...

คนโทบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


#คนโทบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินออกแบบ จัดทำหุ่นต้นแบบ กระทรวงมหาดไทย จัดหาโรงงานในการผลิตชิ้นงาน โรงงานรัตนโกสินทร์ จ.ราชบุรี ดำเนินการผลิต และสำนักช่างสิบหมู่กำกับควบคุมการผลิต เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีความสวยงามสมพระเกียรติ

ผลงานศิลปกรรมออกแบบโดย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)

#พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญสูงสุดสำหรับผู้ที่จะขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลบางประการมาจากรูปแบบพิธีกรรมในคัมภีร์สันสกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พิธีราชสูยะ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศแห่งพระราชาธิบดีที่ได้แผ่พระบรมเดชานุภาพเหนือบรรดาพระราชาทั้งปวง อย่างไรก็ตาม เมื่อคติความเชื่อดังกล่าวเผยแพร่เข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการผสมผสานคติความเชื่อและพิธีกรรมทั้งของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และความเชื่อในประเพณีดั้งเดิมผ่านกระบวนการทำให้เป็นท้องถิ่นซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนการพระราชพิธีเป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง

นักวิชาการสันนิษฐานว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยน่าจะรับรูปแบบพิธีกรรมจากอินเดียผ่านจากพวก มอญ ชวา และเขมร จากหลักฐานต่าง ๆ กล่าวได้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยได้มีพัฒนาการอย่างน้อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งปรากฏเด่นชัดในสมัยอยุธยาและสืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

#การเตรียมพระราชพิธี
มีการทำพิธีตักน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร การเตรียมตั้งแต่งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธีการเตรียมน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษก

การสรงพระมุรธาภิเษกและทรงรับน้ำอภิเษกนับเป็นขั้นตอนสำคัญในการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก น้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษกตามคติพราหมณ์จะต้องใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เรียกว่า “ปัญจมหานที” ด้วยเชื่อว่าแม่น้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากเขาไกรลาสอันเป็นที่สถิตของพระอิศวร อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยได้ใช้น้ำปัญจมหานทีหรือไม่ พบแต่เพียงการใช้น้ำจากสระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ในแขวงเมืองสุพรรณบุรีเป็นสำคัญ

ครั้นถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้มีพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษกจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ แห่งทั่วทุกจังหวัด และตั้งพิธีเสกน้ำในพระอารามจังหวัดนั้น ๆ ก่อนเชิญมาทำพิธีเสกรวมอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 147 ครั้ง)