Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย ตอนที่ 2 กับ "หอไตรกลางน้ำ อีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าพระธาตุ
Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย ตอนที่ 2 กับ " #หอไตรกลางน้ำ อีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าพระธาตุ..."
 
สวัสดีครับ กลับมากันอีกครั้ง หลังจากหลายสัปดาห์ก่อนพี่นักโบนำเสนอ Unseen ทางวัฒนธรรมอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา! กับ อุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ  กันไปแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกท่านเป็นอย่างมาก กับภาพจิตรกรรมชั้นครูทั้งนอก และในอุโบสถหลังเก่าที่เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ผสมผสานไปพร้อมวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น  โดยในวันนี้ พี่นักโบ จะมานำเสนออีกหนึ่งความวิจิตรงดงามของวัดหน้าธาตุ นั่นคือ "หอไตรกลางน้ำ" นั่นเองครับ
 
#หอไตรวัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ซึ่งราษฎรในพื้นที่เรียกว่า "ลำตาน้อย" ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ( ระยะห่างประมาณ 50 เมตร หอไตรมีลักษณะเป็นอาคารเรือนไทย ฝาลูกปะกน (ไม้ลูกสกัดฝาเรือนสำหรับนำแผ่นกระดานมากรุ) และมีหน้าต่างลูกมะหวดรวม 5 ช่อง (ผนังด้านทิศเหนือ เเละทิศใต้ ด้านละ 2 ช่อง เเละผนังด้านทิศตะวันออก 1 ช่อง) ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเพื่อให้สอดรับกับอุโบสถหลังเก่าที่หันหน้ามาทางด้านทิศตะวันออก
 
ส่วนฐานของหอไตรรองรับด้วยเสากลม 5 แถวๆ ละ 4 ต้น รวมทั้งสิ้น 20 ต้น ปักลงไปในน้ำ 
 
ส่วนหลังคา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เเละประดับกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนมซึ่งมีลักษณะคล้ายกระเบื้องเชิงชายของอุโลสถหลังเก่า บริเวณหน้าบันทั้ง 2 ด้าน ไม่สลักลวดลาย ภายในมี #หอกลาง และมีชานรอบ ด้านทางเข้ามีเศษราวสะพานทอดขึ้นสู่หอกลางซึ่งในอดีตเป็นห้องสำหรับเก็บเอกสารหรือคัมภีร์ ปัจจุบันมีการทำสะพานไม้อย่างง่ายเพื่อเชื่อมกับพื้นที่บก
 
สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส ในฐานะผู้เขียน เเละบรรณาธิการ หนังสือประวัติวัดหน้าพระธาตุ และหนังสือเทศนา ได้กล่าวถึง สภาพหอไตรกลางน้ำ ในโอกาสงานผูกสีมาวัดหน้าพระธาตุ ระหว่างวันที่ 16-22 เมษายน 2521 ความว่า
"...หอไตรกลางสนะมุงกระเบื้องดินเผา เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นทีกระดิ่งเเขวน มีเเผ่นโลหะเป็นใบโพธิ์ห้องลูกกระดิ่ง เวลาลมพัดเสียงวังเวงมาก เเต่เวลานี้หายหมด จะหล่นลงในสระหรือหายไปอย่างไรไม่ทราบ แต่ก่อนคงเก็บคัมภีร์หนังสือลาน
จารตัวอักษรขอม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว พระสมัยนี้อ่านหนังสือขอมไม่ออก หนังสือลานจารด้วยอักษารขอมยังมีอยู่ในตู้บนกุฎี แต่ไม่มีใครสนใจ ที่ประตูหอไตร มีลายรดน้ำ เขียนรูปนกอุ้มนาง ฝีมือสวย กรมศิลปากรเคยมายืมออกเเสดงให้คนชม
ข้าพเจ้าเสียดายต้องการจะซ่อมรักษา ต่อไป..."
 
สำหรับ #ภาพจิตรกรรม ที่พบบริเวณหอไตรนั้น พบทั้งเทคนิคเขียนลายรดน้ำปิดทอง เเละเขียนภาพด้วยสีฝุ่น มีดังนี้
 
1. จิตรกรรมฝาผนังภายนอกหอกลาง
1.1 บานประตูทางเข้า เขียนลายรดน้ำปิดทอง เล่าเรื่อง กากี ตอน พญาครุฑลักนางกากี 
1.2 ผนังขนาบบานประตูทั้ง 2 ข้าง เขียนลายรดน้ำปิดทอง เป็นภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา อันเป็นสัญลักษณ์มงคลแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
1.3 ผนังด้านทิศเหนือ เเละด้านทิศใต้ เขียนภาพด้วยสีฝุ่น เป็นเทพพนมถือดอกบัว อยู่ในเส้นสินเทาล้อมรอบด้วยพื้นหลังเป็นลายประจำยามก้านแย่งเสมือนเทพพนมเปล่งรัศมี
1.4 ผนังด้านทิศใต้ เขียนภาพด้วยสีฝุ่น เล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนออกมหาภิเษกรมณ์ (เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช) ขนาบด้วยภาพเทวดาเหาะถือดอกบัวแสดงความยินดี
 
2. จิตรกรรมผนังภายในหอกลาง
2.1 เพดาน เขียนลายนกในป่าหิมพานต์ ดอกไม้ เเละดาวเพดาน บนพื้นสีแดง
2.2 ผนังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก เเละทิศใต้ แบ่งภาพออกเป็นชั้น ๆ ชั้นบนเขียนภาพเทพชุมนุม ชั้นกลาง และชั้นล่างของผนัง เขียนภาพดอกไม้ร่วงสีแดงบนพื้นสีขาว
 
จากภาพจิตรกรรมที่พบ สันนิษฐานว่าหอไตรกลางน้ำแห่งนี้ สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ร่วมรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยคงมีอายุร่วมสมัยกับอายุของอุโบสถหลังเก่า
 
อำเภอปักธงชัยของเรา เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ  ยังมีวัดอีกหลายแห่งที่พบภาพจิตรกรรมฝาผนัง เเละเพดานจากฝีมือศิลปินชั้นครู อาทิ วัดปทุมคงคา (นกออก) เเละวัดโคกศรีสะเกษ ดัฃตั้นหากมีโอกาสจึงขอเชิญชวนทุกท่าน แวะเยี่ยมชมวัดหน้าพระธาตุ เพื่อดื่มด่ำความงามของภาพจิตรกรรมที่อุโบสถหลังเก่า เเละหอไตรกลางน้า ตลอดจนวัดอื่น ๆ ในพื้นที่อำเภอปักธงชัยดังที่กล่าวไปแล้วกันนะครับ 
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
 
เอกสารอ้างอิง
1. สมเด็จพระธีรญาณมุนี. ประวัติวัดหน้าพระธาตุ และหนังสือเทศนา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ส สง่า. 2521.
2. วรรณิภา ณ สงขลา และคณะ. รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนัง วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. อัดสำเนา. 2528
3. หน่วยศิลปากรที่ 6. รายงานการติดตามผลการอนุรักษ์หอไตร วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ 6. 2535

(จำนวนผู้เข้าชม 836 ครั้ง)

Messenger