กรณีลักลอบงมโบราณวัตถุเรือจมกลางอ่าว ตอนที่ 2
ไฮไลท์ของแหล่งเรือจม “กลางอ่าว” ที่จะละเลยไม่ได้ นั่นก็คือ โบราณวัตถุที่ที่ถูกลักลอบนำขึ้นมาจากซากเรือ ซึ่งส่วนมากเป็นภาชนะดินเผาทั้งหมด 10,764 ชิ้น โดยในจำนวนนี้เป็นโบราณวัตถุที่ตรวจยึดมาได้ในครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 ทั้งหมด 477 ชิ้น และโบราณวัตถุที่ยึดได้จากเรือออสเตรเลียไทด์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2535 ทั้งหมด 10,287 ชิ้น เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ เกือบทั้งหมดผลิตขึ้นจากแหล่งเตาในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งเบื้องต้น ได้ดังต่อไปนี้
ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี พบ 3,425 ใบ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) แบบไหสี่หูซึ่งทำหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ มีตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ รวมไปถึงมีรูปทรงอื่นๆอีก ทั้ง ถ้วย โถ อ่าง โดยมีทั้งที่เคลือบสีน้ำตาลและแบบไม่เคลือบ นอกจากนี้ยังพบเครื่องใช้ภายในเรือจำพวก เตาเชิงกราน ตะเกียงแขวน และหม้อประกอบอาหาร
ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านป่ายาง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พบ 6,525 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสังคโลกขนาดเล็กเคลือบเขียว มีลวดลายขูดขีดใต้เคลือบ อาทิ ขวดสองหู กระปุก ตลับ จาน ชาม และโถมีผาปิด ไม่เพียงเท่านี้ยังมีตีกตาที่ทำขึ้นอย่างประณีต จำพวก ตุ๊กตารูปบุคคลในชีวิตประจำวัน บุคคลขี่ม้า มีจตุรงคบาท บุคคลขี่ช้าง
ภาชนะดินเผาจากต่างประเทศพบเครื่องถ้วยจีนลายคราม 5 ใบ เครื่องถ้วยอันนัมประเภทตลับ 244 ใบ ตุ๊กตารูปกระต่ายและกบ 85 ตัว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่นักโบราณคดีแทบจะไม่ทราบลักษณะการจัดเรียงสินค้าภายในระวางของเรือลำนี้เลย เนื่องจากของทุกอย่างถูกลักลอบนำขึ้นมาจนหมด ทราบเพียงว่ามีการนำแคร่ไม้ไผ่มากั้นระหว่างภาชนะดินเผาบางประเภท
ข้อมูลจากโบราณวัตถุที่พบทำให้สามารถสรุปได้ว่าเรือลำนี้เป็นเรือสำเภาของอยุธยา ซึ่งมีการแล่นค้าขายช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 โดยการเดินทางครั้งสุดท้ายมีการเลือกซื้อสินค้าจากอยุธยาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขาย เพื่อนำสินค้าไปขายในต่างแดน และแล่นออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาออกอ่าวไทย โดยขนาดของเรือกลางอ่าวนั้นยาวประมาณ 40-50 เมตร กว้างประมาณ 12 เมตร เป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกค้นพบในน่านน้ำประเทศไทย ในการเดินทางจึงไม่จำเป็นต้องแล่นเรือเลียบชายฝั่งอย่างเรือสำเภาลำอื่นๆ แต่สามารถแล่นตัดอ่าวไทยมุ่งลงใต้ได้ ปลายทางนั้นมีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นได้ทั้งการเดินทางแล่นผ่านช่องแคบมะละกาออกมหาสมุทรอินเดีย หรือไปสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ แต่ก็ถึงคราวเคราะห์ร้ายประสบเหตุจมลงระหว่างการเดินทางเสียก่อน
อ้างอิง
จารึก วิไลแก้ว. 2535. “มรดกใต้ท้องทะเลไทย เรืออ่าวไทย 1.” นิตยสารศิลปากร 35 (2): 8-33.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. 2535. “ความเคลื่นไหวของโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยและหลักฐานการพาณิชย์นาวีสมัยกรุงศรีอยุธยา.” นิตยสารศิลปากร 35 (2): 34-70.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 801 ครั้ง)