วัดศรีชุม
วัดศรีชุมตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือพอดี สิ่งสำคัญที่ปรากฏอยู่โดดเด่น ได้แก่ อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ภายในอาคาร มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๑๑.๓๐ เมตร เชื่อกันว่าชื่อพระพุทธรูปเรียกตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า พระอจนะ มีความหมายว่า ผู้ไม่หวั่นไหว สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ราวปี พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๙
.
คำว่า ศรี มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิมของไทยว่า สะหลี ซึ่งหมายถึงต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อศรีชุม จึงหมายถึง ดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นี้ว่า ฤๅษีชุม ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาประชุมทัพกันอยู่ที่นั้น ก่อนที่จะยกทัพไปปราบเมืองสวรรคโลก อันเป็นต้นตอของตำนานเรื่อง พระพุทธรูปพูดได้ ที่เล่าขานกันต่อมา
(จำนวนผู้เข้าชม 9763 ครั้ง)