...

กว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

กว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

กว่าจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ...

กรมศิลปากร  เริ่มดำเนินการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมาโดยได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่๗๕  วันที่ ๘ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘  ในครั้งนั้นเป็นจำนวน ๗๕แห่ง 

 

            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยขึ้น โดยเริ่มมีการขุดแต่งที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก  และตามด้วยโบราณสถานที่สำคัญอื่น ๆทั้งภายในกำแพงเมือง  และภายนอกกำแพงเมือง  ระยะต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัยเพื่อดำเนินงานในระยะที่ ๒  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๑๒ 

 

         พ.ศ. ๒๕๑๘ กรมศิลปากรกำหนดขอบเขตพื้นที่ของโบราณสถานเมืองสุโขทัยจำนวน  ๔๓,๗๕๐ไร่ หรือประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๙๒ ตอนที่ ๑๑๒วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘

 

           พ.ศ. ๒๕๑๙ กรมศิลปากรริเริ่มจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองโบราณสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์  ได้ดำเนินการสำรวจ ขุดแต่ง บูรณะและพัฒนาเมืองโบราณสุโขทัย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔) และฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๙)โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย”ซึ่งเป็นโครงการของแผนงานสงวนรักษา อนุรักษ์และซ่อมแซมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร มีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์โบราณสถานของเมืองสุโขทัยไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม   ตลอดจนพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรมศิลปากรดำเนินการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองสุโขทัยเป็น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

          จากการดำเนินงานดังกล่าวได้มีการสำรวจพบโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัดโบราณ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเตาเผาภาชนะดินเผา(เตาทุเรียง) กำแพงเมือง คูเมือง คันดินบังคับน้ำรวมถึงทำนบโบราณ(สรีดภงส์) ด้วย    รวมทั้งสิ้น ๑๙๓ แห่ง    โดยแบ่งออกเป็น

          -   โบราณสถานกลางเมืองหรือในกำแพงเมือง (ก)             จำนวน  ๖๐  แห่ง

          -   โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ (น)            จำนวน  ๒๗  แห่ง

          -   โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ (ต)               จำนวน  ๓๗  แห่ง

          -   โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก(ต.อ.)    จำนวน  ๑๙  แห่ง

          -   โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก (ต.ต.)      จำนวน  ๕๐  แห่ง

 

 

 

การเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา๕ รอบ และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทั้งเพื่อธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมแห่งบรรพชนไทยให้คงอยู่ยั่งยืน  เป็นหลักฐานของอารยธรรมของประเทศไทยสืบไป

 

การประกาศให้สุโขทัยเป็นมรดกโลก

          คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ  ได้ประกาศในการประชุม ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย  ให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร เป็นมรดกโลก  เมื่อวันที่  ๑๒  ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ ๕๗๔

 จากหลักฐานที่ปรากฏ ณเมืองโบราณสุโขทัย และเมืองบริวาร แสดงให้เห็นถึงผลงานอันล้ำเลิศทางสถาปัตยกรรมไทยยุคแรก  ความงดงามอลังการของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัยเป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรืองในอดีต  แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งประเทศ

วัดมหาธาตุ ก่อนการขุดแต่ง บูรณะ

 

วัดมหาธาตุในปัจจุบัน

(จำนวนผู้เข้าชม 4964 ครั้ง)


Messenger