...

วัดเขาพระบาทน้อย











+++วัดเขาพระบาทน้อย+++
 .
--- วัดเขาพระบาทน้อย หรือโบราณสถานร้าง ต.ต.๑๔ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านตะวันตก และอยู่ห่างจากประตูอ้อไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร กลุ่มโบราณสถานวัดเขาพระบาทน้อยนั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆโดยมีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหินเหมือนกับวัดสะพานหิน บนยอดเขาที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถานมีสภาพเป็นเนินดินที่ถูกไถปรับให้เป็นลานกว้าง เพื่อก่อสร้างกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วยรายละเอียด ดังต่อไปนี้
--- ๑. เจดีย์ทรงจอมแห ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๗.๕๐ เมตร มีคูหาพระพุทธรูปอยู่ทั้ง ๔ ทิศ 
--- ๒. ฐานวิหารตั้งอยู่ด้านหน้า หรือ ทางทิศตะวันออกของเจดีย์จอมแห มีลักษณะเป็นวิหาร ๕ ห้อง ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ฐานและเสาทำด้วยศิลาแลง พื้นปูด้วยหินชนวน เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย (ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายนำมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย) 
--- ๓. กุฏิสงฆ์ ก่อด้วยหินปนอิฐ และ ก่อหลังคาเป็นซุ้มคูหา มีขนาดพอให้พระสงฆ์จำพรรษาได้เพียง ๑ รูป อยู่ทางทิศตะวันตก ๑ แห่ง และทิศใต้ ๑ แห่ง
--- ๔. ฐานเจดีย์ศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยม ขนาดใหญ่ ส่วนยอดไม่มี ขนาดฐาน ๒๕ x ๒๕ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์ทรงจอมแห
.
--- วัดเขาพระบาทน้อยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” มีการกล่าวถึง วัดเขาพระบาทน้อยว่า
 “ที่ควรดูแห่งหนึ่ง คือ เขาพระบาทน้อย ซึ่งเป็นที่ราษฎรไปนมัสการกัน  ทางไปในป่า และ ทุ่งเลียบลำน้ำใหญ่ลำหนึ่ง ในฤดูแล้งแห้งหมด แลเห็นถนนตัดไปมาตามนี้หลายสาย  คงจะได้ทำขึ้นครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะมีข้อความปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลา “วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกรพดดลยาง ท้ยน  ญ่อมทองงาซ้าย ขวาชื่อ รูจาครี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ(เถิง) อรัญญิก” 
 ดังนี้ต้องเข้าใจว่าทางป่าแถบนี้เป็นที่เสด็จไปอยู่เนือง ๆ ทางจากเมืองสุโขทัยไปถึงเขาพระบาทน้อยประมาณ ๑๐๐ เส้น เขานั้นไม่สู้สูงนัก ทางขึ้นก็ลาด สบายดีมีศิลาแลงเป็นแผ่นแบน ๆ วางเรียงกันเป็นถนนขึ้นไปถึงสันเขา มีเป็นลานก่อขึ้นไป มีบันไดขึ้น ๔ หรือ ๕ ขั้น บนนั้นมีพระเจดีย์ทรงจอมแห(คือชนิดที่มีอยู่ที่หน้าวัดชนะสงครามในกรุงเทพฯนี้) มีเป็นช่องกุฎี ๔ ทิศ เหนือบัวกลุ่ม ทรวดทรงงามดี ควรถือเป็นแบบอันดีของเจดีย์ชนิดนี้ได้ ทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ มีวิหารย่อม ๆ หลังวิหารนี้มีเป็นแท่นติด กับฐานพระเจดีย์ ที่แท่นนี้มีศิลาแผ่นแบนแกะเป็นรอยพระพุทธบาท ลวดลายก็ดูเหมือนจะไม่สู้งามอะไรนัก ลงจากเนินที่ประดิษฐานพระเจดีย์และพระพุทธบาทนี้ต่อไปอีกเนินหนึ่ง มีเป็นฐานพระเจดีย์ใหญ่น่าดูมาก เป็นรูปแปดเหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งถึง ๕ วา มุมมีย่อเป็นไม้สิบสอง ฐานนั้นมีบัวเป็นชั้นๆ ซ้อนกันขึ้นไป รูปพรรณสันฐานงามมาก วัดจากพื้นดินขึ้นไปถึงบัวบน ๒ วา ๑ ศอก ต่อนี้ขึ้นไปพระเจดีย์ทลายเสียหมดแล้ว คงยังมีอยู่แต่กองดินปนกับแลง ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้แลเห็นทะลักทลายลงมา เห็นได้ชัดว่าจะได้มีผู้ตั้งกองขุดกันอย่างสามารถ เพราะฉะนั้นรู้ไม่ได้แน่ว่าพระเจดีย์รูปจะเป็นอย่างไร พระยาอุทัยมนตรี สันนิษฐานว่าจะเป็นรูปทรงเตี้ยอย่างพระเจดีย์รามัญ ซึ่งชอบกลอยู่ เพราะสังเกตว่าถ้าเป็นรูปที่มีทรงสูงน่าจะมีก้อนแลงที่ทำลายลงมากองอยู่กับดินนั้น เป็นกองใหญ่กว่าที่มีอยู่บัดนี้ อย่างไร ๆ พระเจดีย์นี้เห็นได้ว่า ทำด้วยฝีมือประณีตบรรจงมาก รากก่อด้วยอิฐ แล้วต่อขึ้นไปเป็นแลงก้อนใหญ่ ๆ ที่บัวและมุมก็ตัดแลงเป็นรูปให้เหมาะกับที่ต้องการ ไม่ใช่ประดับขึ้นแล้วปั้นบัวให้ถูกรูปด้วยปูน ที่นี้คงจะเป็นที่ พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยเสด็จมานมัสการแห่งหนึ่ง เป็นแน่แท้ และ พระเจดีย์องค์นี้ นอกจากผู้มีอำนาจจะสร้างก็เห็นจะทำให้สำเร็จได้โดยยาก เพราะเฉพาะแต่ยกก้อนแลงเขื่อง ๆ เท่านั้นซ้อนกันจนสูงได้เป็นหลายวาเช่นนั้น ก็ต้องใช้กำลังคนมากอยู่แล้ว”
.
--- นอกจากนี้วัดเขาพระบาทน้อยยังพบรอยพระพุทธบาท ๔ รอยสลักลงบนหินชนวน แสดงคติการสร้างรอยพระพุทธบาทที่กำลังเป็นที่นิยมในสุโขทัยในขณะนั้นโดยรอยพระพุทธบาท ๔ รอยนี้เป็นรอยพระบาทของอดีตพระพุทธเจ้า คือพระกกุสันธะ พระโกนาคม พระกัสปะ และพระบาทของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน ซ้อนเหลื่อมกันอยู่แสดงถึงความต่อเนื่องในสืบพระพุทธศาสนาที่มียาวนาน รอยพระพุทธบาท ๔ รอยนี้ตามบันทึกมีการค้นพบประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าเจดีย์ทรงจอมแห  ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย


(จำนวนผู้เข้าชม 4388 ครั้ง)


Messenger