เรื่อง โรคขาดธรรมชาติ
ส่งเสริมการอ่านผ่าน Facebook กับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
เรื่อง โรคขาดธรรมชาติ
ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ. โรคขาดธรรมชาติ แปลโดย อติพร บริณายกานนท์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ, 2564.
ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 613 ย146ร
บรรพบุรุษของมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อแสนปีล่วงมาแล้ว และดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ล่าสัตว์ จับปลา เพื่อใช้เป็นอาหาร เพราะเหตุนี้ร่างกายและจิตใจของเราจึงมีความผูกพันกับธรรมชาติ เพียงแค่ได้ยินเสียงนกร้อง มองเห็นสายน้ำตามลำห้วย หรือร่างกายกระทบกับสายลมเย็นที่พัดผ่าน ก็สามารถกระตุ้นสัญชาตญาณเล็กๆ ให้รู้สึกถึงความสงบที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้
โรคขาดธรรมชาติ เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ ธรรมชาติ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งกับทุกชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่ร่างกายและจิตใจถูกสร้างมาให้ผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่อดีตกาล แต่โลกที่เข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไป สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องอาศัยธรรมชาติ นั่นจึงเป็นสาเหตุของปัญหาและความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ หรือเรียกว่า “โรคขาดธรรมชาติ” ซึ่งคำนี้แผลงมาจากคำว่า “โรคบกพร่องจากธรรมชาติ” จากหนังสือ เด็กคนสุดท้ายในป่า (Last Child in the Woods) อาการของโรคแม้จะไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้แต่ก่อให้เกิดสภาพความไม่มั่นคงทางจิตใจและอาการอื่นๆ เช่น การควบคุมอารมณ์และความรู้สึก การเคลื่อนไหวร่างกาย ลักษณะอาการจะคล้ายกับโรคสมาธิสั้น พบมากในวัยเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กยุคใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยตึกสูงและอาคารคอนกรีต เมื่อพูดถึงธรรมชาติหลายคนคงนึกถึง ภูเขา ลำธาร ทะเล แต่คำว่าธรรมชาติยังถูกใช้ในความหมายที่เกี่ยวกับลักษณะและพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งการที่เราสามารถแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติจะคงไว้ซึ่งสุขภาพกายและใจที่ดี เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตท่ามกลางป่าเขาหรือต้นไม้ ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดโรคขาดธรรมชาติ แต่การปรับพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตให้หวนคืนสู่ธรรมชาติที่หายไปคือการเยียวยาโรคขาดธรรมชาติได้ดีที่สุด เริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบชีวิตประจำวัน ฝึกให้เป็นคนนอนเร็ว ตื่นเร็ว รับประทานอาหารที่ปรุงสด งดอาหารสำเร็จรูป หรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และลองสังเกตความไม่เป็นธรรมชาติของตนเองเพื่อเติมเต็มส่วนที่หายไป แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้สัมผัส “ธรรมชาติ” อย่างง่ายที่สุด ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
(จำนวนผู้เข้าชม 289 ครั้ง)