ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 34,959 รายการ
จดหมายเหตุและความทรงจำ เรื่อง "ที่ว่าการเมืองจันทบุรี"
จากกรณี"อาคารบอมเบย์เบอร์มา"ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านโบราณสถานที่มีอยู่ภายในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง บางแห่งจึงมีการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำไปประกอบในการของบประมาณเพื่อการอนุรักษ์อาคารโบราณสถาน
ดังนั้นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการค้นคว้าหาข้อมูล
ในกรณีของอาคารโบราณสถานที่บริเวณบ้านลุ่ม ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของศูนย์ป่าไม้จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเป็น"จวนผู้ว่าราชการจังหวัด"นั้น
เพื่อให้เกิดความชัดเจนของอาคารดังกล่าวยิ่งขึ้นนักจดหมายเหตุจึงได้ค้นคว้าจากเอกสารจดหมายเหตุและภาพถ่ายเก่า ไม่พบภาพที่ยืนยันได้ว่าอาคารของป่าไม้ คืออาคารใด มีแต่"ภาพถ่ายฟิล์มกระจก"และเอกสารจดหมายเหตุและบันทึกความทรงจำเรื่อง"ที่ว่าการเมืองจันทบุรี"
*ที่ว่าการเมืองจันทบุรี*
เล่าจากเอกสารจดหมายเหตุ...
จากการตรวจราชการของพระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลอง ว่า...พ.ศ.2441 ได้เดินทางมาจัดการเมืองจันทบุรีตามพระราชดำรัสสั่งในรัชกาลที่ 5 มายังกระทรวงมหาดไทย ...ในวันที่ 3 ตุลาคม ตรวจการในตลาดในเมือง ตรวจที่ว่าการเมืองตรวจศาล พบว่า...ที่ว่าการเมือง หรือศาลากลางเมืองจันทบุรีไม่มีออฟฟิศ ที่ทำการเมืองทุกวันนี้อาศัยห้องหน้าหอเรือนพระยาจันทบุรี เรือนก็เป็นเรือนปั้นหยาอยู่เก่าไม่เป็นภูมิฐาน ข้าพระพุทธเจ้าได้ดูงบประมาณเห็นมีเงินอนุญาตให้สร้างในศก 117 แล้ว แต่หากยังไม่ทำขึ้น ...พระเทพสงครามปลัดเมืองจึงได้จัดเลือกที่ลงมือแผ่วถางก่อสร้างแลได้ให้พระยาวิชยาธิบดีมีบอกมาด้วยแล้ว...ศาลก็ไม่มีที่นั่ง อาศัยชำระกันที่โรงละคร ข้างเรือนพระยาจันทบุรี เป็นโรงเล็กรุงรังซึ่งคนต่างประเทศดูถูกเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้รวมศาลในที่ว่าการเมืองที่ได้สั่งให้ปลูกสร้างขึ้นใหม่นั้น...
และอีกครั้งใน พ.ศ.2447 ออกไปรับมอบเมืองจันทบุรีคืนจากฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงที่ว่าการเมืองจันทบุรีว่า...ข้าพระพุทธเจ้าขึ้นมาพัก ณ ที่ว่าการเมือง ซึ่งพระยาวิชาธิบดีจัดไว้รับ ที่ว่าการเมืองนี้อยู่เหนือท่าน้ำที่ขึ้นไปบนป้อม...
**ที่ว่าการเมืองจันทบุรี**
เล่าจากบันทึกความทรงจำของหลวงสาครคชเขตต์ อดีตนายอำเภอมะขามและร่วมสมัยกับเหตุการณ์ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเป็นประกัน(พ.ศ.2436-2447)ว่า
...เมื่อรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มจัดการปกครองท้องที่อาศัยตามพรบ.ลักษณะปกครองเมืองและพรบ.ปกครองท้องที่ ร.ศ.116(พ.ศ.2440) หนึ่งปีต่อมาคือ พ.ศ.2441 เมืองจันทบุรีจึงได้เริ่มจัดการเมืองในระหว่างที่กองทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่ที่จันทบุรี...สถานที่ราชการและบ้านเมืองข้าราชการและราษฎรก็ตั้งอยู่ภายในเมืองก็มี(เมืองในปัจจุบันคือค่ายตากสิน:ผู้เขียน) อยู่ภายนอกเมืองในบริเวณบ้านลุ่มและแถวเรือนจำ...ส่วนกิจการงานของฝ่ายบ้านเมืองรวมทั้งศาลด้วย อาศัยรวมทำงานกันอยู่ที่"จวนข้าหลวงประจำจังหวัด" ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านลุ่มริมคลองท่าสิงห์ จนกาลต่อมาในระหว่างปี พ.ศ.2442 ทางการของรัฐบาลจึงได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งให้มีการก่อสร้างสถานที่ราชการขึ้นใหม่ 1 หลัง คือตัวศาลากลางจังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ริมน้ำที่ริมถนนท่าสิงห์(ในบริเวณที่ทำการป่าไม้) รวมทั้งศาลจังหวัดด้วยหลังหนึ่ง ที่ทำการไปรษณีย์หลังหนึ่ง...
...พ.ศ.2447 ที่ทำการของรัฐบาล(ศาลากลางจังหวัดกับศาล)ย้ายไปตั้งทำงานกันอยู่ภายในบริเวณค่ายทหาร(หลังฝรั่งเศสออกไปแล้ว)
...พ.ศ.2449 ทางการของรัฐบาลได้เปลี่ยนสภาพจังหวัดเป็นมณฑลขึ้นจึงย้ายกลับมาอยู่เดิมอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาใน พ.ศ.2452 มณฑลได้หาซื้อที่และได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสถานที่รัฐบาลมณฑล และในพ.ศ.2459 ได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่ใหม่ หลวงสาครคชเขตต์ได้บันทึกว่า...ศาลากลางจังหวัดที่ตั้งอยู่ที่ถนนท่าสิงห์ก็เลยย้ายมารวมกันกับที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑล(ปัจจุบันเป็นสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี:ผู้เขียน)...ส่วนศาลากลางหลังเก่าก็คงรื้อถอนเอาเครื่องไม้มาปรับปรุงสถานที่ราชการอย่างอื่นๆเสียบ้าง คงไว้ใช้เป็นที่ทำการป่าไม้บ้าง...
ดังนั้น"อาคารเก่า"ของศูนย์ป่าไม้จันทบุรี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโบราณสถานที่หลงเหลือไว้ให้พวกเราได้ชื่นชมกันต่อไป
***หมายเหตุ***
หากเรื่องนี้ที่เขียนไปเกิดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับคำตักเตือนทุกประการ เหตุที่เขียนเพื่อเป็นแนวทางในการหาข้อมูลให้ถูกตัองและขัดเจนยิ่งขึ้นเพียงเท่านั้น
ผู้เขียน
สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี
นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
อ้างอิง
หลวงสาครคชเขตต์.จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2436-2447.
กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,2515.