ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง มรดกแห่งความทรงจำของโลก
.
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นมรดกแห่งความทรงจำของโลก (The Memory of the World Register) เนื่องในโอกาสนี้เราจะนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับศิลาจารึกหลักที่ ๑
.
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ หรือตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จจาริกธุดงค์ไปทางหัวเมืองแถบเหนือของประเทศไทย เมื่อถึงเมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่บริเวณเนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย ทอดพระเนตรเห็นเป็น “โบราณวัตถุที่สำคัญ” จึงโปรดให้นำลงมาที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร (สท.๓) หลักที่ ๔ และพระแท่น มนังคศิลาบาตร ปัจจุบันศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
.
เนื้อความของศิลาจารึกหลักที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชได้ทรงอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นพระองค์แรก ซึ่งถือว่าเป็นการอ่านจารึกภาษาไทยโบราณ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมามีนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายท่านได้ทำการอ่านและแปลความ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง สามารถสรุปเนื้อหาได้ ๓ ตอนดังนี้ ตอนที่ ๑ กล่าวถึงเรื่องราวส่วนพระองค์ของพ่อขุนรามคำแหงตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติ สันนิษฐานว่าตอนที่ ๑ นั้นจารึกขึ้นโดยพระราชดำรัสของพ่อขุนรามคำแหงเอง สังเกตได้จากการใช้ว่า “กู” ในการเล่าเรื่องราว ตอนที่ ๒ เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ และธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย การสร้างพระแท่นมนังคศิลาเมื่อ มหาศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๑๘๓๕) การสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อ มหาศักราช ๑๒๐๗ (พ.ศ.๑๘๒๘) และการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเมื่อ มหาศักราช ๑๒๐๕ (พ.ศ.๑๘๒๖) ตอนที่ ๓ สันนิษฐานว่าจารึกขึ้นภายหลังหลายปี เพราะตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ ๑ และที่ ๒ คือตัวพยัญชนะลีบกว่าทั้งสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง เนื้อหาของตอนที่ ๓ นี้ เป็นคำสรรเสริญ และยอพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัย
.
(จำนวนผู้เข้าชม 249984 ครั้ง)