ความรู้เรื่อง "วังเจ้าเมืองสายบุรีที่ยี่งอ"
ความรู้เรื่อง "วังเจ้าเมืองสายบุรีที่ยี่งอ"

วังเจ้าเมืองสายบุรีที่ยี่งอ
          เมื่อมีการแบ่งปัตตานีออกเป็น ๗ เมืองคือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก รามันห์ ระแงะ ยะลา ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๒ แล้ว ได้มีการแต่งตั้ง “พระยาเมือง” สำหรับปกครองเมืองต่างๆ ในครั้งนั้นนิดะห์หรือนิอาดัส ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสายบุรี ตั้งวังอยู่ที่บือแนกาเต็ง ตำบลบ้านยือรีงา(ยี่งอ)ริมแดนต่อพรมแดนเมืองระแงะ ซึ่งในปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณตลาดยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส วังแห่งนี้ใช้เป็นที่ว่าราชการเมืองต่อมาทั้งในสมัยพระยาสายบุรี(นิละไบ หรือนิรามาย หรือตนกู ยาลารุดดิน) เจ้าเมืองสายบุรีคนที่ ๒ และพระยาสายบุรี (นิกัลซิห์ หรือตนกูอับดุลกอเดร์) เจ้าเมืองสายบุรีคนที่ ๓ 
          ครั้นถึงราว พ.ศ.๒๔๑๔ พระยาสุริยสุนทรบวรภักดีศรีมหารายาปัตตมอับดุลวิบูลย์ขอบเขตรประเทศมลายูวิเศษวังษา(นิแปะหรือตนกูอับดุลมูตอลิบ) เจ้าเมืองสายบุรีคนสุดท้าย ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองมายังเชิงเขาสลินดงบายู ในเขตตำบลตะลุบัน และได้สร้างวังเจ้าเมืองสายบุรีขึ้นใหม่ในพ.ศ.๒๔๒๘ โดยใช้สถาปนิกชาวชวาและช่างท้องถิ่นใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี
          กล่าวกันว่าลักษณะของวังแห่งนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงลีมะห์(ปั้นหยา)มุงด้วยกระเบื้องดินเผา และมีการสร้างกำแพงด้วยหินล้อมรอบเขตวังเอาไว้ ปัจจุบันตัวอาคารภายในวังพระยาสายบุรีที่ยี่งอได้พังทลายลงจนหมดแล้ว และคงเหลือเพียงร่องรอยกำแพงวังที่ก่อด้วยหิน แต่ยังมีชิ้นส่วนของบานประตู ไม้ฝา และแผ่นหินขั้นบันได จัดแสดงให้ชมได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ ในบริเวณใกล้ที่ทำการเทศบาลตำบลยี่งอ 
ขอบคุณข้อมูลจาก I ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ
เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 2678 ครั้ง)

Messenger