...

อาคารมณฑป เมืองสุโขทัย
อาคารมณฑป เมืองสุโขทัย  
          มณฑป ความหมายในเชิงสถาปัตยกรรมไทยหมายถึง อาคารที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคาเป็นเรือนยอดแหลมหลายชั้น ซึ่งรูปแบบมณฑปที่มีเรือนยอดหลายชั้นนี้บางครั้งอาจเรียกว่า ปราสาท และยังรวมไปถึงอาคารที่มีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส ที่มีลักษณะทึบตันตั้งแต่ผนังไปจนถึงหลังคา ทั้งนี้ มณฑปในความหมายของพุทธสถาปัตยกรรมคือ วิหารประเภทหนึ่ง มีรูปทรงแบบแผนและพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารค่อนข้างแคบกว่าวิหารทั่วไป จุดประสงค์เพื่อเป็นอาคารที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เปรียบเป็น “คัณฑกุฎี”หรือ “กุฏิ” ของพระพุทธเจ้า ทำให้พื้นที่ภายในอาคารค่อนข้างแคบ ไม่เหมาะสำหรับคนทั่วไปเข้าไปสักการะพระพุทธรูปหรือสิ่งที่ประดิษฐาน
          การก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปนี้สันนิษฐานว่า ได้รับมาจากการสร้างปฏิมาฆระ ของทางลังกา ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ โดยในสมัยอนุราธปุระตอนปลายพบว่าปฏิมาฆระที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปได้มีความสำคัญในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าสถูป และต้นศรีมหาโพธิ์
          ในสถาปัตยกรรมของสุโขทัยนิยมก่อสร้างมณฑปเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นลักษณะที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมสุโขทัย ทั้งนี้ ความสำคัญของมณฑปจะเทียบเท่ากับสถูปเจดีย์ มีการจัดวางตำแหน่งของมณฑปในตำแหน่งกับตำแหน่งของสถูปประธานของวัด ในวัดที่มีมณฑปเป็นประธานจะมีการสร้างวิหารอยู่ด้านหน้า ซึ่งวิหารนี้จะก่อสร้างไปชนหรือเชื่อมกับด้านหน้าของมณฑป ยกเว้น มณฑปที่ประดิษฐานพระสี่อิริยาบถและมณฑปรายภายในวัด ซึ่งจะเหมือนกับวิหารหรือเจดีย์รายที่ก่อสร้างเป็นเอกเทศ
          รูปแบบของมณฑปสามารถจำแนกออกได้ 3 รูปแบบ คือ
          1. มณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
เป็นรูปแบบมณฑปที่นิยมก่อสร้างในเมืองสุโขทัย ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนผนังนิยมก่อสร้างด้วยอิฐเป็นผนังทึบตัน เจาะช่องเปิดผนังเฉพาะทางเข้า หรืออาจก่อสร้างเป็นเสาขึ้นไปรับหลังคา ทั้งนี้สามารถจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะคือ มณฑปแบบผนังรับน้ำหนัก และมณฑปแบบเสารับน้ำหนัก
มณฑปแบบผนังรับน้ำหนัก เป็นลักษณะที่แพร่หลาย พบทั้งมณฑปขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผนังมักก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ทีบตัน และมีความหนา มีช่องเปิดเฉพาะทางเข้ามณฑปเท่านั้น โครงสร้างหลังคาสันนิษฐานว่าเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมักประดิษฐานพระพุทธรูป
มณฑปแบบเสารับน้ำหนัก มณฑปลักษณะนี้จะก่อเสารับน้ำหนักหลังคาเป็นช่วงๆ ผนังที่ก่อระหว่างเสาจึงบางหรืออาจทำด้วยไม้
          2. มณฑปที่ภายในเดินได้รอบหรือมณฑปพระสี่อิริยาบถ
มณฑปประเภทนี้นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ซึ่งนิยมทำเป็นสี่ปางที่แตกต่างกันคือ ปางนั่ง เดิน ยืน และนอน พระพักตร์หันไปต่างทิศกันเป็นสี่ทิศ จึงมีการตั้งชื่อมณฑปตามพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน เช่น มณฑปพระสี่อิริยาบถ
การสร้างพระพุทธรูปสี่ปางนี้ทำให้เกิดการก่อสร้างมณฑปลักษณะพิเศษ ที่ทำให้ผู้เข้าไปภายในมณฑปสามารถเดินภายในอาคารโดยรอบได้ โดยพระพุทธรูปแต่ละปางนั้นจะประดิษฐานอยู่ที่ส่วนกลางของอาคารที่มีผนังทึบเป็นแผ่นหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อผนังขึ้นไปรับส่วนหลังคา ซึ่งการก่อสร้างลักษณะนี้สันนิษฐานว่าอาจได้รับมาจากเมืองพุกาม ซึ่งมีการสร้างห้องมณฑปในส่วนของฐานเจดีย์ ทั้งนี้ การก่อโครงสร้างของพุกามแตกต่างจากของสุโขทัย โดยเป็นการก่อแบบซุ้มโค้งและใช้ผนังรับน้ำหนัก
          3. มณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มณฑปแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าและอาจมีการย่อมุมนิยมสร้างกันมากที่เมืองศรีสัชนาลัย วัสดุนิยมใช้ศิลาแลง เพราะเป็นวัสดุที่หาง่ายในพื้นที่ มีสัดส่วนของอาคารมีความกว้างต่อความยาวไม่มากนัก แต่ก็ทำให้มีพื้นที่ภายในมณฑปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากวัสดุก่อสร้างและความนิยมก่อสร้างมณฑปที่เมืองศรีสัชนาลัย ทำให้เกิดมณฑปที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นจำนวนมาก สามารถจำแนกรูปแบบของมณฑปออกได้ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
          - แบบผนังรับน้ำหนักโครงหลังคาที่เป็นวัสดุก่อ : เป็นแบบที่นิยมก่อสร้างมากที่สุด โดยใช้ศิลาแลงก่อตั้งแต่ผนังไปจนถึงหลังคา เป็นการใช้ระบบก่อเหลื่อม ไม่พบการเจาะช่องแสงของอาคารยกเว้นการเจาะช่องประตูทางเข้าออก ในส่วนของหลังคาพบว่ามีการถากผิวภายนอกให้เป็นทรวดทรงตามที่ต้องการ ซึ่งรูปทรงของหลังคาที่พบจะมี หลังคาทรงแอ่น เลียนแบบรูปทรงของหลังคาโครงสร้างไม้ และหลังคาทรงโค้งคันธนู ที่มีเส้นโค้งของหลังคาคล้ายคันธนู
          - แบบเสารับน้ำหนักโครงหลังคาเครื่องไม้ : ผนังมีลักษณะเหมือนกับมณฑปที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่หลังคาแทนที่จะเป็นเรือนยอด สันนิษฐานเป็นหลังคาทรงจั่วทรงสูง
เอกสารอ้างอิง
          1.ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ ศัพท์ช่างและข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงทพฯ : มติชน, 2557.
          2.รศ.สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิเซียมเพรส, 2555.
          3.ศ.เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2562.
          4.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปะศรีลังกา.” (เอกสารคำสอนรายวิชา 310212 Sri Lanka Art ฉบับปีการศึกษา 2554)









(จำนวนผู้เข้าชม 2085 ครั้ง)


Messenger