เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ. 2453 - 2536) เป็นศิลปินระดับแนวหน้าคนสำคัญในยุคเบิกเบิกงานศิลปะสมัยใหม่ไทย ผู้เป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยมและอาจารย์สอนศิลปะ ต้นธารแห่งแรงบันดาลใจในการบุกเบิกสร้างสรรค์งานศิลปกรรมสมัยใหม่แก่คนรุ่นหลัง จนได้รับการยกย่องในฐานะ “ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ”
ภาพเหมือนศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (พ.ศ.2478) ผลงานภาพเหมือนศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานจิตรกรรมชิ้นเด่นระยะแรกๆ ของอาจารย์เฟื้อ คาดว่าเป็นผลงานที่อาจารย์เฟื้อ วาดขึ้นขณะศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ก่อนจะย้ายมาเรียนศิลปะกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมในระยะเวลาต่อมา แม้จะเป็นผลงานภาพเหมือนขนาดเล็ก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงทักษะชั้นเยี่ยมในการใช้สีชอล์คของอาจารย์เฟื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพื้นผิวและการจัดองค์ประกอบแสงซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นอย่างสวยงามลงตัว อาจารย์เฟื้อใช้เทคนิคการปาดสีชอล์คสร้างพื้นผิวภาพบุคคลอย่างฉับไว ในสไตล์ทีแปรง (Painterly Style) ของศิลปินอิมเพรสชันนิสต์ แว่นตาทรงกลม ถูกวาดขึ้นด้วยลายเส้นที่หนาและหนักจนเป็นลักษณะเด่นของพื้นผิวภาพบริเวณดังกล่าวที่แลดูนูน-ลอย ใบหน้าของอาจารย์ศิลป์ ถูกเน้นย้ำให้เด่นชัดขึ้นจากการจัดแสงบนใบหน้า ตั้งแต่หน้าผากจรดส่วนคาง ซึ่งระบายด้วยสีในโทนเหลือง-ส้ม
ภาพเหมือนหญิงสาวสวมเสื้อคอกลมสีแดง นั่งเอี้ยวตัวแบบ “คอนทราโพสโต้” (Contrapposto) เป็นหนึ่งในงานภาพเหมือนบุคคลชิ้นเด่นของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งชนะรางวัลเหรียญทองจากการประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2500 เป็นผลให้อาจารย์เฟื้อ ได้รับการยกย่องเป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งดังกล่าว เนื่องมาจากการคว้ารางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ รวมกันทั้งสิ้น 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2492 / ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2493 และครั้งที่ 8 พ.ศ.2500) ความเจนจัดในการปาดชั้นสีด้วยฝีแปรงที่ฉับพลัน ยังคงเป็นลักษณะเด่นในงานจิตรกรรมของอาจารย์เฟื้อ แม้กระทั่งงานในระยะหลัง ภาพ “เสือแดง” หรือในอีกชื่อหนึ่ง “สาวอีตาเลียน” เป็นภาพเหมือนบุคคลที่แลดูเรียบง่าย ทว่าสะท้อนความสันทัดในการสร้างดุลยภาพของสี ที่สอดรับกันเป็นอย่างดีกับการถ่ายทอดน้ำหนักของแสงตลอดทั้งภาพ เทคนิคทางศิลปะของสำนักคิดบาศก์นิยม หรือ คิวบิสม์ (Cubism) พอจะปรากฏให้เห็นประปรายในงานชิ้นนี้ ผ่านการจงใจตัดองค์ประกอบภาพบุคคลบางส่วนออกจากเฟรมภาพ เพื่อสร้างผลทางความรู้สึก อาทิ ส่วนศีรษะด้านบน และปลายเท้า
องค์ประกอบ (พ.ศ. 2500) แสดงภาพหญิงเปลือยนั่งบนเก้าอี้ แขนข้างหนึ่งท้าวอยู่บนพนักผิงด้านหลัง ช่วงล่างของภาพ ศิลปินจงใจที่จะเน้นย้ำภาพพื้นผิวภาพ 2 มิติ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากด้านข้าง โดยการสร้างภาพจากการซ้อนทับกันของระนาบพื้นผิวสีรูปทรงเรขาคณิต การใช้ฝีแปรงและแสงเงาในภาพเป็นไปเพื่อเน้นย้ำความสำคัญเชิงองค์ประกอบ ส่วนศีรษะและเท้าบางส่วนของนางแบบถูกจงใจตัดออกบริเวณขอบเฟรม พื้นผิวเนื้อและเสื้อผ้าของนางแบบที่สวมไว้อย่างหลวมๆ มีลักษณะเป็นระนาบพื้นผิวที่แตก ซึ่งเป็นเทคนิคเด่นในการเขียนภาพแบบคิวบิสม์ (Cubism)
น้ำเงิน-เขียว (พ.ศ. 2501) ผลงานจิตรกรรมชิ้น master piece ของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในยุคที่ท่านเขียนภาพในแนวทางคิวบิสม์ แสดงภาพเปลือยของสตรีเกล้าผมมวย นั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้ การถ่ายทอดรูปลักษณ์ของสตรียังคงเป็นประเด็นความสนใจและแนวทางการแสดงออกที่สำคัญของอาจารย์เฟื้อ โครงร่างของสตรีในภาพถูกสร้างขึ้นจากการบิดของรูปทรงเรขาคณิต จังหวะความอ่อน-แก่ของสีหลัก คือ สีน้ำเงิน เขียวและเหลือง นอกจากช่วยผลักระยะความตื้น-ลึก ยังช่วยสร้างจังหวะทางสายตาจากการผันแปรของรูปทรงเรขาคณิตที่ประกอบเป็นภาพสตรี
การสร้างภาพบุคคลจากการบิดรูปทรงเรขาคณิต จนส่วนขอบมีลักษณะคล้ายสันคมของใบมีด (Knife edge) นั้นอาจารย์เฟื้อ อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพสตรี ในงานจิตรกรรมของปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินผู้นำแนวคิดแบบคิวบิสม์ อาทิ ผลงานชิ้นเด่นที่มีชื่อว่า “หญิงสาวแห่งอาวีญง” (Les Demoiselles d’Avignon)
ส่วนการตั้งชื่อภาพ “น้ำเงิน-เขียว” นอกจากโทนสีหลักของภาพแล้ว อาจารย์เฟื้อ อาจตั้งชื่อภาพให้มีความเชื่อมโยงไปถึงยุคสีน้ำเงิน (Blue period) และยุคสีกุหลาบ (Rose period) ในงานของปิกัสโซด้วย
เรียบเรียง โดย : รัฐพงศ์ เกตุรวม
ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
(จำนวนผู้เข้าชม 37019 ครั้ง)