เรื่อง 7 ย่านเก่าในบางกอก
เรื่อง 7 ย่านเก่าในบางกอก
ศิริญญา สุจินตวงษ์. 7 ย่านเก่าในบางกอก. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2554.
ห้องหนังสือทั่วไป 1 เลขเรียกหนังสือ 959.311 ศ452จ
เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต บางเรื่องไม่อาจหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันได้ จึงต้องศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นจากเอกสาร วัตถุ และสถานที่ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หากเราต้องการเข้าใจปัจจุบันต้องเริ่มศึกษาจากอดีต อาจเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ อย่างเช่นการท่องเที่ยวไปยังสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ เพื่อชื่นชมและซึมซับบรรยากาศแห่งอดีตที่ยังเหลืออยู่
7 ย่านเก่าในบางกอก เล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไปพบกับ ร่องรอยอดีตและถิ่นฐานย่านเก่าในกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เจริญกรุง ธนบุรี สามแพร่ง คลองบางลำพู บ้านครัว ตลาดพลู และท่าเตียน ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรากฏเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ประเพณี ที่ในปัจจุบันยังคงมีเสน่ห์ไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ดังเช่น เรื่องราวของถนนต้นแบบตามมาตรฐานสากลแห่งแรกในสยาม ปรากฏชื่อ “ถนนเจริญกรุง” ที่สร้างโดยใช้อิฐและหินก้อนเล็ก นำความเจริญเข้าสู่บางกอก ห้างร้านและการลงทุนเกิดขึ้นมากมายบนถนนสายนี้ อาทิเช่น ห้างนายเลิศ เป็นซูเปอร์มาเก็ตที่จำหน่ายของสดและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแห่งแรกของบางกอก ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับการยกย่องเป็นราชธานี นามว่า “ธนบุรี” ที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา นับว่าเป็นแหล่งของชุมชนคนต่างชาติที่อยู่ร่วมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวมุสลิม และชาวต่างชาติจากโปรตุเกส ย่านสามแพร่ง ชื่อเรียกขานที่ตามฮวงจุ้ยถือว่าไม่เป็นมงคลแต่ชุมชนแห่งนี้ยังคงใช้คำว่า “แพร่ง” ด้วยความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน ทั้งยังเป็นแหล่งรวมร้านอาหารชื่อดังจำนวนมาก รวมไปถึงร้านจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์เดินป่า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องดนตรี รู้จักกันในนาม “ย่านหลังกระทรวง” เนื่องจากตั้งอยู่ด้านหลังกระทรวงกลาโหม คลองบางลำพู เกิดขึ้นกว่าสองร้อยปีล่วงมาแล้วถูกระบุไว้ในประวัติศาสตร์ว่ามีขนาดใหญ่ถึง 10 วา หรือ 20 เมตร สะพานข้ามคลองทอดไปสู่ชุมชนดนตรีไทยสถานที่แห่งการก่อกำเนิดศิลปวัฒนธรรมแห่งแผ่นดินรัตนโกสินทร์และเป็นย่านการแสดงมหรสพชื่อดัง กาลเวลาที่ล่วงเลยไปย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงความรุ่งเรืองเกิดขึ้น บางสิ่งล่มสลายและดับไป แต่ร่องรอยแห่งอดีตยังคงมีให้เราค้นพบ ศึกษา และคงมนต์เสน่ห์เอาไว้มิเสื่อมคลาย ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติชลบุรี (วันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
(จำนวนผู้เข้าชม 590 ครั้ง)