...

ลวดลายปูนปั้น รักร้อยแข้งสิงห์
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ เรื่อง "ลวดลายปูนปั้น รักร้อยแข้งสิงห์ "
     งานปูนปั้นเป็นงานศิลปกรรมประเภทหนึ่งของไทยที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่โบราณ ได้รับความนิยมใช้ในงานประดับตกแต่งศาสนาสถาน ซึ่งส่วนใหญ่มักก่อสร้างด้วยอิฐและศิลาแลง จึงจำเป็นต้องใช้ปูนปั้นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างสรรค์ผลงาน อยู่ ๒ ประเภท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่ศาสนา และถวายเป็นราชสักการะแด่พระมหากษัตริย์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลวดลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการสร้างที่กล่าวข้างต้นนั้นจะมีลวดลายที่ประณีตบรรจง
     เมืองศรีสัชนาลัยได้พบการประดับปูนปั้นลวดลาย “รักร้อยแข้งสิงห์” ในงานสถาปัตยกรรม บริเวณราวลูกกรงช่องแสงของผนังวิหารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดนางพญา  ลักษณะของลวดลายคล้ายดอกรักร้อยติดกันเป็นสายและมีลายแข้งสิงห์ประดับขอบทั้ง ๒ ฝั่งของลายดอกรัก ที่มาของชื่อลายรักร้อยแข้งสิงห์ปรากฏข้อความในพระราชนิพนธ์หนังสือเที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเมื่อเสด็จประพาสเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้กล่าวถึง ลวดลายปูนปั้นวัดนางพญา ความว่า
     “...แต่ถ้าเดินตรงต่อไปอีกถึงวัดที่มีของน่าดูอันหนึ่ง นายเทียนเรียกว่าวัดนางพระยา...จึงเห็นว่ามีลายปูนปั้นด้วยปูนเช่นนั้นอีกที่ผนังซึ่งทำเป็นช่องลูกกรง แต่ทั้งต้นไผ่ข้างๆ ทั้งเถาวัลย์เลื้อยพันอยู่กับผนัง ทำให้เห็นลายไม่ถนัด เผอิญมีมีดไปด้วยกันหลายเล่ม จึงลงมือตัดเถาวัลย์และกานกิ่งไผ่กันในทันใดนั้น  และวิหารนั้นตั้งบนลานสูงพ้นดินราว ๓ ศอก จึงได้จัดการต่อเป็นแคร่ขึ้นไป เพื่อดูให้ใกล้ๆ ภายในครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็พอได้ขึ้นไปพิจารณาลาย ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยป่าวเลยที่ลูกกรงปั้นเป็นลายรักร้อยแข้งสิงห์ ประจำยามเป็นดอกจันทร์ที่ผนังทึบ หว่างช่องลูกกรงมีเป็นลายรักร้อยประจำยามเทพประนม...”
     ลักษณะของลายรักร้อยแข้งสิงห์นี้ น่าจะรับอิทธิพลจากศิลปะจีนผ่านเครื่องถ้วยจีนที่นำเข้าใช้อย่างแพร่หลายในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเข้าปกครองเมืองศรีสัชนาลัยราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะลายรักร้อยที่มีลักษณะเป็นกรอบสามเหลี่ยมโค้งมน มีที่มาจากลายมงคลในศิลปะจีนที่เรียกกันว่า “หรูอี้”  ส่วนลายแข้งสิงห์นั้น เรียกตามลักษณะของลายที่ประดิษฐ์มาจากขนที่อยู่ตรงขาของสิงห์ นอกจากนี้บริเวณผนังยังปรากฏปูนปั้นอื่น ๆ เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายประจำยาม ลายเทพพนม ลายกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ซึ่งลายปูนปั้นเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือท้องถิ่นนำไปพัฒนาเป็นลวดลายเครื่องประดับเงินและทอง ที่รู้จักกันในนาม "ทองโบราณศรีสัชนาลัย”
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. รายงาน องค์ความรู้ เรื่อง การปั้นปูนในงานสถาปัตยกรรมไทย, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๕
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง, สมุทรปราการ : ทรีโอกราฟฟิคส์แอนด์พริ้นท์,๒๕๕๙
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๑.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานการตรวจสอบสภาพโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประจำปี ๒๕๕๘, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 28 ครั้ง)


Messenger