...

ประเพณีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ
ประเพณีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ
         เชิงเขาวัดพระธาตุดอยคำ เป็นที่ตั้งของศาลปู่แสะ ย่าแสะ ที่มีความสำคัญหลายแง่มุม ทั้งในฐานะอารักษ์ ผีเมือง หรือความสัมพันธ์เกี่ยวโยงบรรพบุรุษชาวลัวะ ดังปรากฏในเอกสารโบราณต่าง ๆ อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพระธาตุดอยคำ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก อีกทั้งตำนานพระธาตุต่าง ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย และรัฐไทอื่น ๆ ความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะได้ผสานเข้ากับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจนกลายเป็นพิธีกรรมที่ยังคงยึดถือปฏิบัติมาจนปัจจุบัน
         ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงปู่แสะย่าแสะ ความว่า “ละจึงไหว้พระพุทธเจ้าว่า ภันเต ข้าแต่พระพุทธเจ้ายังมียักษ์ ๒ ตัวตัวเมีย เทียร ย่อมบีบเบียนกินชิ้นผู้คนบ้านเมืองลวดห่างรั้งไปเพื่ออั้นแล พระพุทธเจ้าก็จึงร้องเรียกเอายังยักษ์ ทั้งสองผัวเมียมา แล้วก็เทศนาธัมม์สั่งสอนข่มเสียยังมานะแห่งยักษ์เพื่อซื้อกินชิ้นคน ยักษ์ขาน / ตอบพระพุทธเจ้าว่า การอันเลี้ยงอินทรีย์ชีวิตเพื่อข้าหากมีแต่เท่านี้ คันบ่หื้อกินชิ้นคนก็หาสังกิน บ่ได้ขอกินเดือนแลคนเทอะ พระพุทธเจ้าบ่หื้อกิน ข้ำกินแลปีแลคนเทอะ พระพุทธเจ้าก็บ่หื้อกิน ยักษ์ซ้ำขอกินควายแลปีแลตัวเทอะ คันคนทังหลาย / ยังหื้อเผือข้ากินควายแลปีแลตัว ก็จักรักสาเขาทังหลายกับทังสาสนาพระพุทธเจ้า ๕,๐๐๐ วัสสาชะแลว่าอั้น พระพุทธเจ้ารำเพิงว่า ชาติยักษ์ทังหลาย เทียรย่อม มีชิ้นและเลือดเป็นอาหารจักตัดขาดเสียก็บ่ได้ พระก็ตุมหิภาวะอยู่ บ่ปาก พระก็เทศ / นาสั่งสอนยักษ์อย่าหื้อราวีเบียดเบียนคนทังหลาย แล้วยักษ์ปู่แสะย่าแสะ ก็ไหว้ว่าขอพระพุทธเจ้าและขีณาสาวเจ้าจุ่งมาเมตตาเผือข้าชุปีแด่เทอะว่าอั้น แล้วพระพุทธเจ้า ก็พาหมู่อรหันตาเจ้าทังหลายเสด็จไปสู่เมืองกุสินาราย / วันนั้น แต่นั้นมา คนทังหลายก็พลีกรรม เลี้ยงดู เทียรย่อมเอาพระบฏ ไปกางและเอาเจ้าภิกขุใหม่ไปเมตตาเป็นบริวารพระบฏเจ้าทุกปี หั้นแล พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วได้ ๗๕๐ พระวัสสา เมืองลูกนี้ชื่อกุรุรัฐก่อนแล กุมารยักษ์ ก็ได้เกิดเป็นพญาเจ้าเมือง”
         จากตำนานครั้งอดีต ถ่ายทอดผ่านความเชื่อของชุมชนชาวแม่เหียะ สู่ประเพณีการเลี้ยงดง บรวงสรวง เซ่นสังเวยปู่แสะ ย่าแสะ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ (เดือน ๗ ทางจันทรคติ) ณ บริเวณเชิงดอยคำ และบริเวณลานเลี้ยงดง ในบริเวณสำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ ๔ (แม่เหียะ) ประกอบด้วยการจัดตั้งแต่งเครื่องเซ่นสังเวย เริ่มต้นพิธีบวงสรวงศาลปู่แสะ-ย่าแสะ เชิญดวงวิญญาณปู่แสะ ย่าแสะเข้าสู่ม้าขี่ (ร่างทรง) ซึ่งม้าขี่จะกินเนื้อควายสด จากนั้นเป็นการไหว้พระบฏอันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าดังเรื่องราวในตำนาน ด้วยรูปแบบพิธีกรรมความเชื่อที่ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ๒๕๔๓.  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.  กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พรินติ้ง เฮ้าส์.
อาสา อำภา.  ๒๕๕๕.  ปู่แสะ ย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่. วารสารเทคโนโลยีสุรนารี.  ๖ (๒): ๙๙-๑๒๒























(จำนวนผู้เข้าชม 3326 ครั้ง)


Messenger