กำเนิดการพิพิธภัณฑ์

การพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเป็นผลพวงมาจากความนิยมสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลก ของมีค่า เพื่อแสดงสถานะความมั่งคั่งร่ำรวยในหมู่ชนชั้นสูงชาวยุโรป โดยมิได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไปได้ชมเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ต่อมาเกิดแนวคิดการสะสมวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจและปัญญา แสดงถึงรสนิยมและภูมิรู้ของผู้สะสม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจทรงได้รับแนวความคิดดังกล่าว       จึงทรงเก็บรวมรวมโบราณวัตถุ เครื่องราชบรรณาการ ของแปลกและของสะสมส่วนพระองค์ไว้เพื่อแสดงความเป็นอารยะของสยาม ณ พระที่นั่งราชฤดี ในราวปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๐๒           หมู่พระที่นั่งในพระอภิเนาวนิเวศน์สร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุจากพระที่นั่งราชฤดีเข้ามาไว้      ณ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ เรียกว่า “Royal Museum” สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูต โดยทรงนำชมด้วยพระองค์เอง



พิพิธภัณฑ์สำหรับสาธารณะชน

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ได้ทรงนำแนวคิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนตามแบบตะวันตกมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยโปรดฯ ให้สร้างหอคองคอเดียขึ้นเพื่อเป็นอาคารสโมสรทหารมหาดเล็ก และในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ ได้พระราชทานให้ใช้    หอคองคอเดียจัดแสดงวัตถุจากพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติซึ่งย้ายมาจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์เดิม     รวมกับเครื่องราชูปโภคของหลวง ของแปลก ของมีค่า รวมถึงสิ่งของจากห้างร้านชาวยุโรป ฯลฯ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๒๑ พรรษา โดยมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในครั้งนั้น ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดหอมิวเซียมเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐     ปีจอ ฉอศก ตรงกับวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗ กรมศิลปากรจึงถือเอาวันนี้เป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย และต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”

พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมที่หอคองคอเดียนั้นดำเนินการอยู่ ๑๓ ปี คือตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๑๗-๒๔๓๐อยู่ในความดูแลของกรมทหารมหาดเล็ก ในระยะแรกเป็นการเปิดจัดแสดงให้สาธารณะชนชมเฉพาะคราว เช่น ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา งานต้อนรับผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๔๒๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นการถาวร มีสิบเอกทัด ศิริสัมพันธ์ เป็นกุเรเตอร์ นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดหาสิ่งของจัดแสดงของมิวเซียม ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างหินแร่ พืชพันธุ์ สัตว์ และโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งจากภายใน และนอกประเทศ จัดเป็นหมวดหมู่มีป้ายคำบรรยายภาษาไทย และอังกฤษกำกับสำหรับชมดูได้โดยง่าย รวมถึงคัดเลือกสิ่งของไปจัดแสดงนิทรรศการยังต่างประเทศด้วย

พิพิธภัณฑสถานที่วังหน้า

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปีพุทธศักราช ๒๔๒๘ พร้อมกับการยุบเลิกตำแหน่ง     วังหน้า ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบำเพ็ญ      พระราชกุศลอุทิศถวายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในอดีตที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้งนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังบวรสถานมงคลถึง ๒ วันติดต่อกัน อาจเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องให้ในปีถัดมา พุทธศักราช ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมจากหอคองคอเดียไปจัดแสดงยังพระที่นั่งตอนหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคล ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่ง    พุทไธสวรรย์ ส่วนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใช้เป็นคลัง เรียกกันว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า” หรือ “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” ส่วนพระที่นั่งตอนในนั้นยังคงเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าอยู่กระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าย้ายไปประทับในพระบรมมหาราชวัง

พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมหลวงที่วังหน้าก็ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานที่เป็นหลักฐานมั่นคงขึ้นในนาม “กรมพิพิธภัณฑ์” ตั้งแต่บัดนั้น มีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นผู้ว่าการมิวเซียมหลวง และต่อมาเป็นอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์ (พุทธศักราช ๒๔๓๐-๒๔๓๖) ขุนพิพิธกิจวิจารณ์ เป็นกุเรเตอร์      ทว่ามิได้ขึ้นสังกัดกับกระทรวงหรือกรมใด กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ขึ้นสังกัดกับกรมศึกษาธิการ โดยเหตุผลท่านเสนาบดีว่า “เพราะมิวเซียมเป็นส่วนของการศึกษาในส่วนที่จะได้ดูได้เห็นอยู่” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ กรมศึกษาธิการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ 

ระยะนี้ได้มีการว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการทำบัญชีทะเบียนวัตถุต่อจากที่นายเฮนรี่              อาลาบาศเตอร์ได้ทำค้างอยู่ รวมถึงการวิเคราะห์วัตถุและนำชมเป็นภาษาอังกฤษด้วย ในฐานะ “ผู้แนะนำทางวิชาการ” หรือ “นักปราชญ์” เช่น ดร.เอฟ.ดี.ฮาเซ (Dr. F. D. Haase) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๔-๒๔๓๗ นายซิลดอฟ พุทธศักราช ๒๔๓๙ ร้อยโท สแตนเลย์ สมิท ฟราวเวอร์ (Lieutenant Stanley Smyth Flower) ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๔๔๑ ภายหลัง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เสนาบดีกระทรวง      ธรรมการได้ให้นายชู เปรียญ Ph.D. คนแรกของประเทศไทย ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการย้ายมาเป็นกุเรเตอร์กรมพิพิธภัณฑ์เพื่อดูแลงานด้านนี้แทนการว่าจ้างชาวต่างชาติ 

พัฒนาพิพิธภัณฑสถานให้ทัดเทียมนานาชาติ

เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ท่านต่อมาคือ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) (พุทธศักราช ๒๔๓๖-๒๔๔๑)     ได้เดินทางไปศึกษาดูงานกิจการพิพิธภัณฑ์ในทวีปยุโรปหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และได้เสนอแผนการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานต่อท่านเสนาบดีกระทรวงธรรมการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๙ โดยเสนอให้แบ่งแยกการจัดแสดงใหม่ออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ตามประเภทสิ่งของที่มีอยู่เดิมในพิพิธภัณฑ์คือ 

  • พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จัดเป็นแผนกปราณวิทยา จัดแสดงสัตว์บก สัตว์น้ำ หิน แร่

  • พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จัดเป็นแผนกสิ่งของไทย จัดแสดงเครื่องราชูปโภค เครื่องใช้ในศาสนา และหัตถกรรมของช่างไทย และ

  • พระที่นั่งคชกรรมประเวศ จัดแสดงเครื่องหิน เครื่องดิน

พร้อมกันนี้ยังได้เสนอให้ขยายพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานออกไปยังหมู่พระวิมาน โดยใช้     พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยจัดเป็นแผนกพระราชพงศาวดารและพระราชประเพณี พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา จัดแสดงสิ่งของจากประเทศในเอเชีย ประเทศในยุโรป อเมริกา แอฟริกา และแผนกเทคโนโลยี และเสนอให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การค้าและธรรมชาติ ณ อาคารโรงปืน เพื่อแสดงตัวอย่างสินค้า ประดิษฐกรรมและผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ตามอย่าง Imperial Institute ประเทศอังกฤษ แม้จะติดขัดในด้านงบประมาณที่ทำให้แผนดังกล่าวไม่อาจดำเนินการได้         แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายที่จะพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สถานของไทยที่เพิ่งเกิดมีขึ้นในรัชกาลนี้ให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ สามารถแสดงเรื่องราวของชาติและพยายามให้การศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งโบราณคดี ธรรมชาติวิทยาและอารยธรรมมนุษย์

แรกพิพิธภัณฑสถานในกรมศิลปากร

หลังจากเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ลาออกจากราชการ ตำแหน่งเจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ก็ว่างลง กระทั่งพุทธศักราช ๒๔๔๓ ท่านเสนาบดีจึงให้พระผดุงศุลกกฤตย์ (น่วม ชูโต) ปลัดบัญชีกระทรวงธรรมการ ย้ายมาเป็นเจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ (พุทธศักราช ๒๔๔๓-๒๔๖๖) โดยเป็นเจ้ากรมท่านสุดท้ายก่อนที่ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมพิพิธภัณฑ์ กระทรวงธรรมการ กับงานช่างประณีตศิลป์ กระทรวงโยธาธิการ ตั้งขึ้นเป็นกรมศิลปากร มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรโดยขึ้นตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว ทำให้กรมพิพิธภัณฑ์ถูกลดลงมาเป็นกรมย่อยในกรมใหญ่อีกทอดหนึ่ง คือกรมพิพิธภัณฑ์สถานในกรมศิลปากร และขึ้นกับกระทรวงมุรธาธรโดยปริยาย ในปีต่อมา พุทธศักราช ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง เป็นอธิบดีบังคับบัญชากรมศิลปากรแทนกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พิพิธภัณฑ์สถาน กรมศิลปากรจึงขึ้นกับกระทรวงวังตลอดทั้งรัชกาล 

ระยะนี้เหมือนว่ากิจการพิพิธภัณฑ์สถาน กรมศิลปากร ดูจะซบเซาลง สวนทางกับกิจการของ         หอพระสมุดสำหรับพระนครซึ่งเจริญขึ้นมาโดยลำดับ และมีการเพิ่มอำนาจให้กรรมการหอพระสมุดฯ              เป็นผู้ตรวจรักษาของโบราณในพระราชอาณาจักร จนท้ายสุดในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนพิพิธภัณฑ์สถานมาอยู่ในความปกครองของหอพระสมุดสำหรับพระนครทีเดียว และออกประกาศยุบเลิกกรมศิลปากรเพื่อลดงบประมาณรายจ่ายเงินแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ 

กระนั้นก็ดี พระผดุงศุลกกฤตย์ซึ่งภายหลังเป็นพระยาผดุงพิพิธภัณฑ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพิพิธภัณฑ์อยู่จนถึงแก่อนิจกรรมในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ หลังจากนั้นเข้าใจว่าเป็นหม่อมเจ้าอนุชาติศุขสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ได้เป็นผู้จัดการดูแลพิพิธภัณฑ์สถานต่อมา 

พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็น          ราชบัณฑิตยสภา มีอำนาจจัดการดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์แทนกรมศิลปากรที่ยุบเลิกไป และมีอำนาจควบคุมการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุออกนอกพระราชอาณาจักร ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานหมู่พระวิมานและพระที่นั่งต่าง ๆ ในวังหน้าให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์และให้จัดการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ที่วังหน้าใหม่เพื่อเป็นที่ศึกษาหาความรู้ของประชาชนและเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง ให้ทันวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกหลังบรมราชาภิเษก โดยจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์สภานายก จึงได้เข้ามาดำเนินการด้วยพระองค์เอง โดยมีหม่อมเจ้าอนุชาติศุขสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ภัณฑารักษ์ใหญ่เป็นผู้ช่วยจัดการ และให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) บรรณารักษ์หอพระสมุดสำหรับพระนครย้ายมาช่วยราชการด้วยในตำแหน่งรองภัณฑารักษ์ 

เดิมพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมสิ่งของจัดแสดงไว้หลายประเภทโดยเฉพาะประเภทปราณวิทยาและธรรมชาติวิทยานั้นมีอยู่มากและบางส่วนก็ชำรุดทรุดโทรมด้วยขาดการบำรุงรักษา ทรงเห็นว่ามีเนื้อหากว้างเกินว่าจะจัดการบำรุงให้เจริญทันสมัยได้ ประกอบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะต้องใช้ จึงทรงจำหน่ายสิ่งของเดิมออกให้หน่วยงานอื่นนำไปเก็บรักษา เช่น สัตว์สตัฟฟ์ส่งให้โรงเรียนเพาะช่าง ตัวอย่างแร่ส่งให้        กรมโลหะกิจ ตัวอย่างสินค้าพื้นเมืองส่งให้กรมพานิช เปลี่ยนแปลงการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เป็นประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดีแทนด้วยเหตุว่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของสยามเป็นที่ต้องการของนักสะสมชาวต่างชาติ มีการนำออกนอกประเทศไปมากขึ้นทุกขณะ จึงควรรวบรวมสงวนรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ 

การจัดแสดงได้จัดแบ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเป็นหมวดหมู่ตามแต่ละห้อง เช่น เครื่องโลหะ เครื่องศิลาโบราณ เครื่องดนตรี พระราชยาน พระราชอาสน์ อาวุธ ผ้า เครื่องบรรณาการ เครื่องสังคโลก ฯลฯ สมเด็จฯ      กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคัดเลือกสิ่งของจัดแสดงด้วยพระองค์เอง โดยสรรหาเพิ่มเติมจาก               วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องกลางกระทรวงมหาดไทย พระที่นั่งมหิศรปราสาท และจากพิพิธภัณฑ์           ในหัวเมือง เช่น อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน รวมถึงของสะสมส่วนพระองค์ 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งย้ายมาอยู่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ หลังจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นไว้เป็นระเบียบบริหารจัดการ นอกจากพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครแล้ว ในส่วนหัวเมืองยังมีอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑสถานสำหรับมณฑลพายัพ เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในแถบพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย ภายใต้การควบคุมของราชบัณฑิตยสภาและกระทรวงมหาดไทย

การเปิดให้บริการ

ช่วงแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ พิพิธภัณฑ์ที่วังหน้าเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมได้สัปดาห์ละ ๒ วัน โดยพบหลักฐานเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ เปิดให้เข้าชมในวันพุธและวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น.        ปีพุทธศักราช ๒๔๓๗-๒๕๓๙ เปลี่ยนมาเป็นวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์แต่เวลาคงเดิม ปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ เป็นต้นมา ได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ น. ทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และเปิดกรณีพิเศษในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ต่อมาเข้าใจว่าในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕–รัชกาลที่ ๖ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมได้เพียงปีละ ๖ วัน คือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๓ วัน และช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ วัน จนรัชกาลที่ ๗ ราชบัณฑิตยสภาซึ่งดูแลพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนครดำริว่าควรจะเปิดให้ชมได้ทุกสัปดาห์ จึงได้เปิดให้เข้าชมทุกวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรในกระทรวงธรรมการขึ้นอีกครั้ง โดยมีกองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ (ก่อนหน้าเรียกกองพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี) ซึ่งแบ่งงานเป็นแผนกรักษาพิพิธภัณฑ์และแผนกรักษาวัตถุโบราณ เป็นผู้ดูแลกิจการพิพิธภัณฑ์แทนราชบัณฑิตยสภา        มีหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นหัวหน้ากอง จากนั้นได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทำให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและพิพิธภัณฑสถานในหัวเมืองซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรมีสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ  

แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะมิได้เกี่ยวข้องกับงานราชการอีกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็ยังมีลายพระหัตถ์เรื่องความรู้และข้อคิดเห็นทางวิชาการประทานแด่หลวงบริบาลบริภัณฑ์ผู้เป็นศิษย์อยู่เสมอ ด้วยห่วงใยพิพิธภัณฑสถานซึ่งได้ทรงปลุกปั้นจัดการมาแต่เดิม ดังความในลายพระหัตถ์ลงวันที่   ๑ กันยายน ๒๔๗๕ ความว่า 

“...ฉันรักหลวงบริบาลฯ เท่าไหร่ หลวงบริบาลฯ ทราบอยู่แล้ว ถ้ารักฉันตอบขอให้ช่วยบำรุงรักษาพิพิธภัณฑสถานซึ่งเป็นของรักของฉันให้ถาวรต่อไป ดีกว่าสนองคุณด้วยประการอย่างอื่น ถึงคนอื่น ๆ ที่มีตำแหน่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานก็เช่นเดียวกัน ขอให้ช่วยบอกให้รู้ด้วย...”

ส่วนราชการงานพิพิธภัณฑ์ 

พุทธศักราช ๒๔๘๑ มีการแบ่งส่วนราชการภายในกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการใหม่ โดยนำงานพิพิธภัณฑ์ไปรวมอยู่ในกองโบราณคดีที่เพิ่งตั้งขึ้น แบ่งเป็นแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร และแผนกพิพิธภัณฑ์หัวเมือง ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ มีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ 

กรมศิลปากรยังอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการถึงพุทธศักราช ๒๔๘๕ จึงถูกย้ายมาขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีโดยที่โครงสร้างของงานพิพิธภัณฑ์ยังแบ่งเป็น ๒ ส่วน ภายในกองโบราณคดีเช่นเดิม  ๑๐ ปีต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ กรมศิลปากรก็ได้ถูกย้ายมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมที่เพิ่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมิได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างงานพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๐๑ กระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบและได้ย้ายกรมศิลปากรกลับมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง 

พุทธศักราช ๒๕๐๔ การแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ได้มีการนำแผนกโบราณสถานมารวมกับงานพิพิธภัณฑ์ในชื่อ แผนกพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานพระนคร และแผนกพิพิธภัณฑ์และโบราณสถาน    หัวเมือง ภายในกองโบราณคดี และประกาศใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔ แทนฉบับปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ทำให้ “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ”เปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จวบจนปัจจุบัน 

กิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทยได้เจริญขึ้นมาโดยลำดับ กระทั่งมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ จึงให้จัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแยกออกจากกองโบราณคดีเดิม โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับงานศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่ และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

  2. ควบคุมดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมทั้งปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

  3. ตรวจพิสูจน์ จัดทำทะเบียนหลักฐาน และขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 

  4. ดำเนินการเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ รวบรวม เก็บ ซ่อม และสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 

  5. บริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

  6. ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งหรือนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ออกนอกราชอาณาจักร 

  7. ให้คำแนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานทั้งในภาครัฐ และเอกชน 

  8. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดำเนินการอยู่จนกระทั่งมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ งานพิพิธภัณฑ์ถูกนำไปควบรวมกับงานโบราณคดีอีกในชื่อสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นอีกครั้งและย้ายกรมศิลปากรจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมกับการแบ่งส่วนราชการใหม่ แยกงานพิพิธภัณฑ์ออกจากงานโบราณคดีอีกครั้งเป็น สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน

วิสัยทัศน์ :“พัฒนาพิพิธภัณฑสถานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต มีมาตรฐาน และทันสมัย”

 

พันธกิจ

  1. พัฒนา และเพิ่มศักยภาพของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม

  2. สร้างระบบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

  3. อนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่สืบไป

  4. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อสืบค้นองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวไทย และชาวต่างชาติ

ภารกิจ

ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓๘ ก ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ กำหนดให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  1. สำรวจ รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยหลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมคือโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

  2. สงวน คุ้มครอง และดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  3. วางระบบการบริหารจัดการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ตามกระบวนการด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  4. กำหนดหลักเกณฑ์งานด้านพิพิธภัณฑ์ พัฒนา และควบคุมมาตรฐานงานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับส่วนราชการของกรม

  5. สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ ดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการทางวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และบริการองค์ความรู้ด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ต่อประชาชนทั่วไปที่สนใจ

  6. บริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตกรุงเทพมหานคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ       กาญจนาภิเษก และจัดเก็บรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  7. สนับสนุนการสร้างเครือข่าย ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ประสานแลกเปลี่ยน และ     ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งใน และต่างประเทศ

  8. ปฏิบัติร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติการของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย



ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่ดังนี้

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับงานสารบรรณ งานธุรการ และเลขานุการการประชุมของหน่วยงาน

  2. ดำเนินการเกี่ยวกับงานการเงิน และบัญชีในเบื้องต้นของหน่วยงาน

  3. ดำเนินการเกี่ยวกับงานพัสดุ งานอาคารสถานที่ และงานยานพาหนะของหน่วยงาน

  4. ดำเนินการเกี่ยวกับงานบุคคลในเบื้องต้นของหน่วยงาน

  5. ดำเนินการเกี่ยวกับงานแผนงาน/โครงการ และงบประมาณของหน่วยงาน

  6. ดำเนินการจัดเก็บรายได้ ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ส่งหรือนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ออกนอกราชอาณาจักร และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

  7. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

กลุ่มวิจัย  มีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย เรื่องราวของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ตามสาขาของความเชี่ยวชาญ ดังนี้

๑.๑. สาขาโบราณคดี

๑.๒. สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ

๑.๓. สาขามานุษยวิทยา และชาติพันธุ์วิทยา

๒. กำหนดควบคุมมาตรฐานผลงาน และความรู้ทางวิชาการด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์

๓. จัดทำ และเผยแพร่ความรู้ด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ แก่สาธารณชน

๔. กำหนดอายุ สมัย ตรวจพิสูจน์ และประเมินคุณค่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามหลักวิชาการ และตามกฎหมาย

๕. ให้คำปรึกษา แนะนำและข้อวินิจฉัยด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์

กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ มีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยด้านพิพิธภัณฑสถานวิทยา เพื่อพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์

  2. จัดทำแผนการส่งเสริม และพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  3. จัดทำมาตรฐานการดำเนินงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  4. จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริม และพัฒนาการศึกษา

  5. ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อจัดทำนวัตกรรมพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา

  6. สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำการจัดตั้ง และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

  7. สร้าง และส่งเสริมเครือข่ายด้านพิพิธภัณฑ์กับองค์กรทั้งใน และต่างประเทศ

  8. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย

กลุ่มเทคนิค ศิลปกรรม และการจัดแสดงนิทรรศการ มีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านการออกแบบนิทรรศการ เทคนิค และศิลปกรรม และสื่อทุกประเภทเพื่อการจัดนิทรรศการถาวร ชั่วคราว และเคลื่อนที่

  2. จัดทำแผนงานด้านการออกแบบ และติดตั้งนิทรรศการสำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  3. จัดทำรูปแบบรายการ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร ชั่วคราว เคลื่อนที่ และการจัดแสดงกลางแจ้งในงานศิลปกรรมด้านทัศนศิลป์ แบบตกแต่งภายใน ครุภัณฑ์นิเทศศิลป์ และอุปกรณ์สัญญาณป้องกันภัย และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  4. วางแผน และควบคุม ดูแล รักษา ปรับปรุง พัฒนาการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  5. ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคนิคศิลปกรรมด้านการจัดแสดง

  6. ให้ความร่วมมือด้านเทคนิค และศิลปกรรมแก่หน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

  7. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ มีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย ด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุ และกระบวนการเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ อันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ

  2. เป็นศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมทุกประเภทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่ง รวมทั้งหน่วยงานอื่นของกรมศิลปากร

  3. กำหนดคุณภาพมาตรฐานการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์

  4. เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ให้คำปรึกษา แนะนำ วินิจฉัยปัญหา และฝึกอบรม เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการดูแล และอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน บุคคลทั่วไป ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

  5. เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เชื่อมโยงเครือข่าย และแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศด้านการอนุรักษ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

  6. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์ และสารสนเทศ  มีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อจัดทำทะเบียน

  2. วางระบบ จัดทำ ตรวจสอบ และพัฒนาข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ

  3. จัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ บริหารจัดการ และพัฒนาคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  4. ให้บริการ และเผยแพร่ความรู้ในฐานข้อมูลสารสนเทศด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

  5. วางระบบ ประสาน ดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในครอบครองของวัด และเอกชนทั่วราชอาณาจักร

  6. สนับสนุนข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดตั้ง และปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  7. ดำเนินการ และควบคุมเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ไปในที่อื่นใด ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

  8. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๖ แห่ง ได้แก่

  1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

  2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

  3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก

  4. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

  5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

  6. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร

มีอำนาจหน้าที่

  1. สำรวจ รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

  2. จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  3. รักษาความปลอดภัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ และอาคารสถานที่

  4. จัดนิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว และนิทรรศการเคลื่อนที่เพื่อการเผยแพร่

  5. จัดกิจกรรม และผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่

  6. สร้าง และส่งเสริมเครือข่าย สนับสนุนกิจการพิพิธภัณฑ์

  7. ดำเนินการจัดเก็บรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

  8. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 1982 ครั้ง)

Messenger