ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ เมืองสุโขทัย
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ เมืองสุโขทัย
หากกล่าวถึงทับหลับนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือวิษณุอนันตศายิน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปราสาทพนมรุ้งและทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นโด่งดังที่ได้กลับคืนมาจากสหรัฐอเมริกา หรือหลายคนอาจคิดถึงปราสาทเขมรบริเวณพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย น้อยคนนักที่จะทราบว่า เมืองสุโขทัยก็พบภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เช่นกัน
ทับหลังหรือคานทับหลัง คือ การเรียกแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ตั้งอยู่ด้านบนหรือหลังของกรอบวงกบประตู จึงเป็นที่มีของของคำเรียกว่า “ทับหลัง” มีลักษณะค่อนข้างหนาเพราะต้องทำหน้าที่เป็นคานรับน้ำหนักของหน้าบรรพที่อยู่ด้านบน
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์พบที่วัดศรีสวาย เมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นวัดที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมเขมรที่มีการคลี่คลายรูปแบบจนมีความเป็นพื้นเมืองแล้ว ซึ่งจากการดำเนินงานทางโบราณคดี พบเศษเครื่องถ้วยราชวงศ์ซุ่งใต้ปะปนกับเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวนตอนต้น จึงกำหนดอายุที่เริ่มเข้ามาใช้พื้นที่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ สอดคล้องกับหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่ได้มีการคลี่คลายจากศิลปะเขมรจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นท้องถิ่นแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดศรีสวายนี้ก่อสร้างภายหลังศาลตาผาแดง และวัดพระพายหลวง ประมาณครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สันนิษฐานว่าแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน แต่ก่อสร้างไปได้เพียงแค่ส่วนเรือนธาตุเท่านั้น ต่อมามีการสร้างเพิ่มเติม และได้แปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
ลักษณะของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบ แสดงภาพพระนารายณ์ (พระวิษณุ) บรรทมเหนือพญานาคราช (เศษะนาค) ที่กำลังแผ่พังพาน ปลายพระบาทเป็นพระนางลักษมี (พระชายา) ประคองพระชงฆ์ มีก้านดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี ภายในดอกบัวมีพระพรหมประทับนั่ง ปลายพระบาทมีโยคีนั่งประนมมือ ซึ่งโยคีอาจแสดงความหมายถึง พระศิวะ โดยภาพสลักเล่าเรื่องตอนนี้ เป็นการกล่าวถึงตอนสร้างโลก ซึ่งพระนารายณ์ขณะกำลังบรรทมอยู่นั้น ได้สุบินถึงการสร้างสิ่งใหม่ๆ และเกิดดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวมีพระพรหมที่ทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์และสิ่งต่างๆ ขึ้นมา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบที่วัดศรีสวายนั้น ฝีมือช่างสลักมีความเป็นพื้นเมือง แต่โดยรวมของภาพเล่าเรื่องยังคงแสดงรายละเอียดตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู
.
.
เอกสารอ้างอิง
- กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครราชสีมา : โรงพิมพ์โจเซฟ, 2557.
- ภานุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. การใช้พื้นที่แหล่งศาสนสถานแบบเขมรในเมืองเก่าสุโขทัยในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จากการขุดค้นทางโบราณคดี วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
- สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ ศัพท์ช่าง และข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
หากกล่าวถึงทับหลับนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือวิษณุอนันตศายิน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปราสาทพนมรุ้งและทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นโด่งดังที่ได้กลับคืนมาจากสหรัฐอเมริกา หรือหลายคนอาจคิดถึงปราสาทเขมรบริเวณพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย น้อยคนนักที่จะทราบว่า เมืองสุโขทัยก็พบภาพสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เช่นกัน
ทับหลังหรือคานทับหลัง คือ การเรียกแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ตั้งอยู่ด้านบนหรือหลังของกรอบวงกบประตู จึงเป็นที่มีของของคำเรียกว่า “ทับหลัง” มีลักษณะค่อนข้างหนาเพราะต้องทำหน้าที่เป็นคานรับน้ำหนักของหน้าบรรพที่อยู่ด้านบน
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์พบที่วัดศรีสวาย เมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นวัดที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบวัฒนธรรมเขมรที่มีการคลี่คลายรูปแบบจนมีความเป็นพื้นเมืองแล้ว ซึ่งจากการดำเนินงานทางโบราณคดี พบเศษเครื่องถ้วยราชวงศ์ซุ่งใต้ปะปนกับเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวนตอนต้น จึงกำหนดอายุที่เริ่มเข้ามาใช้พื้นที่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ สอดคล้องกับหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่ได้มีการคลี่คลายจากศิลปะเขมรจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นท้องถิ่นแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดศรีสวายนี้ก่อสร้างภายหลังศาลตาผาแดง และวัดพระพายหลวง ประมาณครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สันนิษฐานว่าแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน แต่ก่อสร้างไปได้เพียงแค่ส่วนเรือนธาตุเท่านั้น ต่อมามีการสร้างเพิ่มเติม และได้แปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
ลักษณะของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบ แสดงภาพพระนารายณ์ (พระวิษณุ) บรรทมเหนือพญานาคราช (เศษะนาค) ที่กำลังแผ่พังพาน ปลายพระบาทเป็นพระนางลักษมี (พระชายา) ประคองพระชงฆ์ มีก้านดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี ภายในดอกบัวมีพระพรหมประทับนั่ง ปลายพระบาทมีโยคีนั่งประนมมือ ซึ่งโยคีอาจแสดงความหมายถึง พระศิวะ โดยภาพสลักเล่าเรื่องตอนนี้ เป็นการกล่าวถึงตอนสร้างโลก ซึ่งพระนารายณ์ขณะกำลังบรรทมอยู่นั้น ได้สุบินถึงการสร้างสิ่งใหม่ๆ และเกิดดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวมีพระพรหมที่ทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์และสิ่งต่างๆ ขึ้นมา
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบที่วัดศรีสวายนั้น ฝีมือช่างสลักมีความเป็นพื้นเมือง แต่โดยรวมของภาพเล่าเรื่องยังคงแสดงรายละเอียดตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู
.
.
เอกสารอ้างอิง
- กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครราชสีมา : โรงพิมพ์โจเซฟ, 2557.
- ภานุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. การใช้พื้นที่แหล่งศาสนสถานแบบเขมรในเมืองเก่าสุโขทัยในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จากการขุดค้นทางโบราณคดี วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
- สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
- สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ ศัพท์ช่าง และข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
(จำนวนผู้เข้าชม 8594 ครั้ง)