...

ประวัติและบทบาทหน้าที่
ประวัติและบทบาทหน้าที่
กำเนิดการพิพิธภัณฑ์

     การพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเป็นผลพวงมาจากความนิยมสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลก ของมีค่า เพื่อแสดงสถานะความมั่งคั่งร่ำรวยในหมู่ชนชั้นสูงชาวยุโรป โดยมิได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไปได้ชมเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ต่อมาเกิดแนวคิดการสะสมวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจและปัญญา แสดงถึงรสนิยมและภูมิรู้ของผู้สะสม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจทรงได้รับแนวความคิดดังกล่าว จึงทรงเก็บรวมรวมโบราณวัตถุ เครื่องราชบรรณาการ ของแปลกและของสะสมส่วนพระองค์ไว้เพื่อแสดงความเป็นอารยะของสยาม ณ พระที่นั่งราชฤดี ในราวปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๐๒ หมู่พระที่นั่งในพระอภิเนาวนิเวศน์สร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุจากพระที่นั่งราชฤดีเข้ามาไว้ ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ เรียกว่า “Royal Museum” สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูต โดยทรงนำชมด้วยพระองค์เอง
 
 
 
 
พิพิธภัณฑ์สำหรับสาธารณะชน
 
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ได้ทรงนำแนวคิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนตามแบบตะวันตกมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยโปรดฯ ให้สร้างหอคองคอเดียขึ้นเพื่อเป็นอาคารสโมสรทหารมหาดเล็ก และในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ ได้พระราชทานให้ใช้ หอคองคอเดียจัดแสดงวัตถุจากพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติซึ่งย้ายมาจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์เดิม รวมกับเครื่องราชูปโภคของหลวง ของแปลก ของมีค่า รวมถึงสิ่งของจากห้างร้านชาวยุโรป ฯลฯ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๒๑ พรรษา โดยมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในครั้งนั้น ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดหอมิวเซียมเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ ฉอศก ตรงกับวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗ กรมศิลปากรจึงถือเอาวันนี้เป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย และต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
 
พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมที่หอคองคอเดียนั้นดำเนินการอยู่ ๑๓ ปี คือตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๗-๒๔๓๐อยู่ในความดูแลของกรมทหารมหาดเล็ก ในระยะแรกเป็นการเปิดจัดแสดงให้สาธารณะชนชมเฉพาะคราว เช่น ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา งานต้อนรับผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๔๒๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นการถาวร มีสิบเอกทัด ศิริสัมพันธ์ เป็นกุเรเตอร์ นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดหาสิ่งของจัดแสดงของมิวเซียม ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างหินแร่ พืชพันธุ์ สัตว์ และโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งจากภายใน และนอกประเทศ จัดเป็นหมวดหมู่มีป้ายคำบรรยายภาษาไทย และอังกฤษกำกับสำหรับชมดูได้โดยง่าย รวมถึงคัดเลือกสิ่งของไปจัดแสดงนิทรรศการยังต่างประเทศด้วย
 
พิพิธภัณฑสถานที่วังหน้า
 
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปีพุทธศักราช ๒๔๒๘ พร้อมกับการยุบเลิกตำแหน่งวังหน้า ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในอดีตที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้งนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังบวรสถานมงคลถึง ๒ วันติดต่อกัน อาจเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องให้ในปีถัดมา พุทธศักราช ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมจากหอคองคอเดียไปจัดแสดงยังพระที่นั่งตอนหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคล ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ส่วนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใช้เป็นคลัง เรียกกันว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า” หรือ “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” ส่วนพระที่นั่งตอนในนั้นยังคงเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าอยู่กระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าย้ายไปประทับในพระบรมมหาราชวัง
 
พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมหลวงที่วังหน้าก็ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานที่เป็นหลักฐานมั่นคงขึ้นในนาม “กรมพิพิธภัณฑ์” ตั้งแต่บัดนั้น มีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นผู้ว่าการมิวเซียมหลวง และต่อมาเป็นอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์ (พุทธศักราช ๒๔๓๐-๒๔๓๖) ขุนพิพิธกิจวิจารณ์ เป็นกุเรเตอร์      ทว่ามิได้ขึ้นสังกัดกับกระทรวงหรือกรมใด กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ขึ้นสังกัดกับกรมศึกษาธิการ โดยเหตุผลท่านเสนาบดีว่า “เพราะมิวเซียมเป็นส่วนของการศึกษาในส่วนที่จะได้ดูได้เห็นอยู่” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ กรมศึกษาธิการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ 
 
ระยะนี้ได้มีการว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการทำบัญชีทะเบียนวัตถุต่อจากที่นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ได้ทำค้างอยู่ รวมถึงการวิเคราะห์วัตถุและนำชมเป็นภาษาอังกฤษด้วย ในฐานะ “ผู้แนะนำทางวิชาการ” หรือ “นักปราชญ์” เช่น ดร.เอฟ.ดี.ฮาเซ (Dr. F. D. Haase) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๔-๒๔๓๗ นายซิลดอฟ พุทธศักราช ๒๔๓๙ ร้อยโท สแตนเลย์ สมิท ฟราวเวอร์ (Lieutenant Stanley Smyth Flower) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๔๔๑ ภายหลัง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ให้นายชู เปรียญ Ph.D. คนแรกของประเทศไทย ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการย้ายมาเป็นกุเรเตอร์กรมพิพิธภัณฑ์เพื่อดูแลงานด้านนี้แทนการว่าจ้างชาวต่างชาติ 

(จำนวนผู้เข้าชม 24 ครั้ง)


Messenger