ำปัตตานี6.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 3479 ครั้ง)