เรือบ้านคลองยวน ต.ทุ่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ซากเรือบ้านคลองยวน สำรวจพบที่บ้านเลขที่ ๑๑๙/๒ หมู่ที่ ๘ บ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดย นางพรพิมล มีนุสรณ์ เจ้าของบ้านเล่าว่าได้พบซากเรือไม้ในที่ดินของตนเองระหว่างการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำใช้ทำสวนปาล์มและได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยการก่อพื้นเทปูนมุงหลังคาคลุมซากเรือลำนี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕

นอกจากหลักฐานตัวเรือแล้ว บริเวณที่พบซากเรือก็นับว่ามีความสำคัญทางโบราณคดีด้วยเช่นกัน เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ห่างจากคลองท่าชนะ (๓ กิโลเมตร) ซึ่งเป็นคลองที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ณ บริเวณที่เรียกว่าแหลมโพธิ์ ต.พุมเรียง อ.ไชยา

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่แหลมโพธิ์บ่งชี้ว่า บริเวณนี้เป็นชุมชนเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ดังสะท้อนผ่านหลักฐานการค้านานาชาติ เช่น ลูกปัดโบราณ เครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซียที่พบ
จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณหลังบ้านของ นางพรพิมล เป็นพื้นที่สวนปาล์ม มีการขุดสระน้ำสำหรับใช้ภายในสวน ภายในมีซากของไม้เรือโบราณถูกเก็บรักษาอยู่ภายในโรงเปิดโล่งมีหลังคาคลุม ซากเรือดังกล่าวประกอบด้วยไม้ ๘๔ ชิ้น เป็นไม้กระดานขนาดยาว ไม้ที่ทำเป็นทรงแหลมสำหรับหัวเรือ และเศษไม้ที่ไม่สามารถระบุส่วนได้

ไม้กระดานเรือแต่ละแผ่น มีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้ตลอดความยาว อีกทั้งยังพบลูกประสักหรือสลักไม้สวนอยู่ในรูบางส่วน นอกจากนี้ที่แผ่นกระดานเปลือกเรือด้านในมีการทำปุ่มสันทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้านูนออกมาจากระดับพื้นกระดาน ยาวตลอดความยาวของแผ่นเปลือกเรือ

นอกจากไม้เรือแล้ว ในบริเวณที่เป็นที่เก็บซากเรือยังพบว่าเศษเชือกสภาพเปื่อยยุ่ยอยู่ที่พื้นและปะปนอยู่กับซากเรือ คาดว่าน่าจะเป็นเชือกที่มากับเรือ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์

สภาพของซากเรือยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธีตัวเรือจึงเริ่มเสื่อมสลายผุพังไปตามกาลเวลา เมื่อวิเคราะห์จากลักษณะของซากเรือลำนี้โดยคร่าวเป็นเรือที่ต่อด้วยเทคนิค Lashed-Lug หรือ เชือกรัดสันรูเจาะ เป็นเทคนิคแบบโบราณที่มีมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี พบแพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทะเล

กองโบราณคดีใต้น้ำจึงได้ขอให้ นางพรพิมล มีนุสรณ์ มอบซากเรือโบราณให้แก่กองโบราณคดีใต้น้ำ เพื่อนำกลับไปอนุรักษ์และศึกษาวิเคราะห์ยังกองโบราณคดีใต้น้า จังหวัดจันทบุรี

เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการถ่ายรูปไม้เรือทุกชิ้นที่พบจากนั้นทยอยลำเลียงขึ้นบนรถบรรทุกเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน

การวิเคราะห์ชนิดไม้และการหาค่าอายุ
หลังจากที่นำซากเรือบ้านคลองยวนกลับมาเก็บรักษาที่สำนักงานกองโบราณคดีใต้น้ำแล้ว ได้นำตัวอย่างไม้เรือส่งไปวิเคราะห์ตรวจหาชนิดของไม้ที่นำมาใช้ในการต่อเรือ ณ สํานักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ โดยส่งตัวอย่างชิ้นไม้จำนวน ๓ ชิ้น ประกอบด้วย เปลือกเรือ ๑ ชิ้น และลูกประสัก ๒ ชิ้น

ผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ไม้เปลือกเรือบ้านคลองยวนนั้นทำจากไม้ในสกุลตะเคียน (Hopea sp.) แต่ไม่ทราบชนิด และลูกประสักทำจากไม้ตะแบกเลือด (Terminalia mucronata Craib & Hutch.)

นอกจากการตรวจหาชนิดไม้แล้ว กองโบราณคดีใต้น้ำยังนำตัวอย่างจากตัวเรือไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยส่ง ๓ ตัวอย่าง ประกอบด้วย ไม้เปลือกเรือ เศษเชือก และลูกประสัก ซึ่งผลของค่าอายุที่ได้บ่งชี้ว่า เรือบ้านคลองยวนมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙)

รูที่สันไม้กระดาน (dowel & lashing holes)
เปลือกเรือแต่ละแผ่นที่พบมีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้กระดานยาวไปตลอดแนวของไม้เปลือกเรือและพบมีลูกประสักเสียบอยู่ในรูที่ถูกเจาะ จากการพินิจแล้วพบว่า การเจาะรูสันเปลือกเรือมีรูปแบบที่ซ้ำกันชัดเจน กล่าวคือ เจาะเพื่อใช้ยึดลูกประสัก ๔ รู สลับกับรูร้อยเชือกที่ด้านบนของกระดานทะลุกออกด้านสัน ๒ รู เป็นเช่นนี้ตลอดแนวสันเปลือกเรือ ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือบ้านคลองยวน ที่ไม่อาจพบได้ในการต่อเรือไม้สมัยใหม่

ลูกประสักที่พบ มีลักษณะเป็นไม้ทรงกระบอกยาว ๔ เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ ขนาด คือ ๗ และ ๑๐ มิลลิเมตร พบว่าลูกประสักที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ มิลลิเมตร จะใช้กับส่วนไม้ที่ต่อกับหัวเรือเท่านั้น แผ่นไม้เปลือกเรือบ้านคลองยวนนั้น หนา ๓.๕ – ๔ เซนติเมตร กว้าง ๒๗ เซนติเมตร (ส่วนที่กว้างที่สุด) ฝั่งกราบขวามี ๕ แผ่น ส่วนกราบซ้ายมี ๓ แผ่น (เท่าที่เหลือ) เมื่อพิจารณาจากกระดานเปลือกเรือแผ่นที่ ๕ ของกราบขวาพบว่า ที่ด้านสันของเปลือกเรือยังมีการเจาะรูรับลูกประสักอยู่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่ากระดานเปลือกเรือแผ่นที่ ๕ ยังไม่ใช่แผ่นสุดท้าย ที่ส่วนปลายของไม้เปลือกเรือแต่ละแผ่นจะมีการทำให้เป็นรูปทรงแหลม เพื่อให้สามารถเข้าไม้ได้อย่างพอดีกับไม้หัวและท้ายเรือ

ไม้เปลือกเรือของเรือบ้านคลองยวนไม่ได้สมบูรณ์ตลอดลำเรือ ส่วนที่คาดว่าจะเป็นท้ายเรือได้ขาดหายไปจึงไม่อาจสรุปได้ว่าไม้เปลือกเรือแต่ละชั้นจะเป็นไม้แผ่นเดียวยาวตลอดลำเรือหรือไม่ แต่จากข้อมูลของเรือประเภทเดียวกันที่พบในต่างประเทศ เช่น แหล่งเรือ Punjurhajo บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียนั้น พบเปลือกเรือเป็นไม้แผ่นเดียวยาวตลอดลำเรือ จึงพอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีลักษณะเหมือนกัน

สันรูเจาะ (lug)

เปลือกเรือแต่ละแผ่น ทำขึ้นด้วยการถากไม้ให้เป็นแผ่นกระดานและรูปทรงตามที่ช่างต้องการเพื่อให้เข้ากับรูปทรงของเรือ และจะเว้นสันรูเจาะ หรือ lug ไว้ตลอดความยาวของเรือ เป็นลักษณะอันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรือประเภทนี้ โดยสันรูเจาะเหล่านี้มีไว้สำหรับรองรับกงเรือที่จะถูกนำมาเสริมในภายหลัง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใกล้เคียงกัน คือ ยกสูงกว่าส่วนเรียบของแผ่นกระดานประมาณ ๑.๕ – ๒ เซนติเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร กว้างประมาน ๒๐ เซนติเมตร ในส่วนที่กว้างที่สุด และจะค่อย ๆ แคบลงเรื่อย ๆ ไปทางหัวและท้ายเรือ สันที่แคบที่สุดกว้างเพียง ๔ เซนติเมตร แต่ละสันจะเว้นระยะห่างกันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยกเว้นบริเวณกึ่งกลางลำเรือบนกระดานกระดูกงูและเปลือกเรือแผ่นที่ ๑ และ ๒ ของทั้งสองกราบจะเว้นช่วงห่างมากกว่าส่วนอื่น คือ ห่างประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร

ไม้กระดานกระดูกงู (keel plank)

ไม้ส่วนที่เป็นแกนกลางของเรือบ้านคลองยวนหรือที่มักเรียกกันว่ากระดูกงูนั้น มีลักษณะเป็นกระดูกงูที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเปลือกเรือไปด้วยหรือที่เรียกว่า keel plank ซึ่งกระดูกงูแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะของเรือที่ต่อแบบต่อเปลือกก่อนแล้วนำกงมาเสริมทีหลัง หรือ shell-based

เมื่อวางกระดูกงูบนพื้นราบพบว่าปลายกระดานกระดกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร พิจารณาจากลักษณะแล้วคาดว่าเรือบ้านคลองยวนเป็นเรือที่มีหัวและท้ายเชิดขึ้นและท้องเรือแอ่น

ส่วนสันรูเจาะบนกระดูกงูมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างไปจากสันรูเจาะบนกระดานแผ่นอื่น กล่าวคือ ระหว่างสันรูเจาะแต่ละสันจะมีสันแคบ ๆ กว้างประมาณ ๑๐ – ๑๒ เซนติเมตร เชื่อมต่อไปตลอดความยาวของกระดูกงู ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าช่างจงใจทำสันแคบ ๆ นี้ไว้เพื่ออะไร เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจทำไว้เพื่อเสริมความแข็งแรงตามแนวยาวของเรือ

หัวเรือและท้ายเรือ (wing-end)

หัวและท้ายของเรือบ้านคลองยวนมีรูทรงและลักษณะที่โดดเด่นอย่างมาก ซึ่งเรือกว่า wing-end กล่าวคือ ช่างจะแกะไม้เป็นรูปทรงคล้ายตัว V และนำมาซ้อนกัน 2 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะมีการเจาะรูเพื่อใส่ลูกประสักเตรียมไว้

การเข้าไม้หัวและท้ายเรือ ช่างจะนำ wing ชั้นที่ ๑ มาวางบนกระดูกงู หัวเรือและกระดูกงูจะได้ระยะเสมอกันพอดี แขนของ wing จะต่อชนกับกระดานแผ่นที่ ๑ พอดี ด้านบนของแขนจะเว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ไม้กระดานแผ่นที่ ๒ มาต่อชนกันส่วนโคนของแขนรูปตัว V เมื่อชั้นที่ ๑ สามารถต่อเข้ากับกระดูกงู ไม้กระดานแผ่นที่ ๑ และ ๒ ได้แล้ว จึงนำเอา wing ชั้นที่ ๒ มาวางซ้อนบนชั้นที่ ๑ แล้วนำกระดานชั้นที่ ๓ และ ๔ มาต่อแบบเดียวกับชั้นที่ ๑

เป็นที่น่าสังเกตว่าหัวและท้ายเรือแบบ wing-end นั้น มีขนาดค่อนข้างใหญ่และทำจากไม้ชิ้นเดียว เป็นไปได้ว่าช่างในสมัยนั้นอาจนำไม้จากบริเวณของโคนต้นมาผ่าตามแนวขวางแล้วจึงแกะให้เป็นรูปตัว V ดังสังเกตได้จากวงปีไม้ที่มีลักษณะเป็นวงวางตัวขวางกับแนวเรือ ส่วนกลางลำต้นจะนำไปทำไม้กระดาน


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2862 ครั้ง)

Messenger